10 ประเด็นที่ควรรู้ จากหนัง “Oppenheimer” ออปเพนไฮม์เมอร์ ชีวิตอันซับซ้อน - ความเข้มข้นการแข่งขันฟิสิกส์ - บิดาแห่งระเบิดปรมาณู - และสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพยนตร์ Oppenheimer ออปเพนไฮม์เมอร์ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากฝีมือการกำกับของคริสโตเฟอร์ โนแลน , ถือถึงแม้ว่าจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่สหรัฐฯ จะชนกับภาพยนต์ “บาร์บี้” จากผู้กำกับเกรตา เกอร์วิก ในวันเดียวกัน และทำให้ผู้คนตบเท้าเดินขบวนแห่ตีตั๋วไปชมภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก และภาพยนตร์ต่างขั้ว ต่างสีทั้งสองเรื่องนี้ นำไปสู่วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการฮอลลีวูด จนได้เกิดปรากฏการณ์ 'Barbenheimer' ซึ่งนั่นคือการเอา 2 คำมารวมกัน ได้แก่ Oppenheimer และ Barbie
สำหรับ ปรากฏการณ์ Barbenheimer หรือ "บาร์เบนไฮม์เมอร์" จนถึงตอนนี้ถือว่า ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ด้วยกันทั้งคู่ โดย บาร์บี้ Barbie ร้อนแรงไม่เกรงใจใครครองอันดับ 1 หนังทำเงินสหรัฐฯ ด้วยรายได้ 93 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ 2 ที่เข้าฉาย หลังจากเปิดตัวด้วยรายได้ 162 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์แรกในตลาดหนังแถบอเมริกาเหนือ ซึ่งถึงแม้ยอดจำหน่ายตั๋ว บาร์บี้ จะร่วงลงราว 43% ในสัปดาห์ที่ 2 แต่ด้วยกระแสรายได้เฉลี่ยวันละ 20 ล้านดอลลาร์ในตลาดหนังอเมริกาและแคนาดา คาดกันว่าหนังบาร์บี้เตรียมขึ้นแท่นภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดในฤดูร้อนปีนี้แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ออปเพนไฮเมอร์ Oppenheimer จากฝีมือผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน ยังครองอันดับ 2 ในสัปดาห์นี้ ด้วยรายได้ 46.2 ล้านดอลลาร์ โดยยอดขายตั๋วหนังลดลงเพียง 44% ขณะที่รายได้รวมทั่วโลกทะลุ 400 ล้านดอลลาร์ไปแบบสบายๆ และถือเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ของโนแลน
โดย หนัง Oppenheimer ออปเพนไฮม์เมอร์ รายได้รวมทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 395.4 ล้านเหรียญ รายได้ดังกล่าวแซงหน้าผลงานหลายเรื่องของโนแลนก่อนหน้านี้อย่างรวดเร็ว จากการฉายเพียง 10 วันเท่านั้น รวมถึงภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์อย่าง ‘Batman Begins'(2005) และ ‘Tenet’ (2020) มาอยู่ที่อันดับที่ 6 ของภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลกสูงสุดของโนแลน ณ ปัจจุบันี้
.
อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จของ “Oppenheimer” ออปเพนไฮม์เมอร์ , SPRiNG จึงอยากชวนเจาะลึกเกร็ดความรู้ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ รวมถึง ประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ และ การันตีตรงนี้เลยว่า ใครที่ยังไม่ได้ดูในโรงภาพยนตร์ ควรรับชม เพราะงานอาร์ท งานศิลปะของโนแลนนั้น สร้างมาเพื่อประสาทสัมผัสและการรับอรรถรสต่างๆในโรงฯ และนั่นจะทำให้เข้าใจแก่นสารของหนัง “Oppenheimer” ออปเพนไฮม์เมอร์ ได้ดีขึ้น
1. ภาพยนตร์ Oppenheimer ออปเพนไฮม์เมอร์ จะเล่าเรื่อง เป็น 3 เหตุการณ์ 3 ไทม์ไลน์ใหญ่ๆ เล่าไปพร้อมๆกัน 1. เรื่องราวการสอบสวนล่าแม่มดในยุคของ วุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy) ที่ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (แสดงโดย คิลเลียน เมอร์ฟี – Cillian Murphy) ถูกสอบสวนในข้อกล่าวหาที่เข้าไปพัวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังก่อตัว
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ต้องรับหน้าที่เป็นตัวหลักในการรวมมันสมองนักวิทยาศาสตร์ รวมนักฟิสิกส์ หรือให้เห็นภาพชัดๆ คือ ทีมอเวนเจอร์แห่งวิทยาศาสตร์ เพื่อคิดค้นระเบิดนิวเคลียร์เพื่อเอาชนะกองทัพนาซี เยอรมันที่กำลังเรืองอำนาจ ภายใต้การควบคุมของ พันเอกเลสลีย์ โกรฟ (แสดงโดย แมตต์ เดมอน – Matt Damon) โดยชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ต้องเกี่ยวพันผู้หญิง 2 คน ได้แก่ คิตตี้ ออปเพนไฮเมอร์ (เอมิลี บลันต์ – Emily Blunt) ภรรยาตามกฎหมายและ จีน แทตล็อก (ฟลอเรนซ์ พิว – Florence Pugh) ชู้สาวที่เขาเจอเธอที่พรรคคอมมิวนิสต์ เส้นเรื่องของชีวิตส่วนตัวของ เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮม์เมอร์ ก็น่าสนใจมากๆ
และอีกหนึ่งไทม์ไลน์ นั่นคือการไต่สวน ลูอิส สเตราส์ (แสดงโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ – Robert Downey Jr.) อดีตผู้อำนวยการสถาบันพลังงานปรมาณูที่อยู่ระหว่างการสอบคุณสมบัติเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีในยุคสมัยของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) โดยคณะกรรมการสอบสวนกำลังถามถึงความภักดีของออปเพนไฮเมอร์ที่มีต่อประเทศชาติ
2. สำหรับความสัมพันธ์ของตัวละคร อย่าง จีน แทตล็อก และ ออปเพนไฮม์เมอร์นั้น กลายเป็นประเด็นอันร้อนแรงและจุดชนวนความขัดแย้งในอินเดีย เพราะ ภาพยนตร์เรื่อง "Oppenheimer" กำลังถูกโจมตีจากชาวฮินดูอย่างหนัก และกลายเป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ในอินเดีย โดยเฉพาะชาวฮินดูหลายคนบอกว่า รวมถึงกลุ่ม Save Culture Save India Foundation จะแบน จะบอยคอตต์ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว หลังไม่พอใจที่มีฉากหนึ่งในหนัง นักแสดงนำอย่างคิลเลียน เมอร์ฟี และฟลอเรนซ์ พิวจ์ มีการเปล่งประโยคหนึ่งจากคัมภีร์ภควัทคีตา ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ก่อนจะเป็นฉากร่วมรักกัน
3. อย่างที่ทราบกันดีว่า ออปเพนไฮม์เมอร์ คือ บิดาแห่งอตอมมิก บอมบ์ หรือ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู , แต่ในหนังนั้น แม้จะผ่านพ้นช่วงเวลา ทดลองระเบิดอย่างลุ้นระทึกไปแล้ว แต่ต้องบอกเลยว่า ในส่วนขององก์สุดท้ายของภาพยนตร์ Oppenheimer ออปเพนไฮม์เมอร์ อัดแน่นด้วยมวลอารมณ์อย่างล้นทะลัก เพราะนอกจากความลุ้นระทึก ของตัวละครต่างๆ ความตื่นตะลึงกับงานภาพของ ฮอยต์ ฟาน โฮยเตอมา (Hoyte Van Hoytema) ผู้กำกับภาพคู่หูผู้รู้ใจของโนแลนแล้ว มันยังผสมผสานความรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ ของชีวิตออปเพนไฮเมอร์เข้ากับความสิ้นหวังของมนุษยชาติอีกด้วย
4. สำหรับ ออปเพนไฮเมอร์ ในชีวิตจริง , มีความเป็นอัจฉริยะผู้รู้รอบและเก่งสารพัดไปทุกด้านหรือ “โพลีแมท” (polymath) โดยนอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญฟิสิกส์เชิงทฤษฎีแล้ว เขายังมีความรู้ทางมนุษยศาสตร์และเข้าใจภาษาต่างประเทศถึง 6 ภาษา รวมถึงภาษากรีกและภาษาสันสกฤตด้วย และ ถ้อยคำจาก “ภควัทคีตา” หนึ่งในคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ก็ถูกใส่เอาไว้ใน เลิฟซีน อันร้อนแรง “บัดนี้เราคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลกทั้งมวล” (Now I am become Death, the destroyer of worlds)
5. อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ ออปเพนไฮเมอร์ จะมีชีวิตอยู่บนเส้นศีลธรรมต่อไปอย่างไร ในเมื่อเขาคือ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู และคร่าชีวิตคนญี่ปุ่นตายนับแสน ?
อย่างไรก็ตาม หากมองในมุม ฮินดู ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ออปเพนไฮม์เมอร์ ให้ความสนใจ ออปเพนไฮเมอร์ เปรียบเทียบเรื่องนี้ (เรื่องการคิดระเบิดอตอมมิก บอมบ์ หรือ ระเบิดปรมาณูทำลายล้าง) กับการปฏิบัติหน้าที่ หรือ “ธรรมะ” ตามที่พระกฤษณะกล่าวสอนอรชุนในสนามรบ เพื่อให้สามารถหักใจเข้าทำสงครามประหัตประหารญาติของตนเองที่เป็นฝ่ายอธรรม
ออปเพนไฮเมอร์เคยกล่าวไว้ว่า “เพื่อโน้มน้าวใจให้อรชุนลงมือปฏิบัติตามหน้าที่ของตน พระกฤษณะทรงแสดงวิศวรูป หรือร่างแท้จริงระดับจักรวาลของพระเป็นเจ้าที่มีหลายเศียรหลายกร พร้อมกับตรัสว่า ‘บัดนี้เราคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลกทั้งมวล’ ผมว่าเราควรจะมีความคิดที่คล้อยตามแนวทางนี้”
ส่วน คิลเลี่ยน เมอร์ฟี่ นักแสดงนำ ผู้รับบท ออปเพนไฮเมอร์ แสดงความเห็นว่า “ผมคิดว่าประโยคนี้เป็นเหมือนการปลอบโยนตัวเขา (ออปเพนไฮเมอร์) เพราะเขาเหมือนต้องการสิ่งนี้ และประโยคนี้ช่วยปลอบโยนเขา ตลอดชีวิตของเขา”
6. อย่างไรก็ตาม หลังการทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 (ทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่า 6 ส.ค. 1945 และ ทิ้งปรมาณูที่นางาซากิ 9 ส.ค. 1945 ) ภรรยาของ ออปเพนไฮเมอร์ได้เปิดเผยต่อเพื่อน ๆ ของเธอทางจดหมายว่า ออปเพนไฮเมอร์สามีของเธอมีภาวะซึมเศร้าและจมดิ่งลงสู่ห้วงของความสำนึกเสียใจอย่างลึกซึ้ง หลังจากได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุสลดครั้งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แม้ภายนอกเขาจะดูสงบนิ่งและมีอารมณ์เป็นปกติก็ตาม
7. เหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณู ใส่ฮิโรชิม่า และ นางาซากิ , ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 200,000 คน แต่ในทางกลับกัน มันก็ช่วยให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงทันทีอย่างที่ออปเพนไฮเมอร์คาดการณ์ไว้ , แล้วแบบนี้ เขาคืออาญชากรผู้ฆ่าคนนับแสน ? หรือว่า เป็นนักฟิสิกส์แห่งสันติภาพที่หยุดสงครามกันแน่ ?
8 . รู้หรือไม่ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ เรื่อง ออปเพนไฮเมอร์ , โกดัก (Kodak) ในฐานะผู้ผลิตฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ และ ไอแม็กซ์ (IMAX) เจ้าของอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพยนตร์ต้องคิดค้นทั้งฟิล์มและเลนส์ขึ้นใหม่ให้ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของเขาได้อย่างเต็มที่ เพราะโกดัก ต้องทำฟิล์ม iMAX ขาว-ดำ มาให้โนแลนสร้างหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดย ใครที่ได้ดู หนัง ‘Oppenheimer’ คงสังเกตเห็นการแบ่งยุคสมัยของเรื่องราวและมุมมองการเล่าเรื่องโดยใช้สีภาพ ในฝั่งของออปเพนไฮเมอร์เขาจะใช้ภาพสีโดยเรียกมันว่า ‘Fission’ หรือการแตกตัวของอะตอม ส่วนในฝั่งของสตรอส์ (ตัวละครของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ – Robert Downey Junior) จะใช้ภาพขาวดำโดยเรียกเรื่องราวในส่วนนี้ด้วยธีม ‘Fusion’ หรือการหลอมรวมของอะตอม
9. ในช่วง ตุลาคม 1945 หลังการทิ้งระเบิดใส่ญี่ปุ่นไปแค่ 2 เดือน , ออปเพนไฮเมอร์เริ่มส่งข้อความที่อัดแน่นในใจถึงผู้มีอำนาจของประเทศ และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสาธารณชนหลายครั้งว่า เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายความมั่นคงใหม่ (ณ ตอนนั้น) ที่เน้นป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพากลยุทธ์สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว เขาชี้ว่าระเบิดปรมาณูนั้นไม่ใช่อาวุธสำหรับผู้มุ่งป้องกันตนเอง แต่เป็นอาวุธของผู้รุกรานและผู้ก่อการร้าย ซึ่งสหรัฐฯ ควรจะหาหนทางสร้างกลไกควบคุมระหว่างประเทศ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ไปทั่วโลก
ท่าทีของออปเพนไฮเมอร์ที่เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ บวกกับการที่เขาเคยมีประวัติเป็นผู้เห็นอกเห็นใจฝ่ายซ้ายและโลกคอมมิวนิสต์ ทำให้อัจฉริยะผู้นี้เริ่มกลายมาเป็น “ศัตรูของชาติ” ในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยุคนั้น นั่นเอง
10. ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หนัง ออปเพนไฮเมอร์ จากฝีมืออันสุดละเมียดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน , ต้องไปดูในโรงภาพยนตร์ จึงจะรับรสชาติ รับอรรถรส ได้ "เห็นความงามของหนัง" ได้อย่างเต็มหัวใจ ให้สมกับที่มันเป็น ภาพยนตร์แห่งปี 2023