ทันทีที่ภาพ รถมินิ บิ๊กซี ปรากฏในสังคมโซเชียล เป็นเรื่องทอล์กขึ้นมาทันที เพราะคนมองว่าทุนใหญ่ เข้ามารุกอาชีพของคนรากหญ้า จนจะไม่เหลือพื้นที่ให้ทำมาหากินกันแล้ว แม้บิ๊กซี ห้างดัง ที่ยังมีมินิมาร์ทเป็นเครือข่าย จะบอกว่าเป็นการทดลอง เพื่อดูลู่ทางการตลาดก็ตาม
สำหรับรถเร่ หรือที่เรียกว่า รถพุ่มพวง ...เหตุใดถึงเรียกขานกันเช่นนั้น เกี่ยวอะไรกับพุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องลูกทุ่งดังที่ล่วงลับไปแล้วหรือไม่? ตอบได้ไม่เกี่ยวกัน รถพุ่มพวง ก็คือรถกระบะที่เปิดท้ายขายของสด ของแห้ง ที่วิ่งไปขายตามจุดต่างๆ ในชุมชน ซอกซอนไปในหมู่บ้าน ตั้งแต่พื้นที่ก่อสร้าง ไซด์งานหลากรูปแบบ ย่านชุมชนแออัด ไปถึงบ้านหลังใหญ่มีอันจะกิน
ที่เรียกว่า รถพุ่มพวง ก็เพราะถุงที่ใส่ของแห้ง ของสด ผลไม้ เตรียมไว้ขายแบบสำเร็จรูป ถูกห้อยเป็นพวงๆ จับกลุ่มสินค้าเป็นกลุ่มๆ ไว้ทั่วตัวถังรถ คนจึงเรียกขานต่อกันมานั่นเอง…..แต่อย่าถามว่า ใครเป็นคนแรกที่เรียกชื่อนี้ และขานชื่อนี้กันมาตั้งแต่เมื่อไร ..เป็นคำถามที่ตอบไม่ได้!!
แต่รถเร่ขายของแบบนี้ เป็นที่นิยมของคนไทย โดยเฉพาะคนมีรายได้ต่ำ ที่นิยมซื้อของทีละไม่มากแต่ละครั้ง อาทิ ซื้อผักอย่างสองอย่าง เช่น มะเขือเทศ 5-6 ลูก ตะไคร้ 2-3 ก้าน เนื้อหมู เนื้อไก่ 1-2 ขีด ทำกินได้หนึ่งมื้อ หรือหนึ่งวัน ผลไม้ออกตามฤดูประเภทต่างๆ ข้อดีอย่างน้อยลูกค้ารถพุ่มพวง ก็ได้ของสด ของที่ราคาไม่แพงเกินกำลังซื้อทำกินได้ ทั้งยังมีการพัฒนา ออกไปเป็นการทำอาหารสำเร็จรูป อย่างแกงจืด แกงเผ็ด แกงส้ม ต้มยำหม้อ ผัดผัก ผัดเนื้อ ฯลฯ ตระเวนขายกัน เรียกว่าเสิร์ฟอาหาร ให้เลือกกันถึงหน้าบ้าน หน้าไซด์งานกันท่ีเดียว
สำหรับพ่อค้าแม่ขายรถพุ่มพวงนี้ ต้องเรียกว่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ จนกลายเป็นอาชีพอิสระที่นิยมทำกัน โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนาที่หมดฤดูทำนา ทำไร่ ก็ทำเป็นอาชีพเสริมได้ ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าใช้ลงทุน นอกจากตัวรถกระบะเปิดท้าย และตอนนี้ยังย่อส่วน เป็นมอเตอร์ไซต์พุ่มพวง ขายข้าวกล่อง รวมทั้งส่งข้าวกล่องราคาถูกให้ถึงบ้าน ถึงที่ทำงานอีกด้วย
ในงานศึกษาวิจัยหัวข้อ สภาพการณ์ด้านสุขาภิบาลอาหาร และจัดทำเกณฑ์มาตรฐานอาหารของรถเร่ขายอาหาร โดย รัชชผดุง ดำรงพิงคสกุล และคณะ ผลวิจัยพบว่า พ่อค้าแม่ค้าเร่ขายอาหารสดและอาหารปรุงสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มอายุ 30-50 ปี ในภาคเหนือและภาคอีสานมักเป็นคนภูมิภาคนั้นๆ ส่วนภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพฯ จะเป็นคนต่างถิ่น ซึ่งคนอีสานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก รถกระบะนำไปต่อเติมโครงหลังคาและท้าย โดยเงินทุนประกอบการเริ่มต้นเฉลี่ย 290,946.79 บาท หนักไปทางด้านลงทุนซื้อยานพาหนะ และใช้เงินทุนหมุนเวียนต่อวันเฉลี่ย 6,647.49 บาทไปกับการซื้อสินค้า ส่วนจักรยานยนต์ก็มีการนำมาดัดแปลงเป็นรถพ่วงข้างบ้าง นอกจากนี้ยังมีรถจักรยานยนต์สามล้อ (ซาเล้ง)มีทั้งดัดแปลง ต่อเติม ช่วงเวลาประกอบการ มักเป็นช่วงเช้าที่จะเร่ขายไปตามหมู่บ้าน ชุมชน และจอดตามที่หรือทางสาธารณะภายในหมู่บ้านนั้นๆ
คงต้องดูกันต่อไปว่า รถพุ่มพวง ทั้งรถกระบะเร่ มอเตอร์ไซต์ร่อนขายของ จะสู้ศึกกับทุนใหญ่ อย่าง 7-11 ที่ตั้งดักตามถนนใหญ่ เส้นทางชุมชนคนผ่าน และรถเร่ มินิ บิ๊กซี จะเข้ามาแทนที่กันได้หรือไม่ อย่างไร?
เอาใจคนรากหญ้า ตัวเล็กตัวน้อย...ให้มีหนทางดิ้นรน ทำมาหากินกันได้ต่อไป