SHORT CUT
รู้จักพวก ‘แฟนบอลฮูลิแกน’ กองเชียร์ตัวห้าว นักเลงข้างสนาม ใช้ข้ออ้างเรื่องกีฬาทำร้ายผู้อื่น "บอลจบ แต่คนไม่จบ"
ดูเหมือนการทะเลาะวิวาทข้างสนาม คือเรื่องที่อยู่คู่กับการแข่งขันกีฬามาทุกสมัย อย่างเร็วๆ นี้ ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ระหว่าง ทีมชาติอังกฤษ และ เซอร์เบีย ก็เกิดเหตุแฟนบอลเมืองผู้ดี ตะลุมบอนกับแฟนทีมเซอร์เบีย ก่อนเริ่มเกม จนทำให้กองกำลังตำรวจเยอรมันชาติเจ้าภาพ ต้องเข้ามาห้ามเพื่อไม่ให้บานปลาย
อย่างไรก็ตาม "เรื่องแฟนบอลตีกัน" ไม่ใช้สิ่งเหนือความคาดหมายของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพราะก่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 แฟนบอลจากอังกฤษถูกมองว่า เป็นกลุ่มที่มักก่อความวุ่นวาย รวมถึงตกเป็นเป้าหมายของบรรดากลุ่มกองเชียร์อันธพาลจากทีมชาติอื่นๆ ด้วย
เพราะแฟนบอลอังกฤษมีเสียงเรื่องความรุนแรงมานาน จนมีคำเรียกเฉพาะว่า ‘Hooligan’ หรือ ‘Football Hooliganism’ ซึ่งหมายถึง แฟนกีฬาที่มีพฤติกรรมเกเร ใช้ความรุนแรง และเป็นอันตรายต่อผู้อื่น
คำว่า “Hooligan” มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1894 จากการรายงานของสื่ออังกฤษที่เกี่ยวกับแก๊งอันธพาลที่ชื่อว่า "The Hooligan Boys" ในกรุงลอนดอน ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการก่อความวุ่นวายและใช้ความรุนแรง ซึ่งบางทฤษฎีอ้างว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากนามสกุลของ “แพทริค ฮูลิฮาน (Patrick Hoolihan)” ชาวไอริชที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นหัวขโมยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ทั้งนี้ Hooligan เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 1970-1980 เมื่อถูกใช้เรียกกลุ่มแฟนบอลที่ก่อความรุนแรงในสนามฟุตบอล เพราะในช่วงเวลานั้น เรียกได้ว่าเป็น ยุครุ่งเรืองของฟุตบอลอังกฤษ เนื่องจากสโมสรต่างๆ จากทั่วประเทศ คว้าถ้วยรางวัลจากศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกติดต่อกันหลายสมัย แต่ความรุ่งโรจน์นั้นก็มีภาพถึงกับพฤติกรรมที่น่าอับอายของแฟนบอลอังกฤษรวมอยู่ด้วย
ปัญหานี้ รุนแรงถึงขั้น ช่วงทศวรรษ 1980 มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรตอนนั้น ถึงกลับกล่าวว่า มี 3 ปัญหาสำคัญที่กัดกินประเทศของเธออยู่ ได้แก่ 1.IRA (ชนกลุ่มน้อยชาวไอริช) 2.การประท้วงของคนงานเหมือง และ 3.พวกอันธพาลในเกมฟุตบอล
พวก Hooligan สามารถสร้างความวุ่นวายในเกมฟุตบอลได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาทกับแฟนบอลทีมคู่แข่ง การจุดประทัดก่อกวน การทำลายสิ่งของ ไปจนถึงการข่มขู่ คุกคาม หรือทำร้ายร่างกายผู้เล่นในสนาม ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุใดก็ได้ เช่น เป็นทีมคู่อริที่มีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพัน หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา หรือสีผิว ของแฟนบอลกลุ่มดังกล่าว
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พฤติกรรมแบบ Hooligan ที่มีการบันทึกไว้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ รู้อีกทีก็เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มนักเลงหัวไม้ในสนามฟุตบอลกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในอดีต พวกที่ถูกนิยามว่า Hooligan มักจะตัดผมสกินเฮด และนัดกันมาดูบอลเป็นกลุ่ม ก่อนจะหาจังหวะก่อความวุ่นวาย แต่ปัจจุบันนี้ กลุ่ม Hooligan คือใครก็ได้ที่แต่งตัวทั่วไป
โดยเหตุการณ์ที่ฉาวโฉ่งแห่งวงการฟุตบอลอังกฤษ เกิดขึ้นในปี 1985 ของเกมรอบชิงชนะเลิศถ้วยยุโรป ซึ่งเป็นการแข่งขันของ สโมสรลิเวอร์พูลของอังกฤษ และยูเวนตุสของอิตาลี ซึ่งไม่นานก่อนคิกออฟที่เฮย์เซล สเตเดี้ยม ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กลุ่มแฟนบอลลิเวอร์พูล ได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับแฟนบอลยูเวนตุส อัฒจันทร์ ความวุ่นวายทำให้เกิดเป็นการต่อสู้แบบระยะประชิด ส่งผลให้แฟนบอลเสียชีวิต 39 ราย และได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคนหลังจากนั้น
เหตุการณ์นี้ รู้จักในชื่อ “โศกนาฏกรรมเฮย์เซล” และภายในไม่กี่วัน สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) ได้ออกคำสั่งแบนสโมสรจากอังกฤษทั้งหมดไม่ให้แข่งขันในทวีปนี้เป็นเวลา 5 ปี ส่วนลิเวอร์พูลโดนลงโทษหนักด้วยการแบน 6 ปี และศาลเบลเยียมก็ตัดสินให้ชาวอังกฤษ 14 คน ต้องโทษจำคุก 3 ปีในข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่ได้ตั้งใจ
ช่วงเวลานั้นถือเป็น “ยุคมืด (Dark Age)” ของวงการฟุตบอลอังกฤษอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้จะไม่ได้ไปเล่นในต่างประเทศ แต่ในประเทศยังมีการแข่งขันอยู่ จึงมีการปะทะกันของแฟนบอลท้องถิ่นอยู่เรื่อยๆ จนเป็นภาพจำของวงการฟุตบอลอังกฤษที่ลืมไม่ลง
แต่อย่างไรก็ตาม สโมสรจากอังกฤษได้รับอนุญาตให้เล่นฟุตบอลกับนานาชาติอีกครั้งในปี 1990 ซึ่ง ทีมชาติเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลี และในปี 1991 อีกหนึ่งปีต่อมา แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก็ประสบความสำเร็จในการชูถ้วยยูฟ่าคัพ และหลังจากนั้นไม่นาน วงการฟุตบอลอังกฤษที่มีแต่ชื่อเสียงด้านลบ ก็ รีโนเวทตัวเองใหม่ จนเป็นกีฬาที่ดู “ขาวสะอาด” ภายใต้ชื่อ ‘พรีเมียร์ลีก’ ที่เปิดตัวในปี 1992 ซึ่งถูกนิยามใหม่ว่า เป็นความบันเทิงในครอบครัว
และเมื่อมาตรการรักษาความปลอดภัยพัฒนาขึ้น การติดกล้องวงจรปิด การเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสนาม ไปจนถึงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ช่วยป้องกันความวุ่นวายได้มากขึ้น แต่ความเข้มงวดนี้ก็ทำให้ กลุ่มที่ตั้งใจมาก่อกวนเกมในสนาม หันไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับแฟนบอลคู่อรินอกสนามแทน เช่น ทะเลาะวิวาทกันก่อนเริ่มเกม และหลังจบเกม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ Hooligan ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแฟนบอลอังกฤษอีกต่อไป เพราะหมายถึงแฟนบอลประเทศไหนๆ ก็ตามที่ตั้งใจมาก่อเหตุในสนามฟุตบอลโดยเฉพาะ ซึ่งพวก Hooligan ที่ขึ้นชื่อว่าชอบความรุนแรงไม่แพ้แฟนบอลอังกฤษมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แฟนบอลในประเทศ ตุรกี รัสเซีย สาธารณรัฐเช็ก เซอร์เบียร์ เยอรมนี รวมถึงอีกหลายประเทศในอเมริกาใต้ และเอเชียด้วย
กล่าวคือ ทุกประเทศมี Hooligan เหมือนๆ กันหมด แตกต่างกันที่ความรุนแรงในการก่อเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม คำนี้ก็เป็นที่รู้จักว่า มาจากอังกฤษ และเปรียบเสมือน “โรคร้าย” ของประเทศนี้ไปแล้ว
ที่มา : Sports History
ข่าวที่เกี่ยวข้อง