SHORT CUT
เงือกไทยเหมือนเงือกฝรั่งหรือไม่ ? ‘พระอภัยมณี’ ได้กับ ‘นางเงือก’ ได้อย่างไร เรื่องสับสนสุดคลาสสิกใน วรรณคดีของสุนทรภู่
นางเงือกเป็น ‘อมนุษย์’ ในเทพนิยายที่เกี่ยวกับท้องทะเลทั่วโลกพบได้ทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา โดยทั่วไปจะมีลักษณะ ท่อนบนเป็นหญิงรูปงาม แต่ท่อนล่างเป็นหางปลา
สำหรับประเทศไทยมีเรื่องเล่าจากนางเงือกอยู่ไม่น้อย แต่เรื่องที่ได้รับความนิยม และทำให้ภาพนางเงือกเป็นที่รู้จักมากที่สุด มาจาก วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325 - 2375) ซึ่งเล่าไว้ว่า พระอภัยมณีได้กับนางเงือก จนกำเนิดเป็น “สุดสาคร” หนึ่งในตัวละครที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดในพระอภัยมณี
ทีนี้ คนที่เคยได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องราวในวรรณคดีของพระอภัยมณี อาจเกิดความสงสัยว่า ‘พระอภัยมณี’ ได้กับ ‘นางเงือก’ ได้อย่างไร? เพราะพระอภัยมณีเป็นมนุษย์ ส่วนนางเงือกมีท่อนล่างเป็นปลา ทำกันอิท่าไหน ถึงออกมาเป็น เด็กชื่อ ‘สุดสาคร’ ได้
แม้ท่านสุนทรภู่จะไม่ได้ทิ้งคำตอบชัดๆ ไว้ และในช่วงที่พระอภัยมณีกับนางเงือกร่วมรักกัน ก็ถูกบรรยายไว้ว่า “อัศจรรย์ครั่นครื้นเป็นคลื่นคลั่ง เพียงจะพังแผ่นผาสุธาไหว กระฉอกฉาดหาดเหวเป็นเปลวไฟ พายุใหญ่เขยื้อนโยกกระโชกพัด…” ซึ่งก็ไม่ได้บอกอะไร นอกจากเป็นการพรรณนาให้สละสลวย
อย่างไรก็ตาม หากเราอ่านเรื่องพระอภัยมณี อย่างละเอียดจะพบว่า ข้อสงสัยนี้มีคำตอบที่เรียบง่าย ซึ่งท่อนหนึ่ง ในวรรณคดีจากตอนที่ 132 บรรยายไว้ว่า
เห็นมัจฉาภาวนาสติตั้งที่ริมฝั่งคงคาชลาสินธุ์
รูปเป็นนางหางเป็นปลาอยู่วาริน นิสงส์ศีลดลพระทัยให้เมตตา
จำจะไปตัดหางปลาศรัทธามากประหลาดหลากกว่าสัตว์หมู่มัจฉา
ให้เป็นคนพ้นลำบากจากคงคาตัดหางปลาเสียให้หมดจะงดงาม…
นอกจากนี้ ช่วงที่ สินสมุทร พี่น้องต่างสายเลือดของสมุดสาคร เห็นนางเงือก ก็มีการบรรยายไว้ว่า “เห็นฝูงเหงือกเกลือกกลิ้งมากลางชล คิดว่าคนมีหางเหมือนอย่างปลา”
และในบทที่ ผีเสื้อสมุทร จะฆ่าเงือก ก็มีการบรรยายไว้ว่า “แล้วนางยักษ์หักขาฉีกสองแขน ไม่หายแค้นฉีกกินสิ้นทั้งคู่”
จากทั้งหมดนี้จึงคาดคะเนได้ว่า เงือกในวรรณคดีของสุนทรภู่ อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากตะวันตก แต่ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด เพราะเงือกไทยท่อนล่างยังมีขาเหมือนคนปกติ แค่มีหางปลาเพิ่มเข้ามาตรงก้นเท่านั้น และพระอภัยมณีก็ได้กับนางเงือก แบบมนุษย์ปกติ ซึ่งทฤษฎีได้รับการยืนยันจากผู้ที่ศึกษาวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี เช่น “เพจเขียนไทย” และ “ครูทอม คำไทย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง