ชวนดูภาพยนตร์แอนิเมชันจากฝรั่งเศส Thermostat 6 ปี 2018 เมื่อคนต่างวัยมองปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างกัน พร้อมวิเคราะห์ความหมายแต่ละฉากและการกระทำของตัวละครอย่างละเอียด
สปริงนิวส์ชวนดูภาพยนตร์แอนิเมชันจากประเทศฝรั่งเศส Thermostat 6 โดย Gobelins ที่ฉายเมื่อปี 2018 ได้รับการรีวิวจาก IMDb 7.3/10 คะแนน ภาพยนตร์สั้นแนวเสียดสีสังคมผ่านสัญญะตัวละครและการกระทำ
เรื่อง Thermostat 6 ว่าด้วยเรื่องของปัญหาความต่างระหว่างวัยและผูกโยงเกี่ยวกับความหมายแฝงในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนแต่ละรุ่นมองปัญหาสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน คำเตือน**บทความนี้มีเนื้อหาสปอยล์เต็มเรื่องนะ
ในวิวัฒนาการของมนุษย์ เมื่อเติบโตมาถึงจุดหนึ่ง จึงมีการแบ่งแยกรุ่น หรือ Generations หลายคนมักคุ้นชิน โดยเฉพาะประเทศไทยในปัจจุบัน ที่เราเรียกคนที่มีอายุ 71 ปีขึ้นไป (ต่ำกว่าปี พ.ศ .2489) ว่าเป็น Builders อายุ 52-70 ปี (พ.ศ. 2489 - 2507) เป็นคนยุค Babyboomers คนอายุ 37-51 ปี (พ.ศ. 2508-2519) เป็นกลุ่มคนเจน x กลุ่มคนอายุ 22-50 ปี (พ.ศ.2520-2537) เป็นคนเจน Y กลุ่มคนอายุ 7-21 (พ.ศ.2538-2552) เป็นคนเจน Z และเด็กรุ่นอายุต่ำกว่า 7 ปี (พ.ศ.2553-2567) เป็นรุ่น Alpha
ในภาพยนตร์ได้สื่อให้เห็นถึงความสนใจของคนแต่ละยุค ผ่านตัวละคร 5 คนที่เป็นตัวแทนของคนแต่ละรุ่น ประกอบไปด้วยคุณตา ตัวแทนของคนยุค Babyboomers พ่อและแม่ เป็นกลุ่มคนเจน x เด็กสาวเป็นตัวแทนของกลุ่มคนเจน Z และลูกชายคนเล็ก ที่เป็นตัวแทนของเด็กรุ่น Alpha
นอกจากนี้นัยของตัวละครยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงผ่านการกระทำของตัวละคร แต่ก่อนที่จะไปดูเฉลยของเรื่องราวทั้งหมด ลองมารับชมตัวภาพยนตร์ก่อนว่า ในบ้านหลังนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง สังเกตเห็นสัญญะแบบไหน โดยที่ยังไม่ได้อ่านสปอยล์
*แนะนำให้เปิดซับไตเติลเป็นภาษาอังกฤษระหว่างรับชม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิกับข้อความส่งต่อเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม
10 อันดับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกังวลมากที่สุด ภาวะโลกร้อน มาเป็นอันดับ 1
หลายประเทศทั่วโลก ผจญ Global Warming ทั้ง "ไฟป่า" "อากาศร้อน" และ "ภัยแล้ง"
WHO วอน ช่วยกันแก้ภาวะโลกร้อน หลังคลื่นความร้อนทำคนตาย เกิน 1,700 คน
คลื่นความร้อนคร่าชีวิตผู้คนได้อย่างไร? ย้อนเหตุการณ์ Paris Heatwave 2003
จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ครอบครัวหนึ่งที่ประกอบไปด้วย คุณตา พ่อ แม่ ลูกสาวและลูกชาย ซึ่งตัวละครเหล่านี้เป็นตัวแทนของคนแต่ละรุ่น มีหนึ่งในคอมเมนต์ที่แสดงความคิดเห็นไว้น่าสนใจว่า บ้าน หมายถึง โลก, แม่ หมายถึง บริโภคนิยม, พ่อหมายถึง ผู้บริโภค, เด็กชาย หมายถึง กลุ่มคนในอนาคต และเด็กสาว คือ นักเรียกร้องหรือนักเคลื่อนไหว ***ต่อไปนี้คือการวิเคราะห์ความหมายของเรื่องราวทั้งหมดและสปอยล์เต็มเรื่อง ถ้าดูและเข้าใจทั้งหมดไม่จำเป็นต้องอ่านความหมายด้านล่างก็ได้นะ
เหตุการณ์
เรื่องราวดำเนินไปท่ามกลางความเบื่อหน่ายของหญิงสาว ที่งงกับพ่อแม่และคุณตาว่า ทำไมไม่มีใครสนใจท่อน้ำที่ทำน้ำหยดลงกลางโต๊ะเลย ในช่วงแรกบทสนทนาเริ่มต้นด้วยผู้เป็นพ่อบ่นว่า ช่วงนี้อากาศร้อนมาก คุณตาก็บอกว่า ช่วงนี้ฤดูกาลก็แปรปรวนไปหมดแบบนี้แหละ นอกจากนี้ผู้เป็นพ่อยังบ่นถึงวอลเปเปอร์ติดผนังบ้านที่มันเริ่มล้าสมัยแล้ว เปลี่ยนดีไหม และคุณตาก็พูดขึ้นมาว่า บอกสามีของเธอด้วยว่า ‘อย่าแตะต้องของในบ้านของฉัน’
ความหมาย
ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า คุณตาเป็นคนขี้หวงและชอบให้สิ่งที่ตัวเองทำมาคงอยู่ตลอดไปอย่างภาคภูมิใจและไม่ว่าอากาศข้างนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ยังเชื่อว่า มันก็แค่ช่วงนี้แหละ เดี๋ยวก็ดีขึ้น
เหตุการณ์
เด็กชายร้องขอพ่อว่า ขอออกไปข้างนอกได้ไหม คุณตาบอกว่า อย่างแรกเลย แกต้องกินให้เยอะ ๆ ให้ตัวโต ๆ และจะได้แข็งแรงเหมือนพ่อ ในระหว่างนั้น หยดน้ำก็หยดลงในถังกลางโต๊ะอาหารเรื่อย ๆ จนเด็กสาวอดไม่ได้พูดขึ้นมาว่า น้ำรั่วตรงนี้ไม่สนใจกันเหรอ คุณตาก็พูดขึ้นมาว่า ก็แค่ 3 หยด ไม่ถึงกับรั่วหรอกน่า! ผู้เป็นพ่อก็ตอบปลอบว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้ซ่อมให้ แม่มาถึงก็บอกว่า กินกันก่อนเถอะ และนำอาหารเข้ามาเพิ่ม เด็กชายตัวน้อยก็ยังคงถามว่า เมื่อไหร่ผมจะได้ออกไปเล่น
ความหมาย
ในช่วงนี้แสดงให้เห็นว่า เด็กสาวมองเห็นปัญหาแล้วและทักถามกับคุณตาไปว่า น้ำรั่วตรงนี้ไม่ซ่อมหรือ เสมือนกับว่าปัญหามันก็หยดลงมาเรื่อย ๆ นะ จะไม่แก้ไขเหรอ คุณตาบอกว่าแค่ 3 หยดมันไม่ถึงขนาดนั้นหรอกก็เปรียบเสมือนว่า ปัญหาแค่ไม่กี่อย่างเอง และผู้เป็นพ่อที่ผลัดวันประกันพรุ่งว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้แก้ให้
เหตุการณ์
จนในที่สุดเด็กสาวทนไม่ไหว ลุกขึ้นและบอกว่า ฉันไม่อยากมีจุดจบแย่ๆในบ้านรั่ว ๆ แบบนี้และก็ปีนขึ้นไปซ่อมท่อน้ำบนโต๊ะอาหาร จนแม่ต้องร้องทักว่า เธอจะทำอะไร จะทำลายมื้ออาหารนี้เหรอ คุณตาก็พูดขึ้นว่า ทำไมเธอทำนิสัยอย่างนั้น แม่ก็ตอบว่ามันก็เป็นอารมณ์ของวัยรุ่นนั่นแหละ
ความหมาย
คำพูดของคุณตาเหมือนติเตียนหญิงสาวว่าเป็นคนใจร้อน มุทะลุ ทำตัวไม่เหมาะสม และผู้เป็นแม่ก็มองว่ามันก็แค่ช่วงวัยว้าวุ่นที่มันก็มีในวัยรุ่นช่วงนี้แหละ โดยที่ไม่ได้คำนึงเลยว่า เด็กแค่อยากแก้ปัญหาข้างหน้านี้เฉย ๆ
เหตุการณ์
ซ่อมไปซ่อมมาจากหยดน้ำกลายเป็นน้ำรั่วหนักขึ้น จนเด็กสาวถามว่า ใครก็ได้ไปปิดน้ำให้หน่อย แต่ก็ไม่มีใครสนใจ ยังคงพูดคุยกันเรื่องอาหารบนโต๊ะ ผู้เป็นพ่อบอกว่าแจ้งช่างประปาไปแล้ว แต่หญิงสาวก็โต้ว่า แต่นั่นมันเมื่อ 3 อาทิตย์ที่แล้วนะ ยังไม่มาเลย จนเด็กสาวบอกว่า ก็ได้ฉันจะแก้ไขมันเอง
ความหมาย
ปัญหาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้จะแจ้งช่างประปา ซึ่งคาดว่าหมายถึงรัฐบาลไปแล้ว ก็ยังไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือสักที หรือการทำงานล่าช้านั่นเอง จนเด็กสาวทนไม่ไหวจึงต้องบอกว่าจะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
เหตุการณ์
คุณตาบ่นขึ้นมาว่า เด็กสาวพูดแต่ปัญหา ฉันชักจะเหลืออดเหลือทนแล้วนะ ผู้เป็นแม่เดินเข้ามาและก็พูดเรื่องอาหารเหมือนเดิม เด็กสาวก็ถามว่า หยุดกินก่อนได้ไหม น้ำกำลังจะท่วมบ้านแล้วนะ แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจ
ความหมาย
การที่เด็กเอาแต่พูดถึงปัญหาและร้องขอให้แก้ไข กลับกลายเป็นการสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ใหญ่ที่มองว่าเรื่องที่เด็กเรียกร้องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ และผู้คนยังบริโภคอาหารกันอย่างไม่หยุดหย่อน แม้จะเกิดน้ำท่วมหรืออะไรใด ๆ ก็ยังคงบริโภคต่อไป
สังเกตไหมว่าทำไมแม่ถึงคอยแต่ป้อนอาหารเข้ามา แม้ว่าปัญหาจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนยังคงบริโภคต่อไป แม่ผู้เป็นกลุ่มนายทุนก็พยายามให้ผู้บริโภค บริโภคต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเชื่อว่ายังมีทรัพยากรอีกมากมายในครัวของเธอหรือก็คือในโรงงานของพวกเขาที่เอามาจากธรรมชาติอีกที
เหตุการณ์
ขณะที่เด็กสาววุ่นกับการซ่อมท่อ ผู้ใหญ่ก็พูดกันว่า ช่างประปาน่าจะทำหน้าที่ของเขานะ พวกเขารู้ว่าควรทำอย่างไร พ่อก็บอกว่า เราก็ต้องเชื่อผู้เชี่ยวชาญแหละน่า หญิงสาวเริ่มบ่นขึ้นมาว่า ดูที่ท่อพวกนี้สิ พวกมันเก่าแค่ไหนแล้วนะ และพ่อก็พูดขึ้นว่า รู้ไหมว่าค่าเปลี่ยนท่อมันเท่าไหร่ และคุณตาก็บ่นอุบกับเด็กสาวว่า หยุดพูดเกินจริงสักที
ความหมาย
แม้พวกเขาจะรู้ว่านี่เป็นหน้าที่ของช่างประปา (รัฐบาล) แต่สุดท้ายก็พึ่งพาไม่ได้ หวังลมๆแล้งๆว่าพวกเขานั้นเชี่ยวชาญและจะมาแก้ไขให้ เด็กสาวบ่นถึงความเก่าของท่อ ก็เหมือนกับปัญหาเหล่านี้มันมีมานานแล้ว มันไม่เคยได้รับการแก้ไข และมันถูกปล่อยทิ้งไว้แบบนี้มานาน การจะเปลี่ยนแปลงนั้นมีราคาเสมอ และอาจแพงมากกว่าการบริโภคที่เรากำลังถลุงกันอยู่ทุกวัน และผู้ใหญ่ชอบมองว่านักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ ตื่นตูมกันไปเอง ชอบทำให้เกิดการตระหนกเล่น ๆ
เหตุการณ์
น้ำยังคงท่วมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังพูดกันว่า เดี๋ยวมันก็ได้ผลเอง ไม่มีความเคารพผู้ใหญ่กันเลย และแม่ก็ยังคงป้อนอาหารเข้ามาในห้องเรื่อย ๆ แม้ว่าจะไม่มีต๊ะอาหารให้วางแล้ว เด็กชายก็ลอยตามน้ำไปมา ในขณะที่หญิงสาวก็พยายามแก้ปัญหาตรงหน้า
ความหมาย
แม้ว่าน้ำจะยังคงท่วมสูงแบบนี้แล้ว ผู้ใหญ่ยังคงมองว่า เดี๋ยวปัญหามันก็ถูกคลี่คลายไปเอง ระบบทุนนิยมก็ยังคงป้อนการบริโภคสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่ในอนาคตแทบจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะปัญหามันมากเกินกว่าที่พวกเขาจะพยุงตัวได้
เหตุการณ์
ทุกคนหนีขึ้นไปข้างบน หญิงสาวมองไปรอบๆอย่างสิ้นหวังและพูดขึ้นว่า ฉันกำลังทำอะไรอยู่นะ คุณตาเงยหน้าขึ้นมาจากหนังสือพิมพ์ที่เขียนว่า ‘ทุกอย่างจะดีขึ้น’ เขาเงยหน้ามองหลานสาวที่น้ำตาไหลนองอย่างรู้สึกผิด และเหตุการณ์ก็ตัดไปที่ทุกคนแอบอยู่ในห้องใต้หลังคา หญิงสาวยังคงหาทางออกและต้องการอากาศหายใจด้วยการเปิดหน้าต่าง แต่พอเปิดออกไปกลับพบว่า ทั่วทุกทิศด้านนอกนั้น น้ำท่วมหมดแล้ว
ความหมาย
เมื่อมันเกินจะเยียวยา ความรู้สึกที่ว่าฉันทำอะไรอยู่ มันแก้ไขไม่ได้ และมันก็ไม่ดีขึ้น จนกลายเป็นความท้อแท้ในตัวของหญิงสาว คุณตาผู้เป็นคนรุ่นเก่า กว่าจะเงยหน้ามาจากสิ่งที่ตัวเองเสพ ตัวเองเชื่ออยู่ทุกวันจากข่าวสารด้านเดียว (One-way Communication) กว่าจะรู้ตัวว่าคนรุ่นหลานต้องประสบกับปัญหาอะไรบ้าง ก็สายไปแล้ว และตัวเองก็แก่เกินกว่าจะช่วยเหลือพวกเขาได้ สุดท้ายเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นนักเคลื่อนไหวก็เห็นโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา แก้ไขไม่ได้ และเด็กรุ่นอนาคตก็แทบจะไม่ได้ออกมาข้างนอกได้อีกเลย
คุณล่ะ วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาแบบไหนบ้าง? คิดเหมือนหรือคิดต่าง?