ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใหนขององค์กร “ใครๆก็อยากให้งานออกมาดี” แต่ความทุ่มเท หรือความคาดหวังการทำงานแตกต่างกัน บางคนทุ่มเทจนอาจถึงขั้นบ้างาน ส่วนบางคนขอทำแค่จุดสมดุลของชีวิต Work Life Balance ลองมาดูวิธีรับมือหัวหน้าและสร้างความโดดเด่นในผลงาน "ชีวิตดี งานดี เงินดี"
กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เจ้านายคาดหวังให้คุณทำงานหนักเท่าเขาหรือหนักมากกว่าเขาอยู่รึเปล่า? มันมีอยู่จริงนะ เจ้านายที่อยากจะเห็นลูกน้องทำงานหนักๆ เพราะคิดว่างานจะมีประสิทธิภาพดี ไม่ว่าจะเป็นการทำ OT ดึกๆดื่นๆ การทำงานตลอดเวลา จนไม่มีแม้แต่เวลาจะทานข้าวเที่ยง บางทีก็ต้องซื้อข้าวมาทานที่โต๊ะทำงาน หรือแม้กระทั่งต้องใช้เวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาทำงาน
ชีวิตมีแต่งาน งาน งาน... แบบนี้มันไม่ดีกับทั้งงานและชีวิตเลย ถ้าคุณรู้สึกว่าเจ้านายคุณกำลังทำให้คุณรู้สึกแบบนั้น ลองมาดูวิธีรับมือกับหัวหน้าประเภทบ้างานขนาดนี้กันดีกว่า
เอาจริงๆปัญหาระหว่างเจ้านายกับลูกน้องมีเยอะแยะมากมาย และหนึ่งในปัญหาที่ดูจะเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจมากก็ดูจะเป็นเรื่องที่มีเจ้านายหรือหัวหน้าบ้างานเกินไปนี่แหละ เพราะถ้าเราทำตามที่เจ้านายสั่งทุกอย่าง ยอมทำงานหนักเพื่อให้เจ้านายชื่นชมและมองว่าขยัน ก็จะเป็นตัวเราเองนี่แหละที่เสียหาย ทั้งเรื่องสุขภาพทั้งเรื่องจิตใจ
แต่ถ้าเราเกิดต่อต้านเจ้านาย ไม่ยอมทำงานตามที่เจ้านายสั่ง ทำแค่ตามเวลางานเท่านั้น ต่อให้งานจะออกมาดีทันเวลา แต่ในสายตาเจ้านาย เราก็อาจจะถูกมองว่าขี้เกียจ ไม่ขยันได้
สิ่งที่ควรทำถ้าตกอยู่ในสถานการณ์นี้คือหาจุดกึ่งกลางให้ได้ ไม่ว่าความคิดของเจ้านายต่อตัวคุณจะเป็นอย่างไร อย่าลืมว่าสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณสำคัญกว่า การโหมทำงานหนักๆไม่ได้ทำให้งานดีขึ้นเสมอไป แต่การรับผิดชอบในงานที่ทำ ก็เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี มันอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดขอบเขตระหว่างเจ้านายและคุณ
จริงๆแล้วการบ้าโหมทำงานหนักมันก็ไม่ได้เกิดจากเจ้านายคนเดียวหรอก บางทีองค์กรที่คุณอยู่ก็อาจมีวัฒนธรรมองค์กร การทำงานหนักอยู่แล้วก็ได้ ถ้าคุณรู้ว่าพนักงานในองค์กรนั้นๆต้องทำงานหนักมากๆ ไม่ค่อยมีเวลาหยุดพัก “ก็เลี่ยงดีกว่า หางานที่เหมาะกับความสามารถ" และทำให้ work ของคุณมัน balance กับ life ดีกว่า เพราะต่อให้องค์กรที่ว่านั้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีมากแค่ไหน แต่คุณก็คงจะไม่อยากเป็นปลาที่ว่ายทวนน้ำหรอก เพราะคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กรได้ มันเสียแรงเปล่าๆ
อย่ากลัวที่จะแชร์หลักการในการทำงานของคุณให้เจ้านายรู้ เพื่อช่วยสร้างขอบเขตว่าคุณมีรูปแบบการทำงานแบบไหน และการสั่งงานแบบไหนที่คุณจะทำมันไหว หากคุณเพิ่งเริ่มงานหรือรู้สึกว่างานในตำแหน่งปัจจุบันของคุณทำงานหนักเกินไป ให้ขอนัดพบกับผู้จัดการเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับตารางเวลาของคุณ
จริงๆแล้วบางทีหัวหน้าก็ลืมว่ามอบหมายงานไปมากขนาดไหนแล้ว ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกว่ามีภาระมากเกินไป ก็ลองขอให้หัวหน้าของคุณตรวจสอบรายการสิ่งที่ต้องทำและจัดลำดับความสำคัญอีกรอบ
ในบางครั้งขอบเขตที่เราสร้างอาจจะบอกว่าแบ่งเวลางานกับเวลาพักผ่อนชัดเจน แต่มันก็สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น การทำโปรเจกต์ใหญ่ที่อาจจะต้องใช้เวลาทำงานเยอะ อาจจะอยู่ทำงานที่ออฟฟิศจนดึกดื่น หรืออาจจะใช้เวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาทำงาน เมื่อหัวหน้าชื่นชมคุณ คุณต้องย้ำให้ชัดเจนว่านี่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น ในเวลางานปกติ ยังคงต้องเคารพขอบเขตที่กำหนดไว้กันอยู่
หากคุณได้รับมอบหมายงานมาในบ่ายวันศุกร์ ที่อาจต้องทำงานสุดสัปดาห์ก่อนถึงกำหนดเช้าวันจันทร์ ให้รับทราบคำขอแล้วจึงพยายามหาทางประนีประนอมหรือทำความเข้าใจกับหัวหน้าของคุณ
ลองพูดประมาณว่า "ฉันเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการ แต่ฉันมีภาระหน้าที่อื่นเหมือนกัน ฉันจะพยายามทำให้เสร็จภายในสิ้นวันจันทร์ได้ไหม"
ถ้ามันจำเป็นต้องทำงานในช่วงวันหยุดแบบเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ลองหาเวลาที่เหมาะสมที่จะทำงาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคุณ หรือไม่ส่งผลต่อครอบครัว
ถ้าคุณจำเป็นต้องเสียสละเวลาส่วนตัวหรือเวลาครอบครัวของคุณมาทำงาน ควรจะบอกให้เจ้านายทราบเป็นนัยๆ อาจจะพูดประมาณว่า "ตอนคุณโทรมา ผมกำลังทานข้าวกับครอบครัวอยู่เลย แต่ผมเข้าใจว่างานชิ้นนี้มันสำคัญ" การพูดแนวๆนี้มันก็อาจจะทำให้ครั้งต่อๆไป หัวหน้าของคุณอาจจะฉุกคิดว่า นี่เป็นการรบกวนเวลาพนักงานหรือเปล่า ถ้าไม่สำคัญมากอาจจะค่อยคุยช่วงเวลางานดีกว่า (ถ้าหัวหน้ายังพอเห็นอกเห็นใจลูกน้องบ้างน่ะนะ)
นอกจากปัญหาจะอยู่ที่หัวหน้าแล้ว คุณต้องต้องตรวจสอบการทำงานของตัวเองด้วย หากทำงานในความรับผิดชอบให้เรียบร้อยและมีแนวทางการทำงานชัดเจน ลองสร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง ด้วยการทำงานในหน้าที่อย่างตั้งใจและมีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดในชิ้นงานและทำงานทันตามเวลาที่กำหนด ทำให้หัวหน้าเห็นว่า หากเพิ่มงานมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพงานได้
การเน้นคุณภาพงานที่ดี จะทำให้คุณมีอำนาจต่อรองในการเจรจาเรื่องอื่นๆมากขึ้น เพราะหัวหน้า ก็อยากให้งานของทีมที่ตัวเองรับผิดชอบออกมาดีเหมือนกันนะ
แม้มันจะเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว ที่เหล่าบอสจะประเมินลูกน้องทั้งต่อหน้าและแอบทำแบบเงียบๆ ว่า ใครทำงานได้ดี หรือมีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่มันอาจไม่ใช่เรื่องปกติในโลกการทำงานวันนี้ ถ้าเราจะจับจ้อง หรือ คาดหวังจะได้เห็น ความทุ่มเทในระดับที่อาจจะเข้าขั้นบ้างานเหมือนกับที่ตัวเองเป็นอยู่
ไม่ว่าคุณจะทุ่มเทกับงานถึงขนาดไม่กลับไปกินข้าวเย็นที่บ้าน หรือพลาดงานสังสรรค์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่กับครอบครัว-คนใกล้ตัวอยู่เสมอ หรือหลายๆครั้งที่คุณต้องนอนค้างที่ออฟฟิศเพื่อสะสางงานให้เสร็จสิ้น นั่นมันเรื่องของคุณ แล้วคุณก็ไม่ควรคาดหวังให้ลูกน้องทำแบบเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ถ้าคุณเป็นลูกน้องแต่กลับทำงานแบบให้เสร็จๆไป และให้เหตุผลว่า Work life balance (ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรมี) แต่การทำงานยังไม่ได้แสดงถึงความรับผิดชอบ มุ่งมั่น ใส่ใจอย่างเต็มที่ งานที่ออกมาไม่เสร็จหรือผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นก็เป็นเรื่องของคุณเช่นกัน ที่ต้องยอมรับผลการประเมินต่างๆที่ถูกกำหนดในกฏระเบียบองค์กร เพราะนั้นมันก็คือกติกาการทำงานร่วมกัน
สุดท้าย... วลีที่หัวหน้าบอกว่า "สั่งงานวันนี้…ลูกน้องต้องทำงานเสร็จตั้งแต่เมื่อวาน" ลองคิดในอีกมุมนึง อาจสื่อได้ว่าลูกน้องกำลังนำหัวหน้าไป 1 ก้าวแล้วรึเปล่านะ
บทความอื่นที่น่าสนใจ
อ้างอิง