svasdssvasds

คนผิวดำเป็นซามูไร Assassin's Creed Shadows เข้าข่าย 'ฉกฉวยทางวัฒนธรรม' ?

คนผิวดำเป็นซามูไร Assassin's Creed Shadows  เข้าข่าย 'ฉกฉวยทางวัฒนธรรม' ?

Assassin's Creed Shadows เกมอิงประวัติศาสตร์ ที่เอาคนผิวดำมาเป็นซามูไร โดยที่คนญี่ปุ่นไม่ยอมรับ เป็นงานสร้างสรรค์ หรือ ‘เข้าข่ายการฉกฉวยทางวัฒนธรรม’

SHORT CUT

  • ‘ฉกฉวยทางวัฒนธรรม’ คือ การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลจากวัฒนธรรมหนึ่ง นำเอาองค์ประกอบทางวัฒนธรรม เช่น เครื่องแต่งกาย ศิลปะ ดนตรี หรือประเพณี ของอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาใช้ โดยขาดความเข้าใจ
  • เกม 'Assassin's Creed Shadows' ตกเป็นประเด็น เพราะเอาคนผิวดำมาใส่ชุดซามูไร และรายละเอียดต่างๆ ในเกม ก็ผิดแปลกไปจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น  
  • ผลงานที่แอบอ้างวัฒนธรรมอื่น อาจต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นผลงานที่สร้างสรรค์ก็อาจถูกมองเป็นงานทำลายวัฒนธรรมอื่นแบบไม่ได้ตั้งใจ?

Assassin's Creed Shadows เกมอิงประวัติศาสตร์ ที่เอาคนผิวดำมาเป็นซามูไร โดยที่คนญี่ปุ่นไม่ยอมรับ เป็นงานสร้างสรรค์ หรือ ‘เข้าข่ายการฉกฉวยทางวัฒนธรรม’

เวลานี้หากใครติดตาม ข่าวสารวงการเกมและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ต้องเห็นดราม่า จาก ‘Assassin's Creed Shadows (AC SHADOW)’ สุดยอดซีรีส์เกมจากค่าย Ubisoft ที่ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงมาหลายเดือน เนื่องจากเกมดำเนินเนื้อเรื่องอยู่ในยุคเซ็นโกคุ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของซามูไรตระกูลต่างๆ

ทว่าแทนที่ผู้เล่นจะได้สวมบทเป็นซามูไรญี่ปุ่น ตัวเกมกลับบังคับให้รับบทเป็น ยาสึเกะ ซามูไรแอฟริกา ที่มีประวัติศาสตร์คลุมเครือแทน แถมยังมาไล่ฆ่าคนญี่ปุ่นเป็นผักปลา จนภาพในเกมนี้เหมือนเอาคนผิวดำมาบูลลี่คนเอเชียที่อ่อนแอกว่าไปเสียอย่างนั้น

คนผิวดำเป็นซามูไร Assassin

ทั้งนี้ เกม AC SHADOW ประกาศเลื่อนวางจำหน่าย จากเดิมคือเดือนพฤศจิกายน 2024 เป็นกุมภาพันธ์ 2025 แทน อย่างไรก็ตาม เกมนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเกมเมอร์ชาวญี่ปุ่น ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมซามูไร ซึ่งพวกเขาออกมาเรียกร้องให้ Ubisoft ให้เกียรติวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากกว่านี้ ไม่ใช่เอาทำใหม่จนผิดไปจากความเป็นจริง และเข้าข่าย ‘ฉกฉวยวัฒนธรรม (Cultural Appropriation) ’ ซึ่งเป็นเรื่องสุดคลาสสิกที่สื่อบันเทิงตะวันตกทำกันเป็นเรื่องปกติ

ฉกฉวยทางวัฒนธรรม คืออะไร ? PHOTO Chris Beckett

ฉกฉวยทางวัฒนธรรม คืออะไร ?

หากอธิบายง่ายๆ ‘ฉกฉวยทางวัฒนธรรม’ คือ การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลจากวัฒนธรรมหนึ่ง นำเอาองค์ประกอบทางวัฒนธรรม เช่น เครื่องแต่งกาย ศิลปะ ดนตรี หรือประเพณี ของอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาใช้ โดยขาดความเข้าใจในความหมายและความสำคัญที่แท้จริงขององค์ประกอบนั้นๆ และมักเกิดขึ้นในบริบทที่วัฒนธรรมหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง เช่น คนผิวขาวนำเอาเครื่องแต่งกายพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ มาดัดแปลงเพื่อหากำไรในธุรกิจแฟชั่น โดยไม่ได้มีขาดความเข้าใจในความหมายและที่มาของเครื่องแต่งกายนั้นๆ หรือในวงการภาพยนตร์ ที่ Disney มักทำแอนิเมชัน เล่าถึงวัฒนธรรมอื่น แต่ไม่ได้มีความถูกต้องแต่อย่างใด

ยาสึเกะ ซามูไรผิวดำคือใคร ทำไมถึงเป็นประเด็น ? PHOTO Ubisoft

ยาสึเกะ ซามูไรผิวดำคือใคร ทำไมถึงเป็นประเด็น ?

ในส่วนของ เกม AC SHADOW ที่เป็นประเด็นนั้น เพราะยาสึเกะเป็นบุคคลที่มีชีวิตในศตวรรษที่ 16 ของญี่ปุ่น โดยเขา สืบเชื้อสายมาจากแอฟริกาและมีบันทึกว่าเขารับใช้ โอดะ โนบุนางะ ขุนศึกผู้ทรงพลังที่สุดในเวลานั้น แต่สถานะของเขาในฐานะ "ซามูไร" นั้นเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างดุเดือดในหมู่นักประวัติศาสตร์ และหลายคนเชื่อว่าเขาเป็นแค่คนรับใช้เท่านั้น ‘ไม่ใช่ซามูไร’ อย่างที่เกมกล่าวอ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น เกม AC SHADOW ยังถูกโจมตีเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ทางวัฒนธรรม ด้วยการนำผลงานศิลปะ ทั้งภาพวาด และสัญลักษณ์โบราณต่างๆ ไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต แถมยังใช้ผิดที่ผิดทาง ผิดความหมายเต็มไปหมด จนเกมเมอร์ชาวญี่ปุ่นกังวลว่า นี่จะเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ครั้งที่บริษัทตะวันตก เอาวัฒนธรรมญุี่ปุ่นอันล้ำค่าไปปู้ยี่ปู้ยำจนทำให้ชาวโลกเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นผิด

The Last Samurai (2003)

คนตะวันตกชอบความเป็นซามูไร 

จริงๆ เรื่อง ฉกฉวยวัฒนธรรมซามูไร ก็เป็นกระเด็นมาก่อนแล้วเมื่อ ‘THE LAST SAMURAI’ ออกฉายในปี 2003 และกลายเป็น หนึ่งภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในปีนั้น แถมได้รับยกย่องในเรื่องคุณภาพของเนื้อหา และการแสดงมากมาย ทว่า ก็ถูกวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ว่า คือภาพยนตร์เหยียดเชื้อชาติของฮอลลีวูด เพราะเป็นเรื่องราวของคนซามูไรญี่ปุ่นที่พยายามต่อต้านอิทธิพลตะวันตก แต่กลับนำแสดงโดยคนผิวขาว และทำให้หนังดูเป็นประวัติศาสตร์ของคนอเมริกาอย่างโจ่งแจ้ง

 

สร้างสรรค์ กับ ฉกฉวยวัฒนธรรม มีเส้นบางๆ กันอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะวงการไหน การเอาผิดองค์กรที่ไปฉกฉวยวัฒนธรรมอื่นเป็นเรื่องยาก เพราะ ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่าการฉกฉวยทางวัฒนธรรมเป็นความผิดโดยตรง และมากสุดก็ทำได้แค่สร้างหัวข้อถกเถียงในผลงานเท่านั้น นั่นจึงทำให้มีผลงานที่นำเสนอวัฒนธรรมต่างชาติผิดๆ ออกมาอยู่เสมอ และผู้ผลิตผลงานเหล่านี้ก็มักอ้างว่า เป็นแค่ ‘เรื่องแต่ง’ หรือ ‘แค่อิงประวัติศาสตร์’

เช่นเดียวกับทาง Ubisoft เจ้าของ AC SHADOW ที่หลังเป็นประเด็นดราม่า ก็ออกมาอ้างว่า ‘เกมนี้เป็นแค่ แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ ที่มีการใช้ความสร้างสรรค์ และความแฟนตาซีผสมอยู่ด้วยเท่านั้น’ ทว่าคอมมูนิตี้ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นแข็งแรงมาก และยังคงนำเสนอข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เพื่อกดดัน Ubisoft ต่อเนื่อง และก็ไม่รู้เพราะพวกเขาหรือเปล่า ที่ทำให้ล่าสุด ‘อีฟส์ กีลโมต์ (Yves Guillemot)’ ประธาน Ubisoft ออกมาประกาศว่า ‘จะยอมลดความ woke ในเกมของตัวเองลง และจะมุ่งเน้นที่ความสนุกแทน’

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร นี่ก็เป็นเรื่องที่ดี และต้องขอบคุณพลังของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เสียงของผู้บริโภคแข็งแรงขึ้นกว่าในอดีต และเป็นสัญญาณเตือนว่า ผลงานที่แอบอ้างวัฒนธรรมอื่น อาจต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นผลงานที่สร้างสรรค์ก็อาจถูกมองเป็นงานทำลายวัฒนธรรมอื่นแบบไม่ได้ตั้งใจ?

ที่มา : Skyhawks/ /Movie Web

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related