1 ธ.ค. ของทุกปี ตรงกับวันเอดส์โลก ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าเป็นวันสำคัญเพื่อใช้รำลึก สนับสนุน แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันต่อเราและผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์ วันนี้จึงชวนสำรวจชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า ผู้อุทิศชีวิตเพื่อโรคเอดส์
“ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครคิด
เราสามารถจับมือ โอบกอด และสัมผัสร่างกายของพวกเขาได้
เราสามารถอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกับพวกเขาได้
หรือแม้แต่การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นเดียวกันกับพวกเขา เราก็ทำได้”
วันที่ 1 ธันวาคม นอกจากจะบอกให้เรารู้ว่าได้เริ่มเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี องค์กรอนามัยโลก (WHO) ยังได้กำหนดให้วันนี้เป็น วันเอดส์โลก (World AIDS Day) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1988 เพื่อเริ่มสร้างความตระหนักรู้ การสนับสนุน และการโอบรับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV แถมยังย้ำเตือนว่า โรคนี้ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน
เรื่องราวที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นฉากทัศน์ใหญ่ ๆ ของเจ้าหญิงจากเกาะอังกฤษคนหนึ่ง ที่ภายใต้รสขมของชีวิต เธอยังมีเรื่องอื่น ๆ ให้เราได้แหวกว่ายไปสำรวจด้วย เธอคนนั้นคือ “ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์” ผู้พลิกมายาคติของคนในสังคมของสาธารณชนที่มีต่อโรคเอดส์ด้วยการจับมือ
“แม้แต่ผู้คนที่โบสถ์ ก็คงไม่มีใครอยากจับมือกับผม” Ryan White
จุดเริ่มต้นของการติดเชื้อ HIV ไม่แน่ชัดนัก เก่าสุดที่มีการบันทึกไว้คือ ชายคองโก ในปี 1959 ทว่าไม่สามารถทราบรายละเอียดเรื่องอาการ และการเสียชีวิตโดยรายละเอียด
ในช่วงปลายทศวรรษ 1980s คือยุคสมัยที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV อย่างหนักหน่วง จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ตั้งแต่ปี 1981 ถึง 1990 พุ่งสูงถึง 100,777 ราย เหตุที่การแพร่ระบาดครั้งนี้ดำเนินไปแบบไม่มีการหยุดยั้งก็เพราะ ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่มากเพียงพอ
แถมการรักษาพยาบาล หรือการคิดค้นยาต้านไวรัสก็ยังไม่ได้รับการพัฒนา เพราะการแพร่ระบาดเกิดขึ้นไวมาก และยังเป็นเรื่องใหม่ในยุคสมัยนั้น นอกจากนี้กลุ่มคนที่กลายเป็นกระโถนของสังคมในเรื่องนี้เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “เกย์”
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ และแสดงอาการออกมา มนุษย์ผู้นั้นจะกลายเป็นขยะน่ารังเกียจในทันที ผู้คนไม่เข้าใกล้ เพราะเชื้อฝังหัวกันว่า หากไปสัมผัสโดนตัวของผู้ป่วยจะได้รับเชื้อ HIV มา เรื่องราวของ Ryan White อธิบายภาพของสถานการ์โรคเอดส์ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
ในปี 1982 CDC ได้ประกาศว่าการแพร่ระบาดของ AIDS ได้ลุกลามไปยัง 15 ประเทศทั่วโลกแล้ว ทำให้คนในสังคมตระหนกเข้าไปใหญ่ ความเกลียดชังเพิ่มมากขึ้น แถมมีการเรียกกันว่า “โรคเกย์” (Gay Disease)
ไดอาน่า ในยุคที่เชื้อ HIV แพร่ระบาดเธอเข้าพิธีอภิเษกสมรส และมีบุตรแล้ว 2 คน แม้เราจะทราบกันดีว่า ชีวิตรักของเธอและเจ้าฟ้าชายชาลส์ในขณะนั้น กำลังละหองละแหงกัน แต่เธอก็ยังเดินหน้าทำโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ HIVและผู้ป่วยโรคเอดส์ยังหนักแน่น
มีคนสังเกตว่า ไดอาน่าคือสมาชิกของราชวงศ์อังกฤษเพียงคนเดียว ที่ไปคลุกคลีกับผู้ป่วยในยุคสมัยที่ ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV กำลังหนาหู แต่เธอรู้ดีว่า เชื้อ HIV ไม่สามารถติดผ่านการสัมผัสได้ เธอจึงได้ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ
ในปี 1987 โรงพยาบาลมิลเดิลเซ็กซ์ (Middlesex Hospital) ในสหราชอาณาจักรได้จัดงานเปิดวอดใหม่เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์ ทางโรงพยาบาลเล็งเห็นว่าไดอาน่าเป็นสตรีผู้ให้ความสำคัญและไม่รังเกียจเดียจฉานต่อผู้ป่วย จึงได้ส่งจดหมายเชิญไปยังไดอาน่า
มีเรื่องเล่าว่าบรรดาเลขาส่วนตัว พยายามบอกปัดและล็อบบี้กันทุกวิถีทางเพื่อไม่อยากให้ไดอาน่าเดินทางไปร่วมงานนี้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะทันทีที่ไดอาน่าทราบเรื่องจดหมายเชิญ เธอก็ตอบตกลงไปอย่างทันควัน
แม้ในใจจะกังวลอยู่ก็ตาม แต่เธอตัดสินใจแล้วว่า เธอต้องใช้โอกาสนี้เพื่อส่งสัญญาณออกไปให้สังคมได้รับรู้ว่า การใกล้ชิด สัมผัสต่อผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์ ไม่ได้อันตรายอะไร
ในงานวันนั้น มีสำนักข่าวหลายสำนัก ตบเท้ามารอเก็บภาพเธอเต็มหน้าโรงพยาบาล เพราะหากเราติดตามชีวิตของไดอาน่ากันมาบ้างก็พอจะรู้ว่า ไม่ว่าเธอจะทำอะไรก็จะอยู่ในสายตาสื่อตลอดเวลา แล้วยิ่งมาเยือนโรงพยาบาลรักษาโรคติดต่อเช่นนี้ หากคิดในมุมของสื่อ เหตุการณ์นี้ถือเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ
มิเพียงเข้าร่วมงาน ไดอาน่าเดินไล่จับมือกับผู้ป่วยชายโดยไม่สวมใส่ถุงมือ จึงเป็นที่มาของการจับมืออันลือลั่น ช่วยคนในรูปด้านบนชื่อว่า Ivan Cohen วัย 32 กะรัต ผู้ป่วยรายนี้ตกลงว่าจะยอมถ่ายรูปด้วย แต่มีข้อแม้ว่าต้องถ่ายจากด้านหลัง
ทันทีที่ไดอาน่ายื่นมือออกไปสัมผัสกับผู้ป่วย ช่างภาพก็ลั่นชัตเตอร์ และรายงานการทลายเส้นครั้งนี้ไปทั่วโลก เรื่องราวจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ระบุว่า ไดอาน่าแสดงความเห็นอกเห็นใจ พร้อมจับมือผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายอย่างมั่นใจ
ไดอาน่า ในฐานะเจ้าหญิงแห่งเวลส์ เธอใช้ยศฐา ชื่อเสียง การรุมตอมของสื่อได้อย่างชาญฉลาด เธอพินิจแล้วว่า การที่เธอออกไปทำโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้มากมายมหาศาล
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องเอดส์ก็เพิ่มมากขึ้นในสังคม ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์ มิใช่สิ่งแปลกประหลาดของสังคมอีกต่อไป พวกเขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตได้เฉกเช่นคนปกติ
ตลอดชีวิตอันแสนสั้น ไดอาน่าเดินสายร่วมงานตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้กำลังใจกับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์อยู่เป็นประจำ เธอมิเพียงไปแต่ในนาม เธอเข้าไปคลุกคลี กอด พูดคุย สัมผัสตัวอย่างเป็นกันเอง ซึ่งถามตามตรงว่าในยุคนั้นใครจะทำ อย่างน้อยก็มี 'ไดอาน่า' หนึ่งคน
ทว่า การตีตราเกิดขึ้นแล้ว มิสามารถลบล้างได้ ความเกลียดชังต่อผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์ยังคงมีอยู่ในสังคม จะมากจะน้อยก็ถือว่ายังมีอยู่ จะเป็นเรื่องของพวกเราทุกคนในการออกมาร่วมรณรงค์ส่งเสียงให้กับพวกเขาเหล่านั้นได้ยินว่า เรายืนเคียงข้างพวกเขา เช่นเดียวกันกับ “ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์”
ที่มา: tatler
เนื้อหาที่น่าสนใจ