svasdssvasds

เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นความสำเร็จ กล้าเสี่ยงในจุดที่ยอมรับความผิดพลาดได้

เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นความสำเร็จ กล้าเสี่ยงในจุดที่ยอมรับความผิดพลาดได้

ในทุกๆ ความล้มเหลวคนเราต้องได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง ทัศนคติเกี่ยวกับความล้มเหลวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราเติบโตผ่านการค้นหาวิธีเอาชนะอุปสรรคและการหาวิธีการแก้ปัญหา

SHORT CUT

  • ในทุกๆ ความล้มเหลวคนเราต้องได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างหลายครั้งเรามัวแต่เศร้าเสียใจ ท้อใจ หมดแรงไปกับความผิดหวังจึงไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ผิดพลาด
  • ทัศนคติเกี่ยวกับความล้มเหลวเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราเติบโตผ่านการค้นหาวิธีเอาชนะอุปสรรคและการหาวิธีการแก้ปัญหา
  • กล้าเสี่ยงในจุดที่เรายอมรับความผิดพลาดได้ และย่อท้อจนกว่าเราจะค้นหาเส้นทางความแห่งความสำเร็จของตัวเองเจอ 

ในทุกๆ ความล้มเหลวคนเราต้องได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง ทัศนคติเกี่ยวกับความล้มเหลวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราเติบโตผ่านการค้นหาวิธีเอาชนะอุปสรรคและการหาวิธีการแก้ปัญหา

 “เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นความสำเร็จ” ฟังดูเป็นคำพูดชวนฝัน เบื้องหลังคำพูดที่ว่านี้มีแนวคิดและความเชื่อที่น่าสนใจหลายอย่างซ่อนอยู่ หนึ่งในนั้นคือการผลักดันตัวเองให้ออกจากพื้นที่ปลอดภัยหรือ Comfort Zone เป็นการยอมเสี่ยงผิดพลาด ล้มเหลวและไม่ประสบความสำเร็จ ยอมให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามใจหวัง อีกมุมหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับการลงมือทำโดยไม่คาดหวังต่อความสำเร็จในครั้งแรกๆ ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าโอกาสที่จะทำสำเร็จต้องมีไม่มากนักเพราะทำในสิ่งที่เราไม่ถนัดหรือไม่คุ้นเคย

เคยไปอ่านหนังสือแปลจากภาษาญี่ปุ่นเปรียเปรยว่า “ความล้มเหลวเป็นบิดาของความสำเร็จ” ทำให้คิดต่อว่าถ้าเป็นแบบนั้น “ความกล้า” น่าจะต้องเป็นมารดาของความสำเร็จแน่นอน เพราะการออกจาก Comfort Zone ต้องอาศัยความกล้าอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มโปรเจคใหม่ เปลี่ยนงานใหม่ ขายสินค้าใหม่ ทุกอย่างที่ใหม่สำหรับเราล้วนแต่ต้องอาศัยความกล้าที่จะเดินออกไปสู่พื้นที่แห่งความไม่รู้ 

ซารา เบลกลีย์ หญิงสาวอเมริกันที่เคยปฎิวัติวงการชุดชั้นในสตรีเนื่องจากไม่พอใจกับผลิตภัณฑ์แต่งกายกระชับรูปร่างจนกลายเป็นนักธุรกิจหญิงชาวอเมริกันผู้ก่อตั้ง Spanx ในปี 2012 ที่ผลิตเครื่องแต่งกายประเภทกางเกงชั้นในและเลกกิ้ง และได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อ 100 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกประจำปี 2014 ของนิตยสารไทม์ "Time 100" เล่าว่า

Spanx เริ่มต้นจากที่เธอไม่พอใจกับสเตย์รัดรูปที่ใช้วัสดุหนาทำให้เห็นรอยตอนส่วมใส่หรือเห็นเนื้อต้นขาที่ปูดออกมาตอนใส่อย่างชัดเจน เธอคิดว่าถุงน่องแบบเต็มตัวน่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ติดตรงที่มันทำให้ใส่รองเท้าแบบเปิดหน้าเท้าไม่สวย เธอจึงตัดสินใจใช้กรรไกรมาตัดปลายถุงน่องทั้ง 2 ข้างและนั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของชุดกระชับเรือนร่างที่รู้จักกันในนามสแปงซ์และที่มาของบริษัทที่สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ให้กับเธอ ซึ่งไม่เคยเรียนด้านธุรกิจ ไม่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมถุงน่อง และเริ่มต้นด้วยเงินทุนจำกัดเพียง 5,000 ดอลลาร์

เธอถูกถามว่าเอาความกล้าที่ไหนมาเริ่มต้นทำธุรกิจในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซาราให้เครดิตความดีนี้กับคุณพ่อของเธอที่ชอบถามลูกๆ สมัยยังเล็กหลังกลับจากโรงเรียนว่า “วันนี้ลูกทำอะไรล้มเหลวมาบ้าง” ถ้าเป็นครอบครัวอื่นคงถามว่าวันนี้ลูกเรียนรู้อะไรมาบ้าง แต่ครอบครัวเบลกลีย์กลับถามถึงการเรียนรู้ในมุมของความล้มเหลว ซึ่งทำให้ความล้มเหลวกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับลูกๆ ซาราจึงโตมากับการมองเห็นความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติที่เธอสามารถเจอได้ในชีวิตประจำวัน 

ในทุกๆ ความล้มเหลวคนเราต้องได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง เพียงแต่หลายครั้งเรามัวแต่เศร้าเสียใจ ท้อใจ หมดแรงไปกับความผิดหวังจึงไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ผิดพลาด หรือหลายคนอาจจะตำหนิตัวเองซึ่งนั่นยิ่งทำให้เราจมอยู่กับความล้มเหลว

ทัศนคติเกี่ยวกับความล้มเหลวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราเติบโตผ่านการค้นหาวิธีเอาชนะอุปสรรคและการหาวิธีการแก้ปัญหา ก้าวต่อไปพร้อมๆ กับการทดลอง กล้าเสี่ยงในจุดที่เรายอมรับความผิดพลาดได้ และย่อท้อจนกว่าเราจะค้นหาเส้นทางความแห่งความสำเร็จของตัวเองเจอ   

ครั้งต่อไปถ้าเราล้มเหลวหรือทำผิดพลาดอย่าลืมชื่นชมให้กำลังใจตัวเองว่า “อย่างน้อยฉันก็กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ” เอาใจช่วยทุกคนที่กำลังอยู่บนเส้นทางของความสำเร็จที่ต้องเรียนรู้ผ่านความล้มเหลวนะคะ 

เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ 

ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

related