ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
"น้ำ" ทรัพยากรที่มีจำกัดและถูกใช้สิ้นเปลืองที่สุดในโลก แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกถูกปกคลุมด้วยน้ำ แต่มีเพียง 2.5 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด สปริงนิวส์จะพาไปไปดูว่าประเทศที่มีพื้นที่และทรัพยากรจำกัดอย่างสิงคโปร์มีวิธีการจัดการน้ำอย่างไร
“สำหรับเรา น้ำเป็นสิ่งที่ขาดแคลนมาตลอด ตั้งแต่วันแรกที่เราเป็นเอกราช” ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าว
"สิงคโปร์" ประเทศที่มีพื้นที่เล็กที่สุดในอาเซียน โดยมีพื้นที่ 710 ตารางกิโลเมตร ถูกสหประชาชาติจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ถือว่าขาดแคลนทรัพยากรน้ำมากที่สุดในโลก ซึ่งการขาดแคลนแหล่งน้ำจืดทำให้ประเทศต้องทำสัญญาซื้อน้ำ และการรับประกันการซื้อน้ำจากรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งต้องถูกบันทึกในเอกสารการจัดตั้งประเทศ
การมีทรัพยากรจำกัดและต้องซื้อน้ำจากเพื่อนบ้าน เป็นเหตุผลให้สิงค์โปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายจัดการทรัพยากรน้ำที่เข้มงวด และมีการผลักดันการศึกษาและวิจัยนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดและการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำมาใช้ใหม่ ช่างประปาในสิงคโปร์ต้องมีใบอนุญาต และระบบน้ำประปาตามบ้านต้องได้มาตรฐานตามที่รัฐบาลกำหนด การเก็บค่าน้ำประปาที่ปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ และเก็บภาษีอนุรักษ์น้ำเป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลใช้ เพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่าของน้ำ
ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวว่า “ราคาเป็นหนึ่งในปัจจัย เราไม่ได้คิดราคาเต็มอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เราชัดเจนว่าเราต้องขึ้นราคา และประชาชนต้องรู้สึกถึงผลกระทบและนั่นจะทำให้คนเริ่มคิดถึงน้ำว่าไม่ใช่ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด แต่เป็นสิ่งมีค่าที่ต้องอนุรักษ์”
ปัจจุบันสิงคโปร์มีที่กักเก็บน้ำ 17 แห่ง พื้นที่สองในสามของประเทศใช้ในการรับน้ำฝน แล้วส่งผ่านเครือข่ายท่อระบายน้ำ คลอง และแม่น้ำ ไปยังอ่างเก็บน้ำ ก่อนส่งไปบำบัดเป็นน้ำประปา สิงคโปร์ต้องการที่จะผลิตน้ำใช้เองให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก่อนสัญญาซื้อน้ำกับมาเลเซียจะหมดอายุในอีก 44 ปีข้างหน้า และต้องการขยายพื้นที่รับน้ำฝนเป็น 90 เปอร์เซ็นของพื้นที่ประเทศ
อีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการยอมรับเรื่องการจัดการน้ำ ประเทศที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายอย่าง "อิสราเอล" มองว่าน้ำเป็นวาระความมั่นคงแห่งชาติ กว่า 50 เปอร์เซ็นของน้ำดื่มในประเทศคือน้ำที่ถูกผลิตจากน้ำเค็ม ระบบบำบัดน้ำของอิสราเอลนำน้ำที่ลงท่อระบายแล้วกลับมาบำบัดใช้ใหม่ได้ถึง 86 เปอร์เซ็น และน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วถึง 140 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีถูกใช้ไปกับการเกษตรที่ครอบคลุม 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด
อิสราเอลเป็นพิสูจน์ให้เห็นว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกต้อง ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และความมุ่งมั่นทางด้านนโยบาย ความสำเร็จเรื่องอนุรักษ์น้ำสามารถเป็นไปได้ ขณะที่สหประชาชาติคาดการณ์ว่าน้ำบนโลกจะมีปริมาณน้อยลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในอีก 13 ปีข้างหน้า ขณะความต้องการบริโภคน้ำบนโลก จะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัว