วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น วันทหารผ่านศึก ของไทย (ในต่างประเทศ จะใช้วันที่ 11 พฤศจิกายน หรือที่เรียกว่า Remembrance Day ) และในวันทหารผ่านศึกนั้น ทุกคนจะนึกถึงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วกัน นั่นคือ "ดอกป๊อปปี้"
จากความเป็นมาในอดีต ดอกป๊อปปี้สีแดง เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้ เพื่อรำลึกถึง ทหารที่ต้องสูญเสียชีวิตในช่วงสงครามในวงกว้างทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเครือจักรภพอังกฤษ รวมไปถึงสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร
การขายดอกป๊อปปี้ ก็ถือเป็นกิจกรรมการกุศลที่หลายฝ่ายนิยมเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนให้กับองค์กรสงเคราะห์ทหารผ่านศึกต่างๆ องค์กรกลางที่จะนำไปรายได้ไปบริหารในกิจการเพื่อการสงเคราะห์บรรดาทหาร เจ้าหน้าที่ และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงรูปแบบอื่นๆ
ดอกป๊อปปี้สีแดง จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการเสียสละ ความเอื้อเฟื้อต่อบรรดาทหารที่ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อป้องกันประเทศ
ต้นกำเนิดของ "ดอกป๊อปปี้" ที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ "วันทหารผ่านศึก" เกิดขึ้นเมื่อสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 1 WWI เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 WWI สงบลงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 1918 (พ.ศ. 2461) โดยฝ่ายพันธมิตรเป็นผู้มีชัยในสงคราม จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก เจ้าหน้าที่อาวุโสของอังกฤษ มีความห่วงใยถึงทหารที่ร่วมเป็นร่วมตาย สละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อประเทศชาติ จึงได้ก่อตั้ง "สันนิบาตสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นในอังกฤษ และถือเอาวันที่ 11 พ.ย. เป็น "วันระลึกทหารผ่านศึก" เพราะตรงกับวันสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ปิดฉากลงไป
จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก ได้มีความคิดอีกว่าควรจะได้มีสัญญลักษณ์ร่วม เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงทหารจากไปในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในที่สุดจึงตัดสินใจใช้ "ดอกป๊อปปี้สีแดง" เป็นสัญญลักษณ์ของทหารผ่านศึกทั่วประเทศอังกฤษ เพราะในทางสากลแล้ว ดอกป๊อปปี้สื่อความหมายถึง "ทหารผ่านศึกผู้พลีเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องมาตุภูมิอันเป็นที่รัก"
จากนั้นในปีถัดมา ก็เริ่มมีการประดิษฐ์ดอกป๊อปปี้ออกมาขายใน "วันทหารผ่านศึก" เพื่อขอรับการสนับสนุนจากประชาชน โดยเงินรายได้ทั้งหมดนำไปเป็นทุนช่วยเหลือสงเคราะห์ทหารผ่านศึก วันทหารผ่านศึกจึงถูกเรียกอีกอย่างว่า “วันป๊อปปี้” (POPPY DAY)
สำหรับ ไทยนั้น เริ่มต้นมาจาก 3 กุมภาพันธ์ 2491 : “วันทหารผ่านศึก” และเป็นวันก่อตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก , ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 WWII ไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมทำการรบในสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อสิ้นสุดสงครามทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรบถูกปลดประจำการโดยกระทันหัน ส่งผลให้ตัวทหารและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการครองชีพเป็นอย่างยิ่ง , รัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกฯ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมพิจารณา ดำเนินการช่วยเหลือ
จากนั้น รมว.กลาโหม จึงได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุน" (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการทหารสูงสุด) เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนจากงบประมาณของกระทรวงกลาโหมจำนวนหนึ่ง เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกนอกประจำการเหล่านั้น ต่อมารัฐบาลจึงจัดตั้ง "องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นเป็นหน่วยงานถาวร ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง
ในปี 2510 องค์การทหารผ่านศึกได้ปรับเปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว และได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 57 ปัจจุบันมีทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ ที่ต้องให้การสงเคราะห์ รวมมากกว่า 3,000,000 คน ,และหลังจากนั้น มี การจัดทำดอกป๊อปปี้เพื่อจำหน่ายในวันทหารผ่านศึกเกิดจากดำริของ ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือ มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหาร และครอบครัวทหารผ่านศึก ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ จึงได้เลือกเอาดอกป๊อปปี้สีแดง ซึ่งมีประวัติเกี่ยวโยงถึง สมรภูมิฟลานเดอร์ส สมรภูมิเบลเยียม และ เนเธอร์แลนด์ ระหว่างสัมพันธมิตร และเยอรมัน ใน สงครามโลกครั้งที่ 1
แน่นอนว่าการรับรู้ของคนทั่วไป การติด "ดอกป๊อปปี้" มันคือการแสดง การรำลึกถึงทหารที่เคยทำหน้าที่เพื่อประเทศ แต่ก็มี องค์กรใหญ่ๆของโลก ไม่เห็นด้วยกับการ "แสดงเชิงสัญลักษณ์" แบบนี้ อาทิ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA ฟีฟ่า สั่งปรับเงิน 4 ชาติจากสหราชอาณาจักรประกอบด้วย ทีมชาติอังกฤษ, ทีมชาติสกอตแลนด์, ทีมชาติเวลส์ และ ทีมชาติไอร์แลนด์เหนือ จากกรณีที่ติด ดอกป๊อปปี้ลงทำการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎของทางฟีฟ่า
ก่อนหน้านี้ทางฟีฟ่าได้แถลงการณ์ออกมาเตือนว่าห้ามชาติใดก็ตามติดดอกป๊อปปี้ลงสนามแข่งขัน เพราะเข้าข่ายแสดงท่าทีทางการเมือง ซึ่งตามกฎแล้วห้ามนำสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และ ศาสนา มาติดไว้บนชุดแข่งขันแต่สุดท้ายสี่ชาติที่ถูกปรับไม่ให้ความร่วมมือด้วยโดยให้เหตุผลว่าต้องการติดดอกป๊อปปี้เพื่อรำลึกในวันทหารผ่านศึก
ในช่วงปี 2010 ในช่วงวันทหารผ่านศึกของอังกฤษตอนนั้นนั้น เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ในขณะนั้นก็ออกมากล่าวว่า การตัดสินใจของฟีฟ่าเป็นเรื่อง “งี่เง่า” หรือเจ้าชายวิลเลียมเองก็ทรงยื่นเรื่องไปยังฟีฟ่าโดยตรงเพื่อชี้แจงว่า ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์สากลของการรำลึกถึงผู้จากไป โดยไม่มีนัยสื่อถึงการเมือง ศาสนา หรือการค้าแต่อย่างใด*
แต่หากมองย้อนกลับไปถึงต้นตอของการใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลัษณ์ของทหารผ่านศึก ก็น่าจะทำให้หลายคนเข้าใจได้ว่า ทำไมความกังวลของฟีฟ่า ไม่ใช่เรื่อง “งี่เง่า” อย่างที่ชาวอังกฤษบางคนกล่าวหา เพราะมันสามารถมองเป็นเหลี่ยมมุมที่ว่า การติดดอก "ป๊อปปี้" เป็นการสนับสนุนสงคราม , และ วัฒนธรรมการใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึกจะมีแต่ในกลุ่มชาติที่ได้รับชัยชนะเท่านั้น
ในบางความคิดเห็น อาจมองได้ว่า “ดอกป๊อปปี้” มันได้กลายเป็นมาเป็นปมความขัดแย้งทางการเมืองเสียเอง ระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านสงคราม กับฝ่ายที่สนับสนุนกองทัพอย่างสุดขั้วโดยใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความจงรักภักดีและ "ให้ใจ" ต่อกองทัพ และที่สำคัญก็คือมันคือตัวอย่างหนึ่งที่ดอกป๊อปปี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการทำสงครามในปัจจุบัน
ที่มา dailymail.co.uk
ข่าวที่เกี่ยวข้อง