หมดไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า “ของมันต้องมี” บางครั้งการทำงานมาหนักเพื่อเปย์ตัวเองก็ถือเป็นความสุขรูปแบบหนึ่ง และสำหรับคน Gen Z ถือเป็นกลุ่มคนที่ใช้เงินมากที่สุด เพื่อซื้อความสุข ต่อให้ต้องเสียเงินมากแค่ไหนก็พร้อมควักกระเป๋า ค่านิยมแบบนี้ ถูกมองว่าเป็น “สุขนิยม”
ที่เที่ยวที่ต้องไปก่อนที่อายุจะเยอะ ของที่ต้องมี ถ้าพลาดแล้วจะเสียดาย หรือไม่ว่าจะเป็นค่านิยมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น café hopping หรือการทำกิจกรรมต่างๆในวันหยุด ต้องยอมรับเลยว่า ไม่ว่าจะมองในมุมไหน Gen Z ก็ดูเหมือนจะเป็น generation ที่มีแนวโน้มใช้เงิน(โดยที่ไม่ค่อยจะคิด) เพื่อให้ตามโลกตามกระแสมากที่สุด
นั่นก็คือ จำเป็นมากมั้ยไม่รู้ แต่เอาให้มีความสุขไว้ก่อน เรียกง่ายๆว่า "ใช้เงินซื้อความสุขสนองความพอใจ" และด้วยความที่ช่วงอายุของ Gen Z อย่างเราๆนั้น เป็นช่วงที่ใกล้จบมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็กำลังเริ่มตั้งตัวที่จะหางานทำ บางคนก็ทำงานได้เพียงแค่ไม่กี่ปี แต่พฤติกรรมการใช้เงินนั้นกลับตรงกันข้ามกับรุ่นพ่อแม่เราที่มักจะเก็บวันนี้ไว้ใช้วันหน้า ประหยัดและอดออมมากกว่า ทั้งๆที่พวกเขาเองก็มีหน้าที่การงานที่มั่นคงไปแล้ว
จริงๆแล้วส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า Gen Z หลาย ๆ คนนั้น ยังไม่เห็นถึงความยากลำบากในการหาเงิน เพราะที่ผ่านมาเราเองใช้เงินพ่อแม่มาตลอด จนวันนี้ที่เริ่มหาเอง บางคนอาจจะเริ่มคิดแล้วว่าเงินมันหายาก แต่บางคนก็ยังคงเคยชินกับการได้เงินมาง่าย ๆ เลยใช้จ่ายไปแบบง่าย ๆ
ยิ่งไปกว่านั้น Gen Z เป็นรุ่นดิจิตอลอย่างแท้จริง ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่เรามักคลุกคลีกับโลกโซเชียล อะไรเป็นกระแส อะไรฮิต ๆ เราก็รับรู้หมด จึงไม่แปลกใจที่ชาว Gen Z มักจะมีแนวโน้มเสียค่าใช้จ่ายมากไปกับส่วนนี้ การใช้ของแบรนด์เนม การไปเที่ยวตามสถานที่ฮิตๆ เรียกว่าเป็นการใช้เงินเพื่อซื้อสังคมอย่างแท้จริง
แม้ว่าชาว Gen Z จะดูยึดความพอใจเป็นหลัก ใช้จ่ายอะไรไม่คิด แต่พฤติกรรมการใช้เงินของชาว Gen Z ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป พอลองมาดูดีๆแล้ว การใช้เงินแบบนี้ บางส่วนก็เป็นผลดีในอนาคตได้เหมือนกัน
ความแตกต่างอย่างมากระหว่าง Gen Z และ Gen อื่น ๆ คือนิสัยการใช้จ่าย Gen Z ใช้จ่ายเงินน้อยลงมากกับสิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า หรือรถยนต์ แต่เอาไปลงทุนกับประสบการณ์ชีวิตแทนนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเก็บเงินไปดูคอนเสิร์ตศิลปินที่ชื่นชอบ การไปท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่าง ๆ รอบตัว อีกทั้งยังมีความชอบที่จะโชว์ Lifestyle ต่าง ๆ ลงบน Instagram เป็นนัยๆว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวนั้นล้วนผ่านไปเร็วเหลือเกินแต่ความทรงจำและประสบการณ์ที่ได้รับนั้นจะคงอยู่ตลอดไป
Gen Z บางกลุ่มในยุคนี้ส่วนใหญ่มักจะเก็บเงินไว้สำหรับนำไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในหุ้น อสังหาฯ หรือแม้แต่ประสบการณ์ชีวิต โดยมีแนวคิดที่ว่าอยากให้เงินทำงานแทนโดยที่จะสร้างให้เป็น Passive Income เพราะฉะนั้นการวางแผนการเงินจึงเริ่มเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก โดยที่ Gen Z กำลังเตรียมแผนการเงินในอนาคตก่อนที่คนรุ่นมิลเลนเนียลจะเริ่มวางแผนเสียอีก
เมื่อเทียบกับการใช้เวลาดูหนังฟังเพลงอยู่กับบ้านหรือชอปปิ้งเดินห้างไปเปล่า ๆ การเลือกทำงาน Part Time นั้นช่วยสร้างทั้งรายได้และประสบการณ์ทำงานของคุณมีประโยชน์กว่าเห็นๆ รวมถึงการใช้เวลาว่างมองหาช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมเช่นเดียวกัน
จากผลสำรวจของ Deloitte ที่รวบรวมจาก Gen Z จำนวน 14,483 คน และ Millennials จำนวน 8,373 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก พบว่า 46% ของคน Gen Z มีงานประจำหรืองาน Part-Time นอกเหนือจากงานหลัก โดยเพิ่มขึ้น 3% จากปีที่ผ่านมา ส่วนคน Millennials มีจำนวน 37% ที่ทำงานเสริม เพิ่มขึ้น 4%
แต่!! ถึงแม้ว่างานพาร์ทไทม์จะเป็นตัวเลือกที่ดีในการหารายได้ที่ดี แต่เราต้องคำนึงถึงภาระหน้าที่หลักของเราด้วยนะ งานพาร์ทไทม์จะต้องไม่กระทบกับงานหลักของเรา เชื่อว่า หลาย ๆ คน โดยเฉพาะวัยที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่มักเลือกสมัครงาน Part Time เป็นรายได้เสริม และมักจะต้องเจอปัญหาตารางงานชนกับเวลาเรียน
ดังนั้น ควรต้องเลือกจัดการไม่ให้กระทบกับการเรียนการศึกษา ซึ่งมีส่วนสำคัญเมื่อต้องหางานเช่นเดียวกัน ส่วนผู้ที่เลือกทำงานฟรีแลนซ์ก็ต้องวางกรอบเวลาการทำงานให้ชัดเจน ไม่งั้นคุณส่งงานล่าช้า ย่อมมีผลต่อความน่าเชื่อถือของคุณเช่นเดียวกัน และต้องไม่ทำให้เราลำบากมากถ้าเราไม่ได้จำเป็นจะต้องใช้เงินมากขนาดนั้น
อ้างอิง