svasdssvasds

อากาศมันร้อน แต่หัวร้อนกว่า! เมื่อ ‘ฤดูร้อน’ กระตุ้นให้คนทะเลาะกันง่ายขึ้น

อากาศมันร้อน แต่หัวร้อนกว่า! เมื่อ ‘ฤดูร้อน’ กระตุ้นให้คนทะเลาะกันง่ายขึ้น

อุณหภูมิสูงกับอารมณ์ขี้หงุดหงิดของมนุษย์ มีความสัมพันธ์กัน และในหลายๆ ครั้งอารมณ์ที่เดือดไม่แพ้อุณหภูมินอกร่างกายนั้นก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมเลวร้ายกว่าเดิมได้

SHORT CUT

  • แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างเรือนจำ ก็มีเหตุทะเลาะวิวาทของผู้ต้องขังสูงขึ้นถึง 18% ในช่วงที่อากาศร้อนจัด
  • อุณหภูมิไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของความก้าวร้าว แต่เป็นตัวเร่ง หรือในภาษาคณิตศาสตร์ คือ “ตัวคูณ” ที่ทำให้อารมณ์ร้อนขึ้น 
  • อากาศร้อนอาจไม่ได้ทำให้ทุกคนแสดงความก้าวร้าวออกมาเหมือนกัน แต่ที่แน่นอนคือทำให้คนเกิดความหงุดหงิดภายในใจ

อุณหภูมิสูงกับอารมณ์ขี้หงุดหงิดของมนุษย์ มีความสัมพันธ์กัน และในหลายๆ ครั้งอารมณ์ที่เดือดไม่แพ้อุณหภูมินอกร่างกายนั้นก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมเลวร้ายกว่าเดิมได้

มีใครเป็นเหมือนกันไหม? เวลาอยู่ท่ามกลางแดดร้อนๆ แล้วมีเหงื่อไหลออกมามากๆ จะรู้สึกหงุดหงิดง่าย และอยากระเบิดอารมณ์ออกมามากกว่าปกติ หากคุณรู้สึกแบบนั้น โปรดจำไว้ว่าคุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เพราะในช่วงฤดูร้อนแบบนี้ ใครๆ ก็หัวร้อนง่ายกว่าเดิมไม่ต่างจากคุณ

มีการศึกษาของต่างประเทศในปี 2021 พบว่า แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างเรือนจำ ก็มีเหตุทะเลาะวิวาทของผู้ต้องขังสูงขึ้นถึง 18% ในช่วงที่อากาศร้อนจัด นอกจากนั้นการต้องใช้ชีวิตประจำวันในช่วงที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติ จะส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชมีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าปกติอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยเมื่อปี 2020 จาก National Bureau of Economic Research (NBER) ของสหรัฐอเมริกา ยังเผยว่าหลายคนคนโกรธและโวยวายมากขึ้นเมื่อพวกเขารู้สึกร้อน โดยสังเกตได้จากการทดลองให้นักศึกษา 2,000 คนในแคลิฟอร์เนียและเคนยาเล่นเกมในห้องที่มีอุณหภูมิต่างกัน ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้ที่กำลังเล่นวิดีโอเกมในห้องที่มีอุณหภูมิสูง จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับคู่ต่อสู้มากกว่าที่เล่นเกมอยู่ ในห้องที่มีอุณหภูมิปานกลางอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม “เอียน โบลลิเกอร์ (Ian Bolliger)” ผู้ทำการวิจัย ตั้งข้อสังเกตว่า อุณหภูมิเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ผู้คนก้าวร้าว แต่สถานการณ์อื่นๆ รอบตัวอาจเป็นสาเหตุร่วมด้วย เพราะการทดลองนี้ เริ่มทำในช่วงที่เคนยามีการเลือกตั้งพอดี และประชาชนก็มีความไม่พอใจในผลการเลือกตั้งอย่างยิ่ง ทำให้กลุ่มตัวอย่างที่เล่นเกมในห้องมีอุณหภูมิสูงแสดงความก้าวร้าวมากกว่าปกติ

อากาศมันร้อน แต่หัวร้อนกว่า! เมื่อ ‘ฤดูร้อน’ กระตุ้นให้คนทะเลาะกันง่ายขึ้น

แต่ในทางกลับกัน กลุ่มที่เล่นเกมอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวใดๆ แม้จะถูกบังคับให้เล่มในห้องที่ร้อนกว่าปกติก็ตาม

นั่นจึงทำให้ โบลลิเกอร์สรุปว่าอุณหภูมิไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของความก้าวร้าว แต่เป็นตัวเร่ง หรือในภาษาคณิตศาสตร์ คือ “ตัวคูณ” ดังนั้นผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อน มีโอกาสที่จะแสดงความไม่พอใจออกมา ง่ายกว่าคนในประเทศเขตหนาว

นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยในปี 2016 ของมหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) ที่เผยว่า ยิ่งร้อนมากเท่าไหร่ นักอเมริกันฟุตบอล ในหลีก NFL ก็มีแนวโน้มชอบทำผิดกฎเพิ่มมากขึ้นด้วย

อากาศร้อนทำให้ร่างกายเสียสมดุล 

อุณหภูมิสูงกับอารมณ์ขี้หงุดหงิดของมนุษย์ มีความสัมพันธ์กันโดยตรง

อย่างไรก็ตามการศึกษาเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้จริงๆ ว่าทำไมความร้อนถึงทำให้ผู้คนก้าวร้าวมากขึ้น และทำให้พวกเขามีประพฤติไม่ดี แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มีทฤษฎีของพวกเขา

“โจเซฟ ทาเลียร์ซิโอ (Joseph Taliercio)” นักวิจัยจาก “Cognitive and Behavioral Consultants” เชื่อว่า เมื่ออยู่ท่ามกลางอากาศร้อน ร่างกายอาจทำงานผิดปกติในการป้องกันความก้าวร้าวที่ออกมาจากข้างใน เพราะร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อทำให้ตัวเองเย็นลง ละบางส่วนอาจมาจากสมองส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุด นั่นคือ เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ที่ช่วยให้ผู้คนควบคุมตนเองได้

โดยร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อทำให้ตัวเองเย็นลง และบางส่วนอาจมาจากสมองส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุด นั่นก็คือ เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ที่ช่วยให้ผู้คนควบคุมตนเองได้ ซึ่งโดยปกติแล้วส่วนนี้จะถูกปิดการทำงานเมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์ และอาจนำไปสู่พฤติกรรมหุนหันพลันแล่นเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนั้น ความร้อนยังทำให้ร่างกายเหงื่อออกและสูญเสียสารอาหาร ซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลสุขภาพจิตของเรา เปรียบเสมือน เรากำลังพยายามเดินเครื่องจักรโดยใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ถูกต้อง หรือขับรถไปข้างหน้าโดยใช้เชื้อเพลิงผิดชนิดนั่งเอง

อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจ มาจาก “ซูซาน เยียร์กิ (Susan Yeargin) ” ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนและพฤติกรรมในฐานะรองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายที่ “มหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนา” (University of South Carolina) ที่กล่าวว่า ร่างกายจะถ่ายเลือดไปที่ผิวหนังเพื่อช่วยระบายความร้อน ซึ่งเป็นการดึงพลังงานออกไปจากสมองด้วย และอะไรก็ตามที่อยู่ห่างจากสภาวะสมดุล จะส่งผลให้ไม่มีความสุขและตอบสนองออกมาอย่างผิดปกติ เช่นมีอาการภาวะลมแดด หรือความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ที่จะทำให้เราตัดสินใจในหลายๆ เรื่องโดยปราศจากการไตร่ตรอง

มาถึงตรงนี้จึงสรุปได้ว่า อากาศร้อนอาจไม่ได้ทำให้ทุกคนแสดงความก้าวร้าวออกมาเหมือนกัน แต่ที่แน่นอนคือทำให้คนเกิดความหงุดหงิดภายในใจได้ แต่จะแสดงอาการออกมาหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของแต่ละคน

แต่เมื่อโลกของเราอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นผลมาจากความรุนแรงของภาวะโลกร้อน ความน่าเป็นห่วงคืออาจมีคนหัวร้อนเพิ่มขึ้นตามมาก็ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related