คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามคุ้นเคยหรือตามความเคยชิน บางคนอยู่ใน Comfort Zone จนไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งๆ ที่รู้ว่าเปลี่ยนแล้วชีวิตจะดีขึ้น
3 เดือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตเข้าสู่ไตรมาส 2 แบบไม่ทันตั้งตัว ไม่รู้ว่าเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นปีได้เริ่มต้นลงมือทำกันบ้างหรือยังคะ หลายคนอาจจะยุ่งจนลืมไป บางคนอาจจะยังมัวจดๆ จ้องๆ หาฤกษ์ หรือผัดวันประกันพรุ่ง แต่ละคนมีเหตุผลร้อยแปดพันประการทำให้ไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำตามเป้าหมายเสียที
บทความนี้เลยอยากชวนทุกคนมาค้นหา “ความปรารถนา” และ “ความกลัว” ที่ซุกซ่อนอยู่ในใจ เพื่อเป็นตัวผลักดันให้เราเริ่มต้นลงมือทำอะไรสักอย่าง เป้าหมายที่เราคิดไว้ตั้งแต่ต้นปีจะได้มีความก้าวหน้าขึ้น ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านกันเลยค่ะ
คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามคุ้นเคยหรือตามความเคยชิน บางคนอยู่ใน comfort zone จนไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งๆ ที่รู้ว่าเปลี่ยนแล้วชีวิตจะดีขึ้น เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทำสิ่งที่ควรทำหรือหยุดทำสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายได้ การประสบความสำเร็จจึงเป็นเรื่องยาก ถ้าเป็นแบบนี้อุปสรรคของความสำเร็จคงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก “ตัวเราเอง”
บทความนี้ชวนทุกคนมาสำรวจค้นหา “ความปรารถนา” และ “ความกลัว” ที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้เราก้าวข้ามอุปสรรคของการไม่ลงมือทำด้วย คำถามสไตล์การโค้ช ทำให้เรามองเห็นภาพเปรียบเทียบระหว่างการลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองและการปล่อยชีวิตให้ไหลไปตามความเคยชินอย่างชัดเจน
1. พฤติกรรมหรือสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงคืออะไร
สิ่งที่เราอยากเปลี่ยนต้องเป็นการกระทำหรือสิ่งที่เราควบคุมได้เท่านั้น เราสามารถลงมือทำสิ่งนั้นได้ด้วยตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย การงดกินของหวาน คำตอบข้อนี้ช่วยให้เรามีจุดมุ่งหมายการลงมือทำที่ชัดเจน ไม่หลงทิศทาง
2. พฤติกรรมหรือสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อเราอย่างไร
ค้นหาความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในใจว่าสิ่งที่เราตั้งใจนั้นมีความหมายต่อเราอย่างไร คำตอบข้อนี้ช่วยให้เราเห็นเหตุผล ที่มาของสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลง เป็นเหมือนรากของต้นไม้ยึดเกาะผิวดิน ที่ทำให้เราฮึดสู้ เมื่อเราเหนื่อย ท้อแท้ หรือขี้เกียจ ไม่ล้มเลิกง่ายๆ
3. หากไม่เปลี่ยนจะส่งผลอย่างไร ผลที่ร้ายแรงที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบข้อนี้ช่วยให้เราสำรวจความกลัวลึกๆ ที่อยู่ภายในจิตใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเรายังคงทำตัวแบบนี้ต่อไป เช่น หากไม่ควบคุมอาหาร จะทำให้น้ำหนักขึ้น ส่งผลต่ออาการปวดเข่ามากขึ้น สุดท้ายเข่าเสื่อมจนต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นทำให้เรากลัวและยอมแลกกับการขยับปรับเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อไม่ให้มีจุดจบแบบนั้น เป็นเหมือนแรงผลักให้เราเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง
4. หากเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วจะส่งผลต่ออะไรบ้าง หรือส่งผลต่อเราอย่างไร
การเขียนคำตอบข้อนี้ให้ละเอียดจะช่วยให้เราเห็นผลดีของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นำมาเปรียบเทียบกับคำตอบในข้อ 3 เช่น การควบคุมน้ำหนักทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ลดยาความดัน เบาหวาน ไม่ต้องเปลืองเงินซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ระงับความอยากมีวินัยมากขึ้น เกิดความภูมิใจ เป็นต้น กลายเป็นแรงดึงให้ลุกขึ้นมาลงมือทำ
5. เริ่มเมื่อไหร่ดี
หนทางยาวไกลเริ่มต้นที่ก้าวแรก ถ้าไม่กำหนดจุดเริ่มต้น ไม่ลงมือทำ ความสำเร็จย่อมไม่มาถึง การระบุวันและกำหนดการที่ชัดเจนเป็นเหมือนหมุดหมายที่สำคัญของการลงมือทำ
เทคนิคการตั้งคำถามเพื่อผลักดันตัวเองนั้นเป็นเพียงหนึ่งในเทคนิคที่ช่วยให้เราเริ่มลงมือทำซึ่งเป็นการก้าวข้ามอุปสรรคด่านแรกของความสำเร็จ ยังมีอีกหลายเทคนิคที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จกับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เช่น ตั้งเป้าหมายให้ง่ายและเล็กไว้ก่อน ไม่ลืมให้รางวัลตัวเองเมื่อทำได้ รวมถึงการพยายาม ฮึดสู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ แม้ว่าจะผิดพลาด ล้มเหลวก็ไม่ย่อท้อ สามารถอ่านเทคนิคเหล่านี้ได้ในบทความก่อนหน้านี้
เอาใจช่วยทุกคนสำหรับการเริ่มต้น
เพชร ทิพย์สุวรรณ
อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ
ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคลากรของ ALERT Learning and Consultant
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม