SHORT CUT
‘May 18’ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์ ‘สังหารหมู่ในเมืองกวางจู (Gwangju Uprising) ’ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980
เมื่อการประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้น ทหารถูกส่งเข้ามาเพื่อปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม มีประชาชนประมาณ 150 คนถูกยิงเสียชีวิต
มีประโยคหนึ่งของตัวหนังที่คนทั่วโลกควรค่าแก่การจดจำไว้ นั่นคือ “สิ่งที่มีอำนาจกว่าปืน คือประชาชน”
May 18 พฤษภาทมิฬเกาหลี ยุคมืดหม่นก่อนมีประชาธิปไตย วันที่ทหารยิงประชาชนของพวกเขา ประชาชนต้องจ่ายราคาอิสรภาพด้วยชีวิต
ความวุ่นวาย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2024 ที่ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้ ได้ประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างถึงภัยคุกคามจาก "กองกำลังต่อต้านรัฐ" และเกาหลีเหนือ ได้สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนในประเทศอย่างยิ่ง เพราะเป็นการประกาศกฎอัยการศึกเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปีกันเลยทีเดียว
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้นึกถึง ความไม่สงบในอดีต เพราะของกว่าเกาหลีใต้จะมี ประชาธิปไตยได้นั้น ต้องผ่าน ความท้าทายมานับครั้ง ไม่ถ้วน ในบทความนี้ SPRiNG จึงขอชวนดู ภาพยนตร์ ‘May 18’ ที่กล้าตีแผ่ความจริงว่า ครั้งหนึ่ง ในประเทศแห่งนี้ เผด็จการทหารเคยสั่งฆ่าประชาชนมาแล้ว
‘May 18’ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์ ‘สังหารหมู่ในเมืองกวางจู (Gwangju Uprising) ’ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนในเกาหลีใต้รวมตัวกันประท้วงต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการของรัฐบาลทหาร ของนายพลชอนดูฮวาน โดยจะเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักคือ มิน-อู (รับบทโดย คิม ซัง-คยอง) คนขับแท็กซี่ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับน้องชาย จิน-อู (รับบทโดย อี จุน-กี) ซึ่งเป็นนักศึกษา มิน-อูมีความรักกับพยาบาลสาว ชิน-แอ (รับบทโดย อี โย-วอน) ที่เขาพยายามจะชักชวนไปออกเดต
เมื่อการประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้น ทหารถูกส่งเข้ามาเพื่อปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม มิน-อูต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบตัว ขณะที่จิน-อูและเพื่อนนักเรียนเริ่มรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม เมื่อจิน-อูถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้ามิน-อู ความโกรธและความเจ็บปวดทำให้มิน-อูต้องเข้าร่วมกับประชาชนในการต่อสู้เพื่อปกป้องคนที่เขารักและเรียกร้องสิทธิของตนเอง
‘May 18’ จะเล่าเรื่องตามจริง ในวันที่เกิดเรื่องราวนั้นขึ้นจริงๆ แต่ด้วยความที่หนังใช้ตัวละครสมมุติขึ้นเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นเป็นจำนวนมาก จึงอาจทำให้หนังมีความดราม่าและความโรแมนติกที่ดูไม่จำเป็น แต่ถ้าผู้ที่สนใจการเมืองเกาหลี อยากดูไว้เป็นความรู้ก็ถือว่าควรดูอย่างยิ่ง เพราะหนังได้เล่าเหตุการณ์จริงแทรกเอาไว้เพื่อทำให้คนดูเข้าใจภาพการเมืองของเกาหลีในเวลานั้น ที่ยังไม่ใกล้เคียงคำว่าประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย
ส่วนที่หนังทำได้ยอดเยี่ยม คือการ ชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ของประชาชนเพื่อสิทธิและเสรีภาพ การนำเสนอฉากที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด เช่น เสียงปืนและเสียงกรีดร้องของผู้คน ขณะเดียวกันก็มีฉากที่แสดงถึงความหวังและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในช่วงเวลาที่มืดมน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของเรื่อง ‘May 18’ คือการชี้ให้เห็นว่า ประชาชนชาวเกาหลีใต้หวงแหนเสรีภาพของตัวเองยิ่งกว่าอะไรในชีวิต จนถึงขั้นเอาชีวิตตัวเองออกไปต่อสู้ และล้มตาย และหนังช่วยเตือนให้เราเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเลือดและน้ำตาไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้ถูกลืม แต่เพื่อเตือนใจถึงราคาของเสรีภาพและความยุติธรรมที่กว่าจะได้มามันต้องจ่ายด้วยชีวิต !
มีประโยคหนึ่งของตัวหนังที่คนทั่วโลกควรค่าแก่การจดจำไว้ นั่นคือ “สิ่งที่มีอำนาจกว่าปืน คือประชาชน”
ส่วนเหตุการณ์กวางจู ตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 18 ถึง 27 พฤษภาคม 1980 รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตแตกต่างกันไป แต่มีประมาณ 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกทหารยิงจนเสียชีวิต และมีผู้บาดรวมกันหลายพัน ทำให้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมการเมืองที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลี
หลังการปรายปรามประชาชนและนักศึกษาเสร็จสิ้น นายพลชอนดูฮวาน ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเนื่องอีก 2 สมัยช่วงปี 1980-1988 จนกระทั่งเมื่อเขาลงจากอำนาจ รัฐบาลพลเรือนในปี 1996 จึงนำคดีสังหารหมู่กวางจูมาสืบสวนใหม่ นายพลชอนดูฮวาน ต้องกลับมาขึ้นศาล และถูกตัดสินประหารชีวิตในปีนั้น และจำคุกนายพลที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 10 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง