SHORT CUT
แนะนำหนังที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน้าค้นหา ‘มันดาลา’ หรือ ที่เอาตำนาน ท้าวปาจิตกับนางอรพิม’ แห่งเมืองพิมาย มาเล่าแบบร่วมสมัย
เมื่อกล่าวถึง ‘เมืองพิมาย’ คนไทยโดยเฉพาะคนโคราช จะทราบกันดีว่าที่แห่งนี้ เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ‘ปราสาทหินพิมาย’ ซึ่งเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีอายุเก่าแก่เกือบ 2,000 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 16
เมื่อย้อนดู เอกสารในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310) ‘ปาจิตกุมารกลอนอ่าน’ จะพบว่า ‘ตำนานเมืองพิมาย’ ที่โด่งดังคือ ‘ตำนานท้าวปาจิตอรพิม’ ที่รู้จักอย่างแพร่หลายในภาคอีสาน และมีความสำคัญต่อการอธิบายชื่อบ้านนามเมืองของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองพิมาย
ตำนานที่น่าสนใจนี้เองที่ได้ปลุกความสนใจ พสธร วัชรพาณิชย์ ผู้กำกับหน้าใหม่ อายุ 25 ปี ที่มีความผูกพันกับเมืองพิมายตั้งแต่เกิด จึงได้เริ่มผลิตภาพยนตร์ ‘มันดาลา’ หรือ ‘Rivulet of Universe’ โดยภาพยนตร์นี้มีการถ่ายทำในพื้นที่เมืองพิมายเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศและประวัติศาสตร์ของ จนได้รับเลือก ไปฉายใน International Film Festival Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่ง (BIFF) ในปีนี้อีกด้วย
ตำนานเล่าว่า ท้าวปาจิตกับนางอรพิม เป็นเรื่องราวความรักที่มีพื้นฐานมาจากนิทานพื้นบ้านของเมืองพิมาย โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระปาจิต ซึ่งเป็นโอรสของพระมหาธรรมราชกษัตริย์แห่งเมืองพรหมพันธุนคร เมื่อเขาเติบโตขึ้นและต้องการหาคู่ครอง โหรทำนายว่าคู่ของเขายังไม่เกิด แต่จะเป็นหญิงที่มีบุญวาสนาอย่างยิ่ง
ท้าวปาจิตก็ออกตามหา จนไปพบนางบัว ชาวบ้านสัมฤทธิ์ยังมีครรภ์อยู่ และคิดว่าจะคลอดบุตรสาวตามที่โหรได้ทายไว้ จึงอาสาฝากตัวเป็นคนใช้ ครั้นนางบัวคลอดบุตรเป็นหญิงมีลักษณะดี ให้ชื่อว่า ‘นางอรพิม’ ก็ช่วยนางบัวเลี้ยงดูจนเป็นสาว รูปโฉมงดงามมาก ท้าวปาจิตลากลับบ้านเมืองเพื่อจัดขันหมากมาสู่ขอตามประเพณี พอขันหมากมาถึงบ้านนางอรพิม ก็ทราบว่าท้าวพรหมทัตมาลักตัวนางอรพิมไปเสียแล้ว ก็เสียพระทัยเลยโยนขันหมากทิ้งน้ำเสียหมด ลำน้ำนั้นต่อมาคือ ลำปลายมาศท้าวปาจิตได้แฝงกายเข้าไปในปราสาทท้าวพรหมทัตและได้ทำอุบายท้าวพรหมทัตเสียเสีย พานางอรพิมหลบหนีออกมาได้
เมื่อตำนานเชื่อมโยงกับสถานที่และโบราณวัตถุ จากเรื่องเล่านำมาผูกโยงกับสถานที่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นถ้ำเป็ดทอง เขาปลายบัด บ้านนางเหริญ บ้านนางรำ บ้านตำแย บ้านจารย์ตำรา บ้านถนน บ้านสนุ่น บ้านท่าหลวง บ้านสัมฤทธิ์ บ้านปะเต็ล บ้านทุบจาน ตำบลกงรถ อำเภอลำปลายมาศ อำเภอนางรอง และอำเภอพิมาย
โดยในอำเภอพิมายนั้น ตำนานท้าวปาจิตนางอรพิม ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับโบราณสถานเมรุพรหมทัต และปรางค์พรหมทัต นอกจากนี้จากการพบโบราณวัตถุเป็นรูปประติมากรรมสององค์คล้ายรูปบุรุษและสตรี บ้างก็ว่าเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระนางชัยราชเทวี บ้างก็ว่าเป็นประติมากรรมเทวบุรุษและเทวสตรี แต่จากการค้นพบประติมากรรมทั้งสอง ตำนานท้าวปาจิตและนางอรพิมถูกหยิบโยงและถูกยกให้เป็นประติมากรรม "ท้าวปาจิต และ นางอรพิม" ของชาวพิมายจนถึงปัจจุบัน
ใน ‘มันดาลา' คุณ พสธร ดัดแปลงแฝงปรัญชาเบื้องหลังปราสาทพิมายไว้ให้ร่วมสมัยมากขึ้น โดยเล่าเรื่องของ ชายหนุ่มชาวกัมพูชาที่มีสัมผัสพิเศษ สามารถรับรู้การเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เขาได้พบกับ "พิม" สาวอีสานที่อาศัยอยู่ในเมืองพิมาย และ "ทัต" อีก 2 ตัวละครสำคัญ ที่จะพาเราทุกคนไปสัมผัสกับความลึกลับ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การเปิดเผยความลับที่ซ่อนอยู่ในเวลาและสถานที่
นอกจาก 3 ตัวละครข้างต้นที่เป็นภาพแทนของคนเก่าที่ยังยึดติดกับตำนาน เรายังได้ติดตามตัวละครที่เป็นวัยรุ่นกำลังค้นหาตัวเอง และกำลังต้องการหนีจากตำนานอันเก่าแก่ของคนรุ่นหลัง จึงเหมือนใจความสำคัญของเรื่อง คือการปะทะกันระหว่างความคิดของทั้งสองกลุ่ม แต่ไม่ได้มานั่งถกเถียงกัน ท่าต่างฝ่ายต่างออกเดินทางในเส้นทางขงตัวเอง โดยที่มีเมืองพิมายอันเก่าแก่เป็นฉากหลัง หากใครชอบการเล่าเรื่องสไตล์ ผู้กำกับ ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ก็จะชอบเรื่อง มันดาลา ของ “พสธร วัชรพาณิชย์” แน่นอน
‘มันดาลา' ถูกรับเลือกมาฉายในเทศกาล World Film Festival of Bangkok 2024 ซึ่งฉายรอบเดียวไม่ฉายซ้ำ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจ สามารถติดตาม ‘มันดาลา' ในเทศกาลหนังอื่นๆ ได้ที่ Facebook Punmore Studio
ข่าวที่เกี่ยวข้อง