svasdssvasds

ถอดแนวคิด The Super Mario Effect โฟกัสที่เป้าหมาย ไม่ใส่ใจความล้มเหลว

ถอดแนวคิด The Super Mario Effect โฟกัสที่เป้าหมาย ไม่ใส่ใจความล้มเหลว

The Super Mario Effect เป็นแนวคิดของ Mark Rober ยูทูบเบอร์ชื่อดัง ที่ได้นำเสนอบนเวที TED Talk เพื่อค้นหาคำตอบว่า การโฟกัสที่เป้าหมาย กับการโฟกัสที่ความผิดพลาด จะส่งผลต่อชีวิตอย่างไร

ที่ผ่านมามีแนวคิดเกี่ยวกับ “ศาสตร์แห่งความสำเร็จ” มากมาย แต่แนวคิดที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวได้อย่างน่าสนใจยิ่ง โดยแนวคิดดังกล่าวมีชื่อว่า The Super Mario Effect

การทดลอง “การลงโทษ” มีผลต่อความสำเร็จ และความล้มเหลวหรือไม่ ?

The Super Mario Effect เป็นแนวคิดในการทำงาน และการใช้ชีวิต ที่ Mark Rober ยูทูบเบอร์ชื่อดัง ซึ่งในอดีตเคยเป็นวิศวกร ที่องค์การนาซ่า ได้นำเสนอบนเวที TED Talk ในหัวข้อที่ชื่อว่า The Super Mario Effect : Tricking Your Brain into Learning More

โดย Mark Rober ได้เล่าถึงการทดลองด้วยการเชิญชวนเหล่าแฟนคลับในช่อง You Tube ของเขา ให้ร่วมเล่นเกมเพื่อพิสูจน์ว่า ใครๆ ก็สามารถเรียนรู้การเขียน Coding โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้  ซึ่งปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมการทดลองในครั้งนี้จำนวน 50,000 คน ส่วนเกมที่ว่า ก็คือการป้อนคำสั่งลงในโปรแกรม เพื่อให้รถออกจากเขาวงกต

Mark Rober ได้แบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 กลุ่มเท่ากัน คือกลุ่ม 25,000 คน ให้คะแนนคนละ 200 คะแนน โดยกลุ่มแรก ทุกครั้งที่ไม่สามารถนำรถออกจากเขาวงกตได้ จะมีข้อความขึ้นว่า “ผิดพลาด ลองใหม่” แต่กลุ่มที่ 2 ทุกครั้งที่ไม่สามารถนำรถออกจากวงกตได้ จะมีข้อความขึ้นว่า “ผิดพลาด ถูกหัก 5 คะแนน” และจะถูกหักคะแนนไปเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่ผิดพลาด

ภาพจาก FB : Mark Rober

อันที่จริงแล้ว เกมดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เรื่องการเขียน Coding ตามที่ Mark Rober อ้าง แต่สิ่งที่เขาต้องการจะพิสูจน์ก็คือ การถูกตัดแต้ม ซึ่งในชีวิตจริงก็เปรียบได้กับการถูกลงโทษ กับไม่ถูกตัดแต้ม ไม่ถูกลงโทษทุกครั้งที่ผิดพลาด จะส่งผลต่อผู้เล่นเกมอย่างไร  

และจากการทดลองดังกล่าว Mark Rober ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า กลุ่มแรกที่ทุกครั้งที่ผิดพลาด แต่ไม่ถูกหักคะแนน มีอัตราเล่นเกมดังกล่าวจนสำเร็จถึง 68 % ในขณะกลุ่มที่ถูกตัดแต้มทุกครั้งที่ผิดพลาด มีอัตราการเล่นเกมจนสำเร็จ เพียง 52 %

นอกนั้น กลุ่มที่ไม่ถูกตัดแต้ม ยังมีจำนวนเฉลี่ยในการเล่นเกมดังกล่าวซ้ำๆ จนสำเร็จถึง 12 ครั้ง ส่วนกลุ่มที่ถูกตัดแต้มทุกครั้งที่ผิดพลาด มีจำนวนการเล่นเกมเฉลี่ย 5 ครั้ง แล้วก็เลิก  

บทความที่น่าสนใจ

ภาพจาก FB : Mark Rober

The Super Mario Effect : Tricking Your Brain into Learning More

Mark Rober ได้เทียบเคียงการทดลองดังกล่าว กับการหัดเดินในวัยเด็ก ทุกครั้งที่ล้มลง เราก็จะพยายามลุกขึ้นเพื่อเดินใหม่ โดยไม่สนใจถึงเรื่องความผิดพลาด และกระทำอย่างต่อเนื่องด้วยความรู้สึกสนุกสนาน จนสามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่วขึ้นเรื่อยๆ  

และจากการทดลองดังกล่าว ก็ทำให้ Mark Rober นึกถึงเกมสุดโปรดในวัยเด็กของเขา นั่นก็ The Super Mario ที่มีภารกิจต้องไปช่วยเจ้าหญิง โดยทุกครั้งที่ตกท่อ ตกหลุม ผู้เล่นก็ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องความผิดพลาด แต่โฟกัสให้ความสำคัญที่เป้าหมาย จึงเริ่มต้นเล่นใหม่ได้เรื่อยๆ กระทั่งช่วยเจ้าหญิงได้สำเร็จ ทำให้เขาตั้งชื่อแนวคิดนี้ตามชื่อเกมสุดโปรดนั่นเอง 

ภาพจาก FB : Nintendo of America

The Super Mario Effect กับการดำเนินชีวิต

Mark Rober ได้สรุปข้อคิดจากการทดลองและเกม The Super Mario ว่า หากเราเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตหรือการทำงาน ด้วยการโฟกัสที่เป้าหมาย ไม่ไปกังวลว่า เมื่อผิดพลาดแล้ว ต้องถูกลงโทษ

แต่ให้ย้อนคิดไปถึงช่วงวัยเยาว์ที่กำลังหัดเดิน ทุกครั้งล้มลง ก็ลุกขึ้นเดินใหม่ หรือคิดเหมือนตอนที่กำลังเล่นเกม The Super Mario ทุกครั้งที่ตกท่อ ตกหลุม ก็เริ่มต้นเล่นใหม่ได้ตลอด จนกระทั่งช่วยเจ้าหญิงได้สำเร็จ 

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องให้สำคัญก็คือเป้าหมาย ไม่ใช่ความผิดพลาด ซึ่งเป็นมุมมองและวิธีคิดที่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้มากกว่า 

อ้างอิง

The Super Mario Effect - Tricking Your Brain into Learning More | Mark Rober | TEDxPenn

related