บทความจาก "อดีต Corporate HR" วันนี้ จะมาแชร์ "เทคนิคการเลือกงาน" และ "เคล็ดลับทำงานให้มีความสุข" เพราะในชีวิตของคนเราคงจะหนี "การมีงานทำ" ไม่ได้ แต่งานแบบไหนที่เหมาะกับเรา ทำแล้วมีความสุข ลองมาเช็กลิสต์กัน
ใครเคยมีประสบการณ์ได้งานใหม่พร้อมๆ กันหลายๆ ที่บ้างยกมือขึ้น?
ถ้าใครไม่เคยมีประสบการณ์ตรงกับตัวเองอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า ดวงคนจะได้งานใหม่ มักจะได้งานหลายๆ ที่พร้อมกัน โดยเฉพาะ Gen Z ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยหลายคนเป็นดาวเด่นได้รับเลือกเข้าทำงานพร้อมกันหลายองค์กรอาจจะรู้สึกสับสนว่าจะเลือกร่วมงานกับบริษัทไหนดีนะ ใครที่คิดว่าคนที่เจอเรื่องแบบนี้นี่ช่างน่าอิจฉาจัง จากประสบการณ์บอกเลยว่า บางครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจเลือก อารมณ์คล้าย ๆ กับอาการรักพี่เสียดายน้อง ถ้าเลือกเลี้ยวซ้ายก็กลัวว่าเลี้ยวขวาจะเจอสิ่งที่ดีกว่า เกิดการลังเลตัดสินใจไม่ถูก
เจนนิเฟอร์ เฮอร์ริตี้ จากเว็บไซต์ indeed ให้คำแนะนำเรื่อง "เทคนิคการเลือกงาน" ว่าจำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบหลายด้าน เช่น สวัสดิการและเงินเดือนรวมไปถึงสัญญาจ้าง ภาพลักษณ์ความโปร่งใสขององค์กร วัฒนธรรมองค์กร เส้นทางอาชีพของตำแหน่งงาน (Career Path) และตัวเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบ
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเรื่องทีมที่เราต้องร่วมงานด้วย รวมถึงทิศทางหรือเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของบริษัท สุดท้ายแต่สำคัญสุดคือผลประโยชน์ที่จะได้รับทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งเรายังไม่ลงรายละเอียดในเรื่องการเจรจาต่อรองเรื่องเงินเดือนและผลประโยชน์ที่จะได้รับในบทความตอนนี้ ขอยกยอดเขียนเล่าในอาทิตย์ถัดไปนะคะ
บทความ Work & Balance อื่นที่น่าสนใจ
บทความนี้ขอเล่า "เทคนิคการเลือกงาน" ที่เคยใช้แล้วได้ผลดีมาให้ทุกคนได้ทดลองใช้กันก่อน แน่นอนเทคนิคเหล่านี้สามารถนำไปใช้ตัดสินใจกับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกแฟน เลือกคู่ชีวิต เลือกที่พัก ซื้อคอนโด รวมถึงเลือกแนวทางรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วย มาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ
ตัดสิ่งที่ไม่ต้องการทิ้ง
เทคนิคนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้นจากการพิจารณาสาเหตุที่เราย้ายงาน อะไรที่เราไม่ชอบในที่ทำงานเดิม ถ้าที่ทำงานใหม่มีสิ่งที่คล้ายๆ กัน หรือมีความเสี่ยงที่จะต้องเจอเรื่องที่คล้ายกัน รีบตะโกนบอกตัวเองในใจดัง ๆ ว่า “หนีไปปปป” อย่าลังเลเห็นแก่เงินเดือนที่เยอะกว่า โอกาสหน้าที่การงานที่ดูเข้าท่ากว่า อย่าให้เงื่อนไขที่เหมือนจะดูดี (ซึ่งจริง ๆ มันก็ดูดีในสายตาของคนทั่วไป) มารบกวนการตัดสินใจของเรา
แน่นอนว่าถ้าเราจะใช้เทคนิคการตัดช้อยส์หรือทางเลือกแบบนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าเราไม่ต้องการอะไรหรืออะไรเป็นสาเหตุที่เราหางานใหม่ ซึ่งเราต้องสำรวจตัวเองอย่างถี่ถ้วนก่อน ไม่งั้นจะกลายเป็นหนีเสือปะจระเข้
เช่น เราไม่ชอบงานปัจจุบันที่เลิกงานดึก เพราะไม่มีเวลาส่วนตัวช่วยดูแลภรรยาและลูกที่เพิ่งคลอด ดังนั้นที่ทำงานใหม่ก็ไม่ควรเป็นงานที่ต้องทำงานนอกเวลางานหรือเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อย เป็นต้น
การที่เรารู้จักตัวเองและเงื่อนไขการทำงานอย่างชัดเจนย่อมทำให้เราตัดสินใจได้ดีกว่าเพราะทำให้เราสามารถขยับตัวเองออกจากจุดที่เราไม่มีความสุขในชีวิตการทำงานไปค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ที่อาจจะทำให้เราพบสิ่งที่ดีกว่า แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรการันตีได้ว่าเราจะพบสิ่งนั้นในที่ทำงานใหม่ ดังนั้นเรามาดูข้อถัดไปกันต่อดีกว่าค่ะ
การให้คุณค่าของแต่ละปัจจัย
เทคนิคการเลือกงานนี้เป็นการลิสต์ปัจจัยที่ความสำคัญและมีคุณค่าสำหรับเรายังไง ผ่านการค้นหาตัวเองด้วยการตอบคำถามง่าย ๆ เพื่อให้เรามาดูว่างานไหนที่เหมาะกับเรา
ถ้าใครตอบได้ไม่ครบทุกข้อก็ไม่เป็นไรนะคะ พยายามตอบให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อสำรวจค้นหาพื้นที่ของความสุขในการทำงานของตัวเราเอง แล้วนำคำตอบมาประมวลผลจัดลำดับเป็นข้อ ๆ จากข้อที่สำคัญมากที่สุดไปยังน้อยที่สุด เพื่อประเมินดูว่างานใหม่ที่เราได้รับข้อเสนอมามีงานไหนที่สอดคล้องกับคำตอบที่เราจัดลำดับไว้บ้าง
คำตอบที่ชัดเจนนำไปสู่เป้าหมายที่ชัด ซึ่งจะช่วยให้เราขยับไปในทิศทางที่ถูกต้องนอกเหนือไปจากการย้ายออกจากจุดเดิมที่เราไม่ชอบ ไม่มีความสุขจากการทำงาน ไปสู่งานที่สอดคล้องกับความชอบและมีความหมายสำหรับเรา
ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นภูมิกันเวลาที่เราเจออุปสรรคการทำงานในอนาคต คำตอบเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ว่าเรายืนหยัดเอาชนะอุปสรรคเพื่ออะไรกันแน่ ทำไมเราต้องทนต่อเจ้านายแย่ ๆ ทุกวัน เพื่อคุณค่าอะไรกันนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน เช่น งานนี้ทำให้เราได้ช่วยเหลือคนไร้บ้านได้มีงานทำ เป็นต้น
นอกจากนี้จังหวะที่คนเปลี่ยนงานใหม่ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้หันเหสายอาชีพไปยังจุดหมายปลายทางที่เราต้องการในอนาคต ดังนั้น "การเลือกงานที่ใช่" จะช่วยให้เราได้สำรวจความเป็นไปได้ ความชอบ ความถนัดของตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปจนเราอายุมากขึ้น ความกระตือรือร้นที่จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่จะยิ่งลดลง ออกจาก Comfort Zone หรือพื้นที่ที่เราคุ้นเคยยากขึ้น แถมยังมีต้นทุนที่ต้องจ่ายค่าเสียโอกาสมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้หลายคนไม่พร้อมเสี่ยงกับการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ที่ต่างจากงานเดิม
การหันเหสายอาชีพช่วงที่อายุมากจึงเป็นเรื่องยากกว่าช่วงที่อายุยังน้อย ซึ่งเป็นช่วงที่เรียนรู้ได้เร็วและมีเวลาลองผิดลองถูกได้มากกว่าทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
เพชร ทิพย์สุวรรณ
อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ
ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant