svasdssvasds

โมเดิร์นสยาม มองประวัติศาสตร์ผ่าน “พระอภัยมณี”

โมเดิร์นสยาม มองประวัติศาสตร์ผ่าน “พระอภัยมณี”

มองโลกทัศน์ยุคอาณานิคมผ่าน “พระอภัยมณี” วันที่สยามเริ่มเผชิญกับตะวันตก ในยุคล่าอาณานิคมที่สยามเริ่มวิตกและต้องปรับตัวสะท้อนผ่านวรรณกรรม

SHORT CUT

  • พระอภัยมณีเป็นวรรณคดีที่แต่งโดยสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องราวของตัวเอกคือพระอภัยมณีมีฉากหลังเกี่ยวกับทะเลอันดามัน หรือพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
  • พระอภัยมณีเองยังสะท้อนทัศนะของโลกในยุครัชกาลที่ 2-3 ความเป็นสังคมนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับตะวันตก ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เชื่อมโยงเข้าหากันอย่างใกล้ชิดโดยมีผู้เล่นจากชาติตะวันตกเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย
  • สยามหรือกรุงเทพมหานครเองรับรู้ของการมีอยู่ของตะวันตกในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา พม่า ในวันที่ตะวันตกขยับเข้ามายึดครอง

มองโลกทัศน์ยุคอาณานิคมผ่าน “พระอภัยมณี” วันที่สยามเริ่มเผชิญกับตะวันตก ในยุคล่าอาณานิคมที่สยามเริ่มวิตกและต้องปรับตัวสะท้อนผ่านวรรณกรรม

พระอภัยมณีเป็นวรรณคดีสุดคลาสสิกซึ่งแต่งโดยสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องราวของตัวเอกคือพระอภัยมณีเอง ที่ผจญภัยไปในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งฉากหลังต่างๆ สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลอันดามัน หรือพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

 

และเรื่องพระอภัยมณีเองยังสะท้อนทัศนะของโลกในยุครัชกาลที่ 2-3 ประเด็นสังคมนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับตะวันตก ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เชื่อมโยงเข้าหากันอย่างใกล้ชิดโดยมีผู้เล่นจากชาติตะวันตกเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเป็นการใช้แนวคิดทางการเมืองแบบไทยเข้าสวมให้กับเรื่องราวที่รับรู้เกี่ยวกับชาติตะวันตกอีกด้วย

หากมองลึกลงไปในแง่ของคนแต่งวรรณคดีอย่างสุนทรภู่ อาจเทียบได้ว่าเขาคือคนกลุ่มแรกๆ ที่รับรู้ถึงการเข้ามาของตะวันตกที่มีจุดประสงค์มากกว่าเข้ามาค้าขาย แต่เข้ามาแสวงหาดินแดน นั่นหมายความว่าตัวเขาเอง ย่อมรู้เรื่องการเมือง ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมและภาษาต่างประเทศและเป็นผู้ที่ได้มีโอกาสเห็นโลกกว้างมากกว่าคนอื่นๆ

สังคมนานาชาติ

สันนิษฐานว่าวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีถูกประพันธ์ในรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 เรื่องราวดังกล่าวจึงมีการแต่งขึ้นในขณะที่สยามรับรู้การเข้ามาของตะวันตกมากขึ้น เพราะอดีตจากที่ตะวันตกเข้ามาเพื่อค้าขายแต่ในยุคนั้นตะวันตกเข้ามาแสวงหาดินแดนในภูมิภาคเอเชียมากมาย

เห็นได้จากพระฤๅษีที่อยู่เกาะแก้วพิสดารนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคนที่พูดได้หลายภาษา เพราะมีลูกศิษย์เยอะมาก และที่สำคัญหากจำลองเกาะแก้วพิสดารเข้าไปอยู่ในแผนที่จะพบว่าอยู่ในทะเลอันดามัน ที่อยู่ระหว่าง พม่า อินเดีย ศรีลังกา ไทย รวมถึงมาเลเซีย น่าจะเป็นเกาะที่รองรับผู้คนที่เรือแตกรวมถึงแวะเข้ามาพักอาศัยเพื่อจะสัญจรต่อไป

ขณะเดียวกันนั้นเอง มีตัวละครที่เป็นนางเงือกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตัวนางเงือกนี้เองเป็นตัวละครที่สยามรับอิทธิพลมาจากตะวันตก โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ให้ความเห็นว่า น่าจะรับอิทธิพลเรื่องนางเงือกมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สืบทอดมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะยุคดังกล่าวมีการค้าขายกับต่างชาติและตะวันตกเริ่มมีท่าทีเข้ามาล่าอาณานิคมมากกว่าจะค้าขายแล้ว

วรรณกรรมสะท้อนภูมิรัฐศาสตร์ ณ ขณะนั้น

เราจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของภูมิศาสตร์ผ่านวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีที่แต่งโดยสุนทรภู่ โดยเอาเมืองรัตนา ซึ่งสันนิษฐานว่าคือกรุงเทพมหานคร ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่ากรุงรัตนโกสินทร์เป็นศูนย์กลางของเรื่อง โดยเป็นเมืองของพระบิดาและมารดาของพระอภัยมณี

ต่อมาคือเมืองผลึกที่พระอภัยมณีไปครองนั้น สันนิษฐานว่าคือเมืองถลางหรือเมืองภูเก็ตซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นเมืองของสยาม แต่กระนั้นด้วยอำนาจของสยามที่ไม่สามารถควบคุมได้ตลอดเวลา

เราจะเห็นพระอภัยมณีต้องแต่งงานกับ นางสุวรรณมาลี ถึงจะสามารถครอบครองเมืองดังกล่าวได้และเมืองดังกล่าวน่าจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดเรื่องราวมากมาย และเป็นเมืองที่สามารถค้าและทำการสู้รบในทะเลได้

ซึ่งมีความคล้ายกับเกาะภูเก็ต ที่เป็นเมืองยุทธศาสตร์การค้าและการป้องกันที่สำคัญในทะเลอันดามัน ที่สยามต้องเข้าควบคุม และมีทรัพยากรอย่างทองแดงอยู่เป็นจำนวนมาก

ขณะที่เมืองอื่นๆ อย่างเช่นเมืองลังกาก็คือศรีลังกา เป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญ ถ้าหากมองด้วยภูมิศาสตร์จริงเมืองศรีลังกา ณ ขณะนั้นกลายเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นไปได้ว่าตัวนางละเวงน่าจะเป็นลูกของข้าหลวงอังกฤษ มากกว่าลูกของเจ้าเมืองพื้นถิ่นของศรีลังกา

แนวคิดทางการเมือง

เรื่องพระอภัยมณีนี้เอง ยังเป็นวรรณคดีที่สะท้อนให้เห็นถึง 2 แนวคิดทางการเมืองระหว่างตะวันตกกับสยามที่มาปะทะกันในขณะนั้นอีกด้วย

กล่าวคือบริบทของสยามยุคนั้น ยังมองถึงการเมืองแบบจักรวาลวิทยาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ คือมีอำนาจศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวง และอำนาจจะค่อยๆ ลดหลั่นลงไปตามระยะห่างของเมืองที่ห่างจากศูนย์กลางอำนาจ เห็นได้จากเมืองผลึกที่อยู่ไกลจากกรุงรัตนา ทำให้มีความเป็นอิสระ และเมื่อเทียบกับความเป็นจริงหากสันนิษฐานว่าเมืองผลึกคือภูเก็ตในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เมืองดังกล่าวก็มีอิสระมากในการปกครองมากกว่าที่จะฟังอำนาจจากกรุงเทพมหานคร เพราะในเวลาต่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูประบบราชการให้เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจจึงเริ่มมีการส่งข้าราชการจากศูนย์กลางเข้าไปควบคุมหัวเมืองแทนที่เจ้าเมืองท้องถิ่น เป็นเรื่องที่สะท้อนว่ากรุงเทพมหานครเองรู้ว่าระบบเจ้าเมืองท้องถิ่นมีปัญหาจึงเริ่มหาวิธีควบคุมหัวเมืองด้วยระบบราชการนนั่นเอง

เมื่อมองวิธีการที่ดีที่สุดในโลกทัศน์ของสยามยุคนั้นก่อนมีระบบราชการนอกจากการสงครามแล้ว คือการแต่งงานเชื่อมสัมพันธ์กับเจ้าเมือง ซึ่งพระอภัยมณีแห่งกรุงรัตนาก็แต่งงานกับสุวรรณมาลีเพื่อที่จะได้มาซึ่งเมืองผลึกอีกด้วย

ขณะเดียวกันอำนาจยังขึ้นอยู่กับตัวบุคคลในเรื่องของบารมี เห็นได้จากตัวพระอภัยมณีเองที่มีพลังวิเศษรวมถึงมีลูกๆ อย่างสุดสาครและสินสมุทร ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก ทำให้สามารถครอบครองได้หลายเมือง ซึ่งตรงกับหลักธรรมราชาที่ต้องมีขุนทหารแก้วรอบกายส่งเสริมบารมีส่วนบุคคลด้วย

ขณะที่ตะวันตกนั้นมองการเมืองแตกต่างกันไปแล้วคือมองการเมืองแบบจักรวรรดินิยม เห็นได้จากการเข้าชิงดินแดนผ่านการทูตเรือปืนของเมืองลังกามองเรื่องของเมือง ดินแดน ทรัพยากรที่จะได้มาครอบครองมากกว่าการมองที่บารมีส่วนบุคคล

ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ชิ้นนี้ สะท้อนทั้งเรื่องราวของการเป็นสังคมนานาชาติที่สยามเริ่มรับรู้มากขึ้นแล้ว และเริ่มตระหนักมากขึ้นไม่ได้มองว่าต่างชาติเข้ามาทำการค้าอย่างเดียว แต่มาพร้อมกับการช่วงชิงดินแดน

ขณะเดียวกันยังสะท้อนภูมิรัฐศาสตร์ที่สยามหรือกรุงเทพมหานครเองรับรู้ของการมีอยู่ของตะวันตกในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา พม่า ในวันที่ตะวันตกขยับเข้ามายึดครอง จากครั้งอดีตที่ดินแดนพวกนี้สยามมองว่าเป็น แขก ชวา มลายู ตลอดจนราชวงศ์คองบอง ที่เคยรบกันมา แต่ปัจจุบันกลับเป็นคนผิวจากจากยุโรปเสียแล้ว

และสุดท้ายคือแนวคิดทางการเมืองที่สังคมไทยเสมือนเปิดประตูมาปะทะกับแนวคิดตะวันตกที่เข้ามาล่าอาณานิคมขณะที่สยามยังมีแนวคิดทางการเมืองแบบจักรวาลวิทยา ยึดติดกับบารมีส่วนบุคคล ทำให้เห็นภาวะชะงักชะงันในการมองโลกภายนอก เช่นมองเมืองศรีลังกาว่ามีเจ้าเมืองเป็นเอกเทศ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอาจเป็นเพียงข้าหลวงจากรัฐอาณานิคม

เพราะหากมองบริบทประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาคือยุคพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามต้องปรับตัวเป็นอย่างมากเช่นการนำเข้าหนังสือต่างประเทศ รวมถึงต้องนำครูภาษาอังกฤษมาสอนให้ชนชั้นนำเพื่อเตรียมรับมือกับชาติตะวันตกในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมืองอีกด้วย

อ้างอิง

SilpaMag / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ1 / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ2 /

ข่าวที่เกี่ยวข้อง