"การตัดสินใจ" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ทุกคนมีประสบการณ์และเคยตัดสินใจกันมาตั้งแต่ยังเด็ก แต่กลับเป็นเรื่องน่าแปลกที่เรากลับทำสิ่งนี้ได้ไม่ดี ทั้งๆที่เราต้องทำซ้ำๆเป็นประจำ เราควรทำมันได้ดี รวดเร็ว แต่การตัดสินใจกลับไม่เป็นแบบนั้น
บทความ Work Life balance วันนี้ จะมาแชร์เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ "การตัดสินใจ" ของคนเรา ที่บางครั้งเรากลับทำได้ไม่ดี ที่เป็นแบบนี้เพราะกิจกรรมการตัดสินใจของคนเราเป็นเรื่องซับซ้อน มีหลายมิติ เช่น ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นประจำทุกวันอย่างวิธีการเดินทางไปทำงาน สมองจะทำตามคุ้นเคยโดยอัตโนมัติทั้งๆ ที่เมื่อเผชิญรถติดเราสามารถตัดสินใจใหม่ได้ว่า เราควรเปลี่ยนเส้นทางหรือเปล่า ส่วนใหญ่เรากลับใช้เส้นทางเดิมและปล่อยให้ตัวเองเผชิญรถติด
นอกจากนี้ประสบการณ์การในอดีตและอารมณ์ยังมีผลต่อการตัดสินใจ ถ้าใครเคยใช้บริการขอคำปรึกษากับนักจิตบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ อาจจะเคยได้รับคำแนะนำว่า อย่ารีบตัดสินใจในช่วงที่มีอารมณ์เศร้ามาก โกรธรุนแรง หรือเสียใจ ที่เป็นแบบนี้เพราะการตัดสินใจจากอารมณ์ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจได้อย่างไม่คาดคิด เช่น ถูกผู้บริหารด่ากลางที่ประชุมต่อหน้าคนจำนวนมาก เลยประกาศลาออกตรงนั้นเลย ทั้งที่มีภาระหนี้สินจำนวนมาก มีอีกหลายชีวิตในครอบครัวที่ต้องดูแล เป็นต้น
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับ "การตัดสินใจ" ผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา เราก็ไม่ควรปล่อยให้เรื่องราวเหล่านั้นมาหลอกหลอนเรา จนทำให้เราไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องนั้นอีก เช่น ประสบการณ์ในการเลือกคู่ชีวิตผิดทำให้เกิดการหย่าร้าง ทำให้เราไม่ยอมให้โอกาสตัวเองเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
จิตบำบัดแบบซาเทียร์ โมเดล (Satir Model) ของ Verginia Satir ซึ่งเป็นนักบำบัดครอบครัวที่มีชื่อเสียงในยุค 80 กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ทุกการตัดสินใจของคนเราเป็นการตัดสินที่ดีที่สุด ณ เวลานั้น”
เนื่องจากเรามีความรู้ มีข้อมูล และความเชื่อต่างๆ แค่นั้นในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เราตัดสินใจไปแบบนั้น ดังนั้นบทความตอนสุดท้ายในซีรีย์การตัดสินใจเปลี่ยนงาน อยากแนะนำวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้การตัดสินใจของเราเฉียบคมขึ้น ผ่านการมองอย่างรอบด้าน พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องมาเสียใจหรือเสียดายภายหลังว่า “รู้งี้ไม่น่าเลย”
ข้อ1. เขียนออกมา อย่าคิดทุกอย่างในหัว การเขียนจะช่วยให้เห็นภาพและข้อมูลชัดเจน ไม่หลงลืมอะไรไป
ข้อ2. เขียนปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกในแนวนอนและเขียนทางเลือกที่มีในแนวตั้ง
ข้อ3. จะใส่เป็นเครื่องหมายถูกในช่องที่ตรงตามเงื่อนไขหรือให้เป็นคะแนนก็ได้
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยกตัวอย่าง "การตัดสินใจ" เลือกที่ทำงานใหม่ตามตารางด้านล่างนะคะ
จากตารางจะเห็นว่าการเปลี่ยนงานมาทำกิจการของตัวเองน่าจะตอบความต้องการของตัวเองได้ตรงความต้องการมากที่สุด ซึ่งเราสามารถใช้คะแนนตัวนี้ไปประกอบการตัดสินใจเลยได้ในกรณีที่ทุกปัจจัยมีความสำคัญเท่าๆ กัน
กรณีที่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมีน้ำหนักมากกว่า
การประเมินแบบนี้จะไม่สามารถตอบความต้องการในใจลึกๆ ของเราได้ เช่น เราให้ความสำคัญกับรายได้เหนือสิ่งอื่นใด การเลือกลาออกมาประกอบกิจการของตัวเองย่อมไม่ใช่ทางออกที่ดี ให้ขยับไปที่ตัวเลือกที่คะแนนต่ำรองลงมาก ขั้นตอนนี้คือการตรวจสอบการตัดสินใจอีกครั้งจากปัจจัยที่มีความสำคัญสำหรับเรา ซึ่งค้นหาจากการตอบชุดคำถามปัจจัยที่เราให้คุณค่าในงาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ถึงแม้เราจะรอบคอบพิจารณาทุกปัจจัยมาอย่างดี ใช้เทคนิคสารพัดวิธีมาเป็นเครื่องมือช่วยตัดสินใจ แต่เราก็ไม่มีทางควบคุมปัจจัยภายนอกที่ส่งต่อการตัดสินใจของเราได้ เช่น เราตัดสินใจย้ายงานไปในธุรกิจการท่องเที่ยว หลังจากนั้นโลกทั้งโลกเผชิญวิกฤตโควิดติดต่อกันหลายปี แน่นอนว่าย่อมกระทบต่ออาชีพการงานของเราแน่นอน
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราตัดสินใจให้ดีที่สุดในจุดที่เรายืนอยู่ หรือ ณ เวลาปัจจุบันและข้อมูลที่เรามีอยู่
เฝ้ามองผลของการตัดสินใจเราแบบปล่อยวาง
สำหรับผลของ "การตัดสินใจ" เราควรเฝ้ามองอย่างปล่อยวางและยอมรับ ซึ่ง 1 ในกฎ 7 ข้อของหนังสือ The Seven Spiritual Laws of Success หรือ 7 กฎด้านจิตวิญญาณเพื่อความสําเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม ของดีพัค โชปรา เรียกว่าการปล่อยวางในเป้าหมาย
เมื่อเราทำเต็มที่แล้ว เราคงไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่านั้น แต่เราสามารถเรียนรู้จากสิ่งนี้ได้ เมื่อวันเวลาผ่านไปแล้วย้อนกลับมาว่าเราทำได้ดีพอแล้วหรือยัง
เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปเราจะได้ข้อมูลมากขึ้น เห็นภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คิดทบทวนการตัดสินใจในอดีตจะช่วยให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของตัวเราเอง คำถามง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ไม่ว่าการตัดสินใจที่เกิดขึ้นคือ “ถ้าเราย้อนเวลากลับไป เราจะตัดสินใจแบบเดิมหรือจะทำอะไรที่ต่างออกไป”
ยกตัวอย่างการเปลี่ยนงานช่วงก่อนวิกฤตโควิด เราอาจจะคิดว่ารู้งี้ไม่น่าเปลี่ยนงานเลย แต่ถ้าเราย้อนกลับไปพิจารณาจากตารางการตัดสินใจประกอบกับคำถามว่าเราจะทำอะไรที่ต่างจากเดิมมั้ย คำตอบอาจจะเป็นว่าอาจจะขอกลับไปขอทำงานกับที่เดิมหรือตัดสินใจเปลี่ยนงานอีกรอบเมื่อเห็นสัญญาณการปิดประเทศในช่วงต้นๆ ของวิกฤต เป็นต้น
ทุกๆ จุดของการตัดสินใจคือทางเลือกที่นำไปสู่การตัดสินใจอื่นๆ อีกเสมอ เหมือนเราอยู่ตรงกลางสี่แยกไม่ว่าเราจะเลี้ยวไปทางไหนเราก็ต้องเจอแยกถัดไปอยู่ดี ดังนั้นไม่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร การตัดสินใจครั้งนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจครั้งใหม่เสมอ ดังนั้นไม่ต้องเสียใจถ้าตัดสินใจผิดพลาด เดินต่อไปเพื่อเจอแยกหน้า เพื่อเราจะได้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง
ขอให้ทุกคนโชคดีกับการตัดสินใจทุกๆ วันนะคะ
บทความ : เพชร ทิพย์สุวรรณ
อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ
ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant