SHORT CUT
Gladiator 2 สะท้อนว่า “โรม” คือมหานครแห่งความหวัง ที่โอบรับทุกคนทั่วโลก ยอมรับความแตกต่างมหานครเพื่อทุกคนทั่วโลก
พลันภาพยนตร์ Gladiator 2 ฉายได้สร้างความคาดหวังจากแฟนๆ ว่าต้องประทับใจเหมือน Gladiator นั่นย่อมหมายความว่าตามมาด้วยคำวิจารณ์มากมายสำหรับแฟนๆ ที่ผิดหวัง และมีความชื่นชมตามมาถึงความยิ่งใหญ่และได้อารมณ์ร่วมตามสไตล์ผู้กำกับอย่าง ริดลีย์ สกอต
แต่เอาเข้าจริงแล้วภาพยนตร์นี้ได้สะท้อนความเป็นมหานครของโรม นครที่ยิ่งใหญ่จากอาคารสถานที่และอาณาเขตที่กว้างขวาง แต่สะท้อนถึงมหานครที่พร้อมจะเปิดรับ และเป็นความหวังให้ผู้คนที่มาอาศัยอยู่สามารถลืมตาอ้าปากได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรมันคือจักรวรรดิที่กว้างใหญ่ ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ยุโรป แอฟริกา ตลอดจนเอเชีย นั่นย่อมหมายความว่าเป็นจักรวรรดิที่มีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งจากอาณาเขตที่ปกครองตลอดจนการค้าขายกับประเทศข้างเคียง
เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันอย่าง “โรม” ย่อมกลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจการปกครอง เศรษฐกิจ ตลอดจนพื้นที่ที่เปิดรับสำหรับผู้มาใหม่ที่มีความหวังว่ามหานครแห่งนี้จะทำให้ตนลืมตาอ้าปากได้เฉกเช่นที่โรมันยิ่งใหญ่ ทำให้โรมมีผู้คนจากหลายเชื้อชาติเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
การดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ Gladiator 2 ดำเนินเรื่องในยุคของจักรพรรดิคู่คือจักรพรรดิ คาราคัลลา และ เกตา ซึ่งทั้ง 2 พระองค์คือพี่น้องกัน ในยุคดังกล่าวเรียกได้ว่าโรมันมีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติมากๆ
เพราะโรมได้ขยายอาณาเขตไปทั่วก่อนจักรพรรดิ 2 พระองค์จะขึ้นครองราชย์ กล่าวคือได้ขยายอาณาเขตไปทั่วทั้งยุโรป เอเชีย ตลอดจนแอฟริกา มรดกดังกล่าวไม่ได้มีเพียงแค่พื้นดิน และทรัพยากร แต่รวมไปถึงผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ในจักรวรรดิโรมันอีกด้วย
ดังนั้นจึงไม่เกินจริงที่จะบอกว่าจักรวรรดิโรมันยุคดังกล่าวที่มีความหลากหลาย และเต็มไปด้วยผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ
ไม่ว่าจะเป็นชาวโรมันดั้งเดิม เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงโรม แต่ก็มีชาวละตินจากภูมิภาคอื่น ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ด้วย
ชาวกรีก มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมโรมันอย่างมาก ทั้งด้านศิลปะ ปรัชญา และการปกครอง ชาวเอเชียไมเนอร์ เช่น ชาวกรีก ชาวฟินีเซียน และชาวเปอร์เซีย ชาวแอฟริกัน ทั้งจากภาคเหนือและภาคใต้ของทวีปแอฟริกา
ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่น ชาวเคลต์ ชาวเยอรมัน และชาวสลาฟ กลุ่มประชากรดังกล่าวได้ประกอบอาชีพแตกต่างกันออกไป เห็นได้ชัดจากในภาพยนตร์ที่ฉายมุมภาพไปที่กองทัพโรมันรวมถึง Gladiator ที่มีคนจากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวแอฟริกา ชาวเอเชีย ชาวเยอรมัน
ในภาพยนตร์ Gladiator 2 ปรากฏตัวละครชาวอินเดีย ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีชาวอินเดียอยู่ในจักรวรรดิโรมัน
คำตอบคือเป็นไปได้ เพราะโรมันค้าขายกับเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดียผ่านเส้นทางสายไหมมานานแล้ว ปรากฏหลักฐานว่าผ้าไหมจีนเป็นที่นิยมในจักรวรรดิโรมันเป็นอย่างมาก ขณะที่เครื่องเทศหลายชนิดมาจากอินเดีย
ทำให้เห็นว่าปัจจัยการค้าขาย ทำให้กรุงโรมมีการค้าขายกับอินเดียอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสินค้าหรูหราอย่างเครื่องเทศ พรม และผ้าฝ้าย ชาวอินเดียที่เดินทางมาค้าขายอาจมีบางส่วนตัดสินใจอาศัยอยู่ในกรุงโรม
ในสมัยนั้น การซื้อขายทาสเป็นเรื่องปกติ และมีโอกาสที่ชาวอินเดียบางส่วนอาจถูกจับมาเป็นทาสและถูกนำตัวมายังกรุงโรม รวมไปถึงการอพยพของคนอินเดียบางกลุ่มที่อพยพมาตั้งรกรากในกรุงโรมด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น การหลบหนีความขัดแย้งในบ้านเกิด หรือตามไปอยู่กับพ่อค้าชาวโรมัน
สินค้าจากอินเดียที่เป็นที่นิยมในกรุงโรม มีมากมายไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศ ประกอบไปด้วย พริกไทย กานพลู และอบเชย เป็นที่นิยมใช้ปรุงอาหารและทำยา ผ้าฝ้ายจากอินเดียมีคุณภาพดีและมีลวดลายสวยงาม อัญมณีจากอินเดีย เช่น ไพลินและทับทิม เป็นที่ต้องการของชนชั้นสูง
หลักฐานทางอ้อมที่สนับสนุน มีทั่วการค้นพบวัตถุโบราณจากอินเดียในกรุงโรมหลายชิ้น เช่น เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องประดับ
ขณะที่อินเดียตลอดจนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบหลักฐานที่แสดงถึงการเชื่อมโยงกับจักรวรรดิโรมันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหรียญทองรูปจักรพรรดิโรมัน เครื่องประดับจากจักรวรรดิโรมัน ตลอดจนตะเกียงโรมันที่พบในประเทศไทยของเราอีกด้วย
สะท้อนให้เห็นว่าโลกในอดีตมีความเชื่อมโยงกับอยู่แล้วมาอย่างยาวนาน ไม่ได้มีรัฐใดรัฐหนึ่งอยู่อย่างโดดเดี่ยว และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐเพื่อนบ้านเลย
ขณะที่โรมมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เสมือนเป็นศูนย์กลางของยุโรปในยุคนั้น จึงไม่เกินจริงเลยว่าโรมคือมหานครแห่งความหวัง ที่โอบรับทุกคนทั่วโลก เพราะหากมาที่โรม ไม่ได้มีเพียงแต่เข้ามาอยู่อาศัยนั่นหมายความว่าเป็นมหานครที่สร้างคน สร้างอาชีพ เป็นเมืองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนลืมตาอ้าปากได้จากทั้งการค้าและการเป็นพลเมืองของโรม
จึงไม่แปลกที่ฉากก่อนจบของ Gladiator 2 มีฉากทหารจากหลายเชื้อชาติมารวมตัวกันภายใต้กองทัพที่มีธงเดียวกันคือธงแห่งจักรวรรดิโรมัน โดยที่พวกเขามีความหวังว่าโรมยังคงอยู่ ไม่ได้สนใจว่าพวกเขาจะมีต้นกำเนิดหรือเชื้อชาติอะไร แต่สุดท้ายแล้วโรมคือบ้านของพวกเขานั่นเอง
อ้างอิง
Hmong / DenOfGeek / BBC / กรมศิลปากร / SilpaMag /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง