svasdssvasds

จิตวิทยาการชอบเลือกนั่งที่เดิมเสมอ พฤติกรรมสะท้อนความหวงอาณาเขตมนุษย์

จิตวิทยาการชอบเลือกนั่งที่เดิมเสมอ พฤติกรรมสะท้อนความหวงอาณาเขตมนุษย์

จิตวิทยาเบื้องหลัง การที่เราชอบนั่งที่เดิมเสมอ พฤติกรรมที่สะท้อนถึงความหวงอาณาเขต และความมั่นใจของมนุษย์

SHORT CUT

  • การชอบนั่งที่เดิมๆ เกี่ยวข้องกับ“จิตวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental psychology)” ที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง
  • จากการสำรวจนักเรียนส่วนใหญ่จะเลือกที่นั่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างอาณาเขตส่วนตัวที่ทำให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ
  • ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกโกรธเวลามีคนพยายามแย่งพื้นที่นั้นไปจากเรา และในหลายๆ ครั้งเหตุการณ์ก็บานปลายไปถึงการทะเลาะวิวาทเพื่อแย่งชิงอาณาเขตเล็กๆ

จิตวิทยาเบื้องหลัง การที่เราชอบนั่งที่เดิมเสมอ พฤติกรรมที่สะท้อนถึงความหวงอาณาเขต และความมั่นใจของมนุษย์

เคยสังเกตไหมว่า เรามักหงุดหงิดทุกครั้งเวลามีคนมานั่งในที่ประจำของเรา ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ตัวเดิมในห้องประชุม เก้าอี้ตัวเดิมในห้องเรียน เก้าอี้เบาะมุมโปรดในโรงหนัง ไปจนถึงเก้าอี้ตัวเดิมในมุมที่เรานั่งประจำของโต๊ะกินข้าวที่บ้าน

ความรู้สึกแบบนี้ไม่ใช่แค่เราที่เป็น เพราะไม่ว่าใครๆ ก็สามารถเกิดอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงได้ทั้งนั้น หากโดนพรากมุมโปรดไปต่อหน้าต่อตา

เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “จิตวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental psychology) ” ที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง เนื่องจากความต้องการนั่งเก้าอี้ตัวเดิม หรือชอบนั่งในมุมประจำของนั้น คือ พฤติกรรมที่แสดงออกถึง "อาณาเขต" ของมนุษย์ และเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการจัดระเบียบพื้นที่ในครอบครอง เพื่อบอกว่า “ตรงนี้คือพื้นที่ของฉัน”

จิตวิทยาการชอบเลือกนั่งที่เดิมเสมอ พฤติกรรมสะท้อนความหวงอาณาเขตมนุษย์

ในระดับประเทศ อาณาเขตคือพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งอาจกลายเป็นเงื่อนไขของการทำสงครามรุกรานดินแดน และสงครามป้องกันประเทศ ดั่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ส่วนในกรณีระดับบุคคล อย่างนักเรียนในห้องเรียน อาณาเขต อาจเป็นแค่โต๊ะเรียนตัวเดิมหลังห้องที่แอบคุยกับเพื่อนได้สะดวก หรือโต๊ะเรียนติดกับหน้าต่างที่มีวิวสวยที่สุดในห้องก็ได้ และการได้นั่งในมุมที่คาดหวัง หรือคุ้นเคยจะทำให้นักเรียนคนนั้นพึงพอใจ มากกว่าต้องไปนั่งในจุดที่ไม่คุ้นเคย

เราชอบนั่งที่เดิมเพราะรู้สึกสบายใจ 

ในปี 2018 “โรเบิร์ต กิฟฟอร์ด (Robert Gifford)” ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการศึกษาสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ได้ใช้เวลากว่า 4 สัปดาห์ ตั้งกล้องแอบถ่ายโดยไม่ให้ใครรู้ไว้ในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยสองแห่ง ที่มีนักศึกษา 47 คน และ 31 คนตามลำดับ

โดยการศึกษานี้ เริ่มในช่วงที่มหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียนได้ไม่นาน เพราะกิฟฟอร์ดต้องการสังเกตการเลือกที่นั่งของนักศึกษาใหม่ที่ยังไม่ได้สนิทกับใคร นอกจากนั้นเขายังกำหนดให้ห้องเรียนมีที่นั่งมากกว่าจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียน เพื่อให้นักศึกษามีอิสระในการเลือกที่นั่งมากเป็นพิเศษ โดยไม่มีใครมากดดัน และดูผลลัพธ์ที่ออกมา

จิตวิทยาเบื้องหลัง การที่เราชอบนั่งที่เดิมเสมอ พฤติกรรมที่สะท้อนถึงความหวงอาณาเขต และความมั่นใจของมนุษย์

สิ่งที่ กิฟฟอร์ดพบคือ นักเรียนส่วนใหญ่จะเลือกที่นั่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ในการเรียนแต่ละคลาส ซึ่งพฤติกรรมของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างอาณาเขตส่วนตัวที่ทำให้รู้สึกสบายใจ นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้นักศึกษาบางคนจะถูกแย่งที่นั่งประจำในบางวัน แต่เมื่อถึงวันถัดไป นักศึกษาคนนั้น ก็จะกลับมานั่งมุมเดิมเสมอหากเก้าอี้ตรงนั้นว่าง

กิฟฟอร์ดสรุปว่า การเลือกนั่งเก้าอี้ตัวเดิมในมุมประจำ ช่วยให้นักศึกษาควบคุมสภาพแวดล้อมของตนเองได้ รวมถึงเกิดความมั่นใจในการเรียน และการทำกิจกรรมส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการสำรวจนี้ สอดคล้องกับงานของ “แองจี้ บัคลีย์ (Angie Bukley)” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอวกาศนานาชาติ (The International Space University) ที่ทำการสำรวจว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ชอบนั่งในมุมประจำมากแค่ไหนเช่นกัน

โดยบัคลีย์ทำการศึกษาที่นั่งของนักศึกษาในห้องบรรยายสองห้อง เป็นเวลา 19 วัน และ 44 วันตามลำดับ โดยตั้งกล้องไว้ในจุดที่ไม่มีใครมองเห็น ซึ่งผลปรากฏว่านักศึกษาเริ่มแสดงอาณาเขต โดยการมีที่นั่งประจำ ตั้งแต่วันที่สองของการบรรยาย และเมื่อสิ้นสุดเดือนแรก นักศึกษามากกว่าครึ่งหนึ่งยังคงนั่งที่เดิมทุกครั้ง

นั่งมุมเดิมช่วยให้มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ดี

นั่งมุมเดิมช่วยให้มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาเลือกที่นั่งในมุมเดิมๆ นั้น “ราล์ฟ บี. เทย์เลอร์ (Ralph B. Taylor)” ผู้เขียนหนังสือ “Human Territorial Functioning” กล่าวเอาไว้ว่า การสร้างอาณาเขต หรือพื้นที่ส่วนตัว สามารถช่วยให้นักศึกษาหลีกเลี่ยงการถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยได้ หรือพูดให้ชัดคือไม่ต้องเสียพลังงานทางจิตใจไปกับการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ จึงทำให้พวกเขามีสมาธิสำหรับบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่นสามารถฟังบรรยายที่กำลังดำเนินอยู่โดยมีแต่ความสบายใจ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การนั่งอยู่ที่เดิมๆ ในทุกชั่วโมงเรียน จะช่วยให้เราสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ที่สุด

แต่ถ้าหากไปนั่งที่ใหม่ที่อยู่หลังห้อง หรือมุมอับก็อาจต้องใช้พลังในการฟัง และพลังในการสังเกตเนื้อหาที่เรียนมากกว่าเดิมนั่นเอง

ดังนั้น จึงสมเหตุสมผลที่ หากคนที่ตั้งใจเรียนจะเลือกนั่งข้างหน้า และคนที่ไม่ตั้งใจเรียนจะเลือกนั่งข้างหลัง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความหวงอาณาเขต และความมั่นใจของมนุษย์ของมนุษย์

ในกรณีอื่นๆ อย่างที่นั่งในร้านกาแฟ ที่นั่งในโรงหนัง หรือแม้แต่การเลือกที่นั่งในออฟฟิศก็เช่นกัน เพราะมนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบสร้างนิสัยประจำ และมักมีความไม่พอใจหากไม่ได้สิ่งนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกโกรธเวลามีคนพยายามแย่งพื้นที่นั้นไปจากเรา และในหลายๆ ครั้งเหตุการณ์ก็บานปลายไปถึงการทะเลาะวิวาทเพื่อแย่งชิงอาณาเขตเล็กๆ มุมอ่านหนังสือในร้านกาแฟ หรือมุมโปรดในที่ทำงานอีกด้วย

 

ข่าวที่เกียวข้อง 

 

 

related