สัมผัสรสชาติแห่งความสุข ที่บอกเล่าผ่าน “ไอติมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณ” อีกหนึ่ง Soft Power ของไทย ที่ได้รับกระแสตอบรับที่อบอุ่นอยู่ในเวลานี้
“ไอติมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณ” ถือได้ว่าอีกหนึ่ง Case study ที่น่าสนใจ ในการสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้า จนได้รับการจดจำในเวลาอันรวเร็ว โดย “คุณน้ำตาล - ศิริญญา หาญเผชิญโชค” เจ้าของแบรนด์ Pop Icon ผู้ผลิตไอติมดังกล่าว ได้เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจ ดังต่อไปนี้
“แรงบันดาลใจของตาลก็คือ ตาลเป็นคนชอบศิลปวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว ตาลจึงอยากนำสิ่งเหล่านี้มานำเสนอ บวกกับตาลชอบทานไอศกรีมมาก ซึ่งไอศกรีมในความเห็นของตาล เหมาะกับการท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นสื่อที่ดีที่จะทำให้คนหันกลับมามองวัฒนธรรมไทย มองในมุมใหม่ๆ มิติใหม่ๆ และสร้างสีสันให้กับสถานที่ท่องเที่ยว
“และตาลก็คิดว่า ถ้าเราดึงดูดคนมาได้ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ก็จะส่งผลดีกับชุมชนโดยรอบด้วย เป็นการส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในสถานที่นั้นๆ ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้นไปด้วยค่ะ
“เพราะสำหรับตาลแล้ว การทำธุรกิจให้ประสบสำเร็จยังไม่พอ แต่ตาลต้องการให้ธุรกิจนี้มีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนชุมชนด้วยค่ะ”
บทความที่น่าสนใจ
ส่วนในเรื่องของดีไซน์ ที่เธอได้โฟกัสไปยังลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ในรายละเอียด ด้วยมุมมองที่ประณีต จนส่งผลให้ “ไอติมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณ” เป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทยที่โดดเด่นในเวลานี้
“เวลาคนมาเที่ยววัดอรุณฯ ก็มักจะถ่ายรูปกับพระปรางค์วัดอรุณฯ แต่ด้วยความอลังการ ก็อาจทำให้มองข้ามในรายละเอียดประณีตที่อยู่บนพระปรางค์ ตาลจึงคิดว่า ถ้าเรานำรายละเอียดตรงนี้ (ลายกระเบื้องวัดอรุณฯ) มาใส่ไว้ในไอศกรีม ก็อาจทำให้คนสนใจแล้วก็เข้าไปเดินดูใกล้ๆ เพื่อให้เห็นถึงความวิจิตรตระการตา ความประณีตของศิลปะไทย เป็น Soft power ให้คนเข้าใจ และเปิดใจรับได้ง่ายขึ้นค่ะ”
ส่วนในด้านรสชาตินั้น เธอก็ให้ความสำคัญไม่แพ้การดีไซน์เลย โดยได้มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้รสชาติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับ Story ความเป็นวัดอรุณฯ มากที่สุด
“ตาลเลือก 2 รสชาติ คือ 1. รสชาไทย กับ 2. กะทิอัญชันอบควันเทียน เพราะสีของชาไทยเป็นสีส้ม สีเดียวกับกระเบื้องวัดอรุณฯ ซึ่งประวัติของลวดลายกระเบื้องมีเชื่อมโยงระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะจีน
“ส่วนกะทิอัญชันอบควันเทียน ก็เป็นภูมิปัญญาของไทย ที่ทำให้ขนมไทยมีกลิ่นหอมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ และที่ตาลเลือกสีฟ้าของอัญชัน เพราะต้องการสื่อถึงเครื่องลายคราม ดังนั้นทุกอย่างของไอติมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณ จึงมีความเชื่อมโยงที่เกี่ยวพันกันค่ะ
“อีกอย่างหนึ่งที่ตาลอยากนำเสนอ ก็คือในไม้ไอศกรีมจะมีคำนาย ให้กำลังใจ และคติธรรมอยู่ เพราะตาลตั้งใจให้ผู้ที่รับประทานรู้สึกมีความสุข รู้สึกแฮปปี้ไปตลอดทั้งวัน”
และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของรสชาติแห่งความสุข ที่เล่าผ่าน “ไอติมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณ” โดย "คุณน้ำตาล - ศิริญญา หาญเผชิญโชค" ที่สามารถนำ Story และรสชาติแห่งความเป็นไทย มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจเป็นยิ่งนัก