นักวิชาการ ชี้ ระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา สร้างปัญหาการกั๊กที่และ ภาระค่าใช้จ่ายแก่เด็ก ซึ่งย้อนแย้งกับหลักการ ที่ ทปอ. ระบุ
วันนี้(30พ.ค.)ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกรณีการปรับระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งจะเริ่มปีการศึกษา 2561 ผ่านสปริงนิวส์ว่า ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ ซึ่งมีหลักการเพื่อให้เด็กเรียนในระบบการศึกษาจนจบหลักสูตรม.ปลาย , ลดการวิ่งรอกสอบ , ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง , ให้เด็กได้เลือกเรียนตามศักยภาพ และ มหาวิทยาลัยได้คนตามที่ต้องการ และแบ่งการสอบเป็น 3 ระบบ ได้แก่ การคัดเลือกโดยระบบโควต้าที่ไม่ใช้การสอบ , ระบบการคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง และ ระบบการรับตรงที่ให้อิสระกับมหาวิทยาลัยดำเนินการโดยต้องไม่มีการจัดสอบ นั้น เป็นเพียงหลักการและแนวคิดที่ดี แต่อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
โดยอธิบายว่า ระบบรับตรง ที่ ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร ให้นักเรียนสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา แบบไม่มีลำดับ อาจจะทำให้เด็กได้ใช้สิทธิตัวเองอย่างเต็มที่เพียงบางกลุ่ม แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นการริดรอนสิทธิเด็กคนอื่น ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้มีการกั๊กเด็กเข้ามหาวิทยาลัยตามมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักการที่ระบุว่าเป็นผลดีแก่เด็ก แต่กลายเป็นว่าทำให้เด็กเกิดความรู้สึกหนักใจ รวมถึงสร้างผลกระทบเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายที่บานปลาย ทั้งค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ หรือแม้แต่การ ทุ่มเงินเรียนกวดวิชา จึงเห็นควรจัดให้มีการสอบกลางร่วมกัน แล้วค่อยเลือกมหาวิทยาลัยที่ต้องการศึกษาต่อ จะได้ไม่เกิดการกั๊กที่ และ เด็กจะได้รู้ว่า ตนเองมีสิทธิ์ได้เรียนที่ไหน
https://youtu.be/zzBQxrWF9yc