ทำไมใครๆ ก็ชอบฟังข้อคิด-คำคมจากคนรวย สมองหลอกให้เราเชื่อพวกเขาได้อย่างไร และเราควรฟังบรรดาไลฟ์โค้ชหรือไม่?
เคยสังเกตไหมว่า เวลาคนทั่วไปหรือคนใกล้ตัวพูดคำคมง่ายๆ อย่าง “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ให้ฟัง เรากลับรู้สึกเฉยๆ และไม่ใส่ใจฟังเท่าใดนัก แต่ในทางกลับกันหากประโยคเดียวกันนั้น มาจากปากคนรวย หรือคนที่ดูมีความน่าเชื่อถือ เรากลับมองว่ามันทรงพลัง และอยากปฏิบัติตามตามแทบจะในทันที ทั้งที่มันก็เป็นประโยคเดียวกันแท้ๆ
เรื่องนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าคำคมหรือข้อคิดชีวิตที่คนอยากฟังนั้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสาระหรือเนื้อหาที่พูด แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูดมันออกมามากกว่า ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะธรรมชาติของคนเรามักเชื่อฟังคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มากกว่าคนที่ล้มเหลวอยู่แล้ว
แต่คำถามคือ ทำไมเราถึงชอบฟังคนรวยหรือคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้น และอะไรที่ทำให้เรามีแนวโน้มจะเชื่อถือคำคมและข้อคิดชีวิตที่มาจากพวกเขา โดยไม่ตั้งคำถามใด ทั้งๆ ที่เราก็รู้จักพวกเขาจากแค่ฉากหน้าเท่านั้น
เหตุผลเป็นเพราะพวกเขาเก่งจริง หรือแค่สมองหลอกให้เราคิดแบบนั้น ทีม SPRINGNEWS จะพาทุกคนมาหาคำตอบเรื่องนี้กัน
ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีแนวโน้มเป็นแบบนั้น บางที 3 เหตุผลนี้อาจไขข้อสงสัยได้
ย้อนกลับไปในปี 2558 “โดนัลด์ ทรัมป์” สามารถเอาชนะเพื่อนร่วมพรรครีพับลิกัน อย่าง “เท็ด ครูซ (Ted Cruz)” และ “เจบ บุช (Jeb Bush)” ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า แล้วก้าวขึ้นมาเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนสามารถเอาชนะคู่แข่งอย่าง “ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Diane Rodham Clinton)” จาก พรรคเดโมแครต จนได้ครองทำเนียบขาวในที่สุด เพียงเพราะเขาหาเสียงว่าจะสร้างงานและสนับสนุนเศรษฐกิจให้ประเทศ ทั้งๆ ที่ตัวเองนั้นไร้ประสบการณ์ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง
ส่วนในปี 2563 อดีตซีอีโอของ Starbucks “ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ (Howard Schultz)” ก็ได้ทวีตข้อความว่า เขากำลัง “พิจารณาอย่างจริงจัง” เพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะผู้สมัครอิสระ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เหมือนกับทรัมป์ตรงที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองอะไรเลย จะมีก็แต่ ความเป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด รวมถึงมีเงินและชื่อเสียงมากพอที่จะใช้หาเสียงระดับประเทศได้เท่านั้นเอง
ทว่าทั้ง “ทรัมป์” และ “ชูลท์ซ” ก็ได้รับความสนใจจาก สำนักข่าวต่างๆ และ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว และพวกเขามีแนวโน้มเชื่อถือในสิ่งที่ทั้งสองคนหาเสียงไว้ ซึ่งความน่าสนใจคือเหตุใดผู้คนถึงเชื่อใจคนที่ไม่มีประสบการณ์ได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะหากคนคนนั้นมีชื่อเสียงและร่ำรวยมหาศาล
คำตอบของคำถามนั้น “ดร.เพกกี้ ซู โลรอซ (Peggy Sue Loroz) ” นักจิตวิทยาผู้บริโภคและศาสตราจารย์ด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัย Gonzaga ในสหรัฐฯ กล่าวว่า มีหลักสำคัญ 3 ประการที่อธิบายกรณีนี้ได้
1. Halo effect หรือ “เอฟเฟกต์รัศมี”
คือการ ประเมินผลการปฏิบัติงาน ตราสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ในลักษณะเชิงบวกเพียงประการเดียว. เช่นเวลาเราเห็นคนคนนี้ดูดีในมุมใดมุมหนึ่งมากๆ เราจะเชื่อว่ามุมอื่นๆ ของเขาจะต้องดีเหมือนกัน เพราะเมื่อเรามีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับใครสักคน สมองของเราจะเพิ่มข้อมูลในช่องว่างนั้นอย่างรวดเร็วเพื่อพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ของคนคนนั้น
พูดแบบชัดๆ คือ ถ้าเรารู้ว่าคนคนนั้นประสบความสำเร็จ เราอาจคิดว่าเขาต้องฉลาด มีความยุติธรรม และรอบรู้ทุกด้าน (ซึ่งมักไม่เป็นความจริง)
2. Mere Exposure Effect หรือ “แค่เจอก็ชอบแล้ว”
คือปรากฏการที่ทำให้เราชอบคนคนหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากความคุ้นเคย หรือความสม่ำเสมอก็ได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักการตลาดมักใช้เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับแบรนด์ เช่นโฆษณาให้เห็นสินค้าบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเกิดความชอบของสินค้านั้นแบบอัตโนมัติ
ส่วนในกรณีที่เป็นบุคคล อย่าง “ทรัมป์” หรือ “ชูลท์ซ” ที่มีคนชื่นชอบมากมายได้นั้น เป็นเพราะมีคนรู้จักคุ้นเคยกับพวกเขา มากกว่าคู่แข่งทางการเมืองคนอื่นๆ และสมองก็ชอบโน้มน้าวให้เราเชื่อในพวกเขาเพียงเพราะเรารู้จักคนคนนี้ และสบายใจมากกว่า โดยมองข้ามเหตุอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย
3. Fundamental Attribution Error หรือ “ตัดสินคนอื่นจากบุคลิกและภาพลักษณ์ของเขา”
เราทุกคนมักมีข้อผิดพลาดในการมองที่มาที่ไปขั้นพื้นฐาน เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จของบุคคลนั้น เช่นเรามักมองว่าที่ชีวิตของไลฟ์โค้ชประสบความสำเร็จ เพราะเขาทำอย่างที่ตัวเองพูดแบบ 100 % โดยลืมไปว่าเขาอาจมีปัจจัยอื่นเข้ามาช่วยด้วย เช่นเขาอาจเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่แล้ว หรือเขามีเส้นสายที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมากก็ได้ ส่วนสิ่งที่เขานำมาแนะนำคนอื่นนั้น ก็อาจไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด และเป็นเพียงแค่การสร้างภาพลักษณ์ทางธุรกิจของเขาเท่านั้นเอง
สิ่งที่แย่คือ บรรดาแฟนคลับของไลฟ์โค้ชหรือคนดังทั้งหลายนั้น ไม่เพียงแต่คิดว่าพวกเขามีความน่าเชื่อถือ เพราะ “Halo effect” และ “Mere Exposure Effect” ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ยิ่งส่งเสริมให้พวกเขา ตัดสินคนแบบห่างไกลจากความเป็นจริงเข้าไปอีก
ซึ่งการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontier in Psychology เปิดเผยว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อใจผู้อื่น เพียงเพราะพวกเขาสวยหล่อ หุ่นดี และมีเงิน ซึ่งเป็นเสน่ห์ตามสมัยนิยม ในทางกลับกันผู้คนมีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อคนที่ดู “น่าเกลียด” หรือ “ไม่น่าดึงดูด” ซึ่งมักถูกมองในแง่ลบ มากกว่าคนที่ดูดีตามสมัยนิยม
โชคดีที่มนุษย์เราไม่ใช่สิ่งที่ชักจูงง่ายขนาดนั้น เพราะจากการศึกษาของ ดร.เพกกี้ ซู โลรอซ เผยว่า คนที่มีความชัดเจนในแนวทางชีวิตตัวเอง และมีการประเมินอย่างรอบคอบอยู่ตลอดเวลา ต่อให้พวกเขาจะฟังข้อคิดกับคำคมชีวิตจากคนอื่นสักเท่าไหร่ พวกเขาก็ไม่คล้อยตามโดยง่ายแน่นอน
แต่ในทางกลับกัน คนที่มองอะไรแบบผิวเผินเหมือนตัวอย่าง 3 ประการข้างต้น มักถูกชักจูงได้ง่ายกว่ามาก ซึ่งงานวิจัย “On the reception and detection of pseudo-profound bullshit” ในปี 2558 มีการเผยว่า ผู้ที่เชื่อแต่ “คำคม” หรือ “ประโยคสวยหรู” มักมีไหวพริบสู้คนทั่วไปไม่ได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้บอกว่าการฟัง ไลฟ์โค้ช หรือฟังประสบการณ์จากคนรวยนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เพราะมีหลายกรณีที่พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้จริง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และควรพิจารณาเป็นทางเลือกหนึ่ง หากเรามีความต้องการใช้บริการจากพวกเขาจริงๆ
แต่อย่างไรก็ตาม เราควรพิจารณาให้ดีก่อนที่จะเชื่อคำพูดจากใคร เพราะประโยคสวยหรูไม่ว่าใครก็สร้างได้ แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่า บรรดาไลฟ์โค้ช คนรวย นักการเมือง หรือใครก็ตามที่ดูน่าเชื่อถือเหล่านั้น แท้จริงแล้วพวกเขาประสบความสำเร็จด้วยวิธีไหนกันแน่
แต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดคือ ชีวิตของตัวเองเราเองต่างหาก ว่าจะใช้อย่างไร....