SHORT CUT
ทำไมถึงมีแนวคิดว่า ‘เงินซื้อความสุขไม่ได้’ นักปรัชญาที่พูดกันมาไม่ได้เกิดในยุควัตถุนิยมด้วยซ้ำ ส่วนงานวิจัยในปัจจุบันคนรวยมีความสุขที่สุด
ประโยคที่ว่า ‘เงินซื้อความสุขไม่ได้’ เป็นยอดคำคมที่แชร์กันเต็มโลกอินเทอร์เน็ตมาหลายปี เพราะเหล่านักปรัชญา นักเขียนทั้งหลายมักชอบโชว์แนวคิด ความสุขที่ยั่งยืนมักมาจากภายใน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งของภายนอก
อย่างไรก็ตาม ประโยคดังกล่าวอาจจะจริงกับผู้ที่มีเงินล้นฟ้าจนไม่รู้จะซื้ออะไรมาเติมเต็มตัวเองอีกแล้ว แต่ในทางกลับกัน สำหรับชนชั้นกลางหรือคนรายได้น้อย อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการมีเงินนั้นสามารถจ่ายค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียนของลูกๆ ได้ และจะไม่นับเป็นความสุขได้อย่างไร ?
แม้จะไม่แน่ชัดว่า ใครพูดประโยค ‘เงินซื้อความสุขไม่ได้’ เป็นคนแรก แต่ความคิดเรื่อง ความสุขของคนคนหนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งและเงินทองนั้น ต้องสืบย้อนไปในสมัยโบราณ ซึ่งนักปรัชญาชื่อดังของโลกคือคนกลุ่มแรกๆ ที่ออกตัวในเรื่องนี้
นักปรัชญาชาวจีน ‘เหล่าจื๊อ (Lao Tzu)’ ที่มีชีวิตอยู่ช่วง 500-600ปีก่อนคริสตกาล เคยกล่าวไว้ว่า “หากความสุขของคุณขึ้นอยู่กับเงินทอง คุณจะไม่มีวันมีความสุขกับตัวเอง”
นักปรัชญาชาวกรีกโบราณ ‘เพลโต (Plato)’ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 427 – 347 ปีก่อน ค.ศ. กล่าวในหนังสือ “Republic” ว่า “ยิ่งพวกเขาคิดที่จะหาเงินทองมากเท่าไร พวกเขาก็จะคิดถึงคุณธรรมน้อยลงเท่านั้น เพราะเมื่อความร่ำรวยและคุณธรรมมารวมกันบนตาชั่ง สิ่งหนึ่งจะสูงขึ้นเสมอในขณะที่อีกสิ่งหนึ่งจะตกต่ำลง”
แม้แต่นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)’ ยังเคยกล่าวว่า “เงินดึงดูดเฉพาะความเห็นแก่ตัวเท่านั้น”
ทว่าเราควรเชื่อคำพูดสูงส่งข้างต้นแค่ไหน เพราะบรรดานักปรัชญาผู้สูงส่งเหล่านี้ ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในยุควัตถุนิยมด้วยซ้ำ และไม่เคยได้อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้คนมีเงินได้สัมผัสกับความสวยงามของโลกใบนี้ มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย
มีวัฒนธรรมการบริโภคแบบสุดโต่งที่ระเบิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2010 งานวิจัยของ ‘แองกัส ดีตัน (Angus Deaton)’ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวสหรัฐฯ เผยว่า ความสุขมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามรายได้จนถึงประมาณ 60,000- 90,000 ดอลลาร์ต่อปี จากนั้นก็จะคงที่ พูดง่ายๆ คือต่อให้รวยกว่านี้ก็ไม่มีความสุข
แต่ในปี 2024 ‘Wharton School’ ซึ่งเป็นคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้เปิดเผยงานวิจัยใหม่ที่ขัดแย้งกัน นั่นก็คือ ‘ยิ่งมีเงินมาก ก็ยิ่งมีความสุขมาก’ เพราะจากการสำรวจ ผู้ที่มีทรัพย์สินสุทธิเป็นล้านหรือพันล้านมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิต อยู่ระหว่าง 5.5 -6 จากคะแนนเต็ม 7
ส่วน ที่มีรายได้ประมาณ 100,000 ดอลลาร์ต่อปี คะแนนความพึงพอใจในชีวิตอยู่ที่ 4.6 คะแนน และ ผู้ที่มีรายได้ประมาณ 15,000 ถึง 30,000 ต่อปี สูงกว่า 4 คะแนนแค่เล็กน้อย
นั่นหมายความว่า ความสุขระหว่างกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด กลับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและกลุ่มที่มีรายได้น้อย มีความมาแตกต่างกันมาก สิ่งนี้ตอกย้ำว่า ‘รวยเกินไปจนไม่มีความสุขนั้น’ มันไม่มีอยู่จริง !
ในอดีต มนุษย์ซื้อสินค้าระหว่างกันโดยการแลกเปลี่ยนสิ่งของ ทว่านับตั้งแต่มีการสร้างสกุลเงินอย่างเป็นทางการครั้งแรก เงินก็กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีพ และยุคบริโภคนิยมทำให้คนในสังคมสะสมคฤหาสน์หลังใหญ่และซื้อรถหรูแทนที่จะใช้เงินเพื่อการกุศล
ในบ้านหลังหนึ่ง เงินอาจถูกใช้เพื่อ ซื้อสร้อยคอเพชรสุดหรูเพื่อรักษาฐานะในสังคม ในขณะที่บ้านอีกหลังหนึ่ง อาจหมายถึงการมีเงินเพียงพอที่จะซื้อของเล่นให้ลูกๆ เพื่อให้เกิดรอยยิ้มในครอบครัว จะเห็นได้ว่าบ้านแต่ละหลังใช้เงินต่างจุดประสงค์กัน และบางทีเงินอาจไม่สามารถทำให้คนที่ครอบครองมันมีความสุขได้โดยตรง แต่สินค้าที่พวกเขาซื้อได้ด้วยเงินนั้นก็อาจเป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดความหลงใหลในเงินตราก็ได้
การเน้นย้ำประโยคที่ว่า ‘เงินซื้อความสุขไม่ได้’ อาจเป็นการบอกให้ผู้คนหยุดหาเงิน ซึ่งถ้าคนในสังคมยังคงเชื่อแบบนั้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนขยายกว้างขึ้นทุกวัน และผู้ที่ถูกเอาเปรียบทางการเงินจะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการหลุดพ้นจากความเครียดเพื่อที่จะสัมผัสถึงความสุขแบบทั่วไป
หากนักปรัชญา นักเขียน และกวีผู้โด่งดังในอดีต ได้มาเกิดในสมัยนี้ พวกเขาอาจมีแนวคิดที่ต่างออกไป และคงไม่มีใครมาพูดว่าเงินไม่สำคัญ ดูได้จากที่บรรดาไลฟ์โค้ช และไอดอลสมัยนี้ ต่างก็เป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่งเหมือนกันหมด ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้นำทางความคิดมักเป็นวณิพกหรือคนติดดิน ที่ใช้ชีวิตแบบไม่หวือหวา
ที่มา : bloomberg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง