ผลวิจัยชี้ คนมีพี่น้องเยอะ เสี่ยง 'สุขภาพจิตแย่' กว่าคนที่มีพี่น้องแค่คนเดียว หรือไม่มีเลย สะท้อนครอบครัวใหญ่ไม่ได้อบอุ่นเสมอไป
ครอบครัวใหญ่ไม่ได้อบอุ่นเสมอไป เพราะเมื่อไม่นานมานี้ การวิจัยของ “มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (Ohio State University)” เผยว่า เด็กจากครอบครัวใหญ่ มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า เด็กที่มาจากครอบครัวเล็กอย่างเห็นได้ชัด
โดยในช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา “ดั๊ก ดาวนีย์ (Doug Downey)” นักศึกษาปริญญาเอกด้านสังคมวิทยาที่รัฐโอไฮโอ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย จากการสำรวจข้อมูลของเด็กนักเรียนชั้นประถมเกรด 8 (อายุ 14 ปี) ในสหรัฐอเมริกากว่า 9,100 คน และนักเรียนในระดับชั้นเดียวกันของประเทศจีนอีก 9,400 คน ซึ่งเด็กนักเรียนจีนกลุ่มตัวอย่างนี้มีพี่น้องเฉลี่ยน้อยกว่า เด็กนักเรียนจากสหรัฐ เนื่องด้วยนโยบายลูกคนเดียวของจีน
จึงทำให้เด็กนักเรียนจีนกลุ่มตัวอย่างกว่า 34 % เป็นลูกคนเดียว ส่วนเด็กนักเรียนในสหรัฐมีแค่ 12.6% ที่เป็นลูกคนเดียว ซึ่งทีมวิจัยจะถามคำถามเด็กนักเรียนเหล่านั้นตามบริบทของประเทศ เพื่อประเมินปัญหาสุขภาพจิตของพวกเขา
ซึ่งผลปรากฏว่า ในประเทศจีนเด็กที่ไม่มีพี่น้องจะมีสุขจะมีสุขภาพจิตดีที่สุด ส่วนในสหรัฐอเมริกา วัยรุ่นที่ไม่มีพี่น้อง หรือมีพี่น้องแค่คนเดียวจะมีสุขภาพจิตใกล้เคียงกัน ซึ่งข้อมูลจากฝั่งสหรัฐฯ ยังเผยว่า การอยู่ร่วมกับพี่น้องแท้ๆ และพี่น้องไม่แท้ ที่มีอายุห่างกันไม่มาก จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีต่อฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือทั้งสองฝั่งเสมอ
ส่วนพี่น้องที่เกิดห่างกันแค่ 1 ปี จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลของดาวนีย์ระบุว่า เป็นเพราะการ “แบ่งสัดส่วนทรัพยากร” เนื่องจากการมีพี่น้องมาก ย่อมหมายถึงการได้รับความเอาใจใส่จากผู้ปกครองน้อยลงนั่นเอง
ดาวนีย์อธิบาย ว่า “เมื่อมีพี่น้องมากขึ้น เด็กแต่ละคนจะได้รับความสนใจและทรัพยากรจากพ่อแม่น้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขา ซึ่งผลกระทบด้านลบจะพุ่งสูงสุดเมื่อพี่น้องอายุใกล้กันมาก และแข่งขันกันแย่งชิงทรัพยากรจากพ่อแม่”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทั้งในสหรัฐอเมริกากับจีนต่างก็สนับสนุนเรื่องนี้ และในสองประเทศ เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง ก็จะทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดีด้วยเหมือนกัน
ดาวนีย์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เรายังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมากเกี่ยวกับผลกระทบของการมีพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกกำลังเผชิญกับอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ จึงทำให้การทำความเข้าใจผลที่ตามมาของการเติบโตโดยมีพี่น้องน้อยลง หรือไม่มีพี่น้องเลย กำลังกลายเป็นประเด็นทางสังคมที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง