เราจะมีความสุขที่สุด ตอนอายุเท่าไร่? รายงานความสุขโลกปี 2024 เผยยิ่งอายุมาก ยิ่งมีความสุขมาก แต่วัยกลางคนมีความสุขน้อยที่สุด
‘ความสุข’ คำที่ดูเหมือนง่าย แต่กลับซ่อนความลึกซึ้งของชีวิตเอาไว้ ความสุขไม่ได้มีนิยามตายตัว เพราะความสุขของแต่ละคนอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในชีวิต ความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งการมองโลกในแง่มุมที่ต่างกัน
แต่เมื่อถามว่า “เราจะมีความสุขมากที่สุดตอนอายุเท่าไหร่ ?” คำถามนี้ในหนังสือ ‘เส้นโค้งแห่งความสุข ทำไมชีวิตจึงดีขึ้นหลัง 50 (The Happiness Curve: Why Life Gets Better After 50) ที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ระบุว่า คนหนุ่มสาวจะมีความสุขที่สุด รองลงมาคือผู้สูงอายุ แต่คนในวัย50 ต้นๆ มักรายงานว่าตนเองมีความสุขน้อยที่สุด
ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับ ‘รายงานความสุขโลก2024 (World Happiness Report 2024)’ ที่เผยว่า ผู้คนจะมีความสุขน้อยที่สุดเมื่ออายุประมาณ 50 แต่หลังจากนั้นจุดที่ความพึงพอใจในชีวิตของพวกเขาจะเริ่มดีขึ้น
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีหลักฐานมาช้านานที่ชี้ให้เห็นว่าทั้งคนหนุ่มสาวและคนชรามีความสุขมากกว่าคนวัยกลางคน แนวคิดนี้เรียกว่าความสัมพันธ์ความสุขในรูปตัว U ตีช่วงตรงกลางกราฟความสุขจะลดต่ำมากกว่าช่วงวัยอื่น
วัยกลางคนมักถูกมองว่าเป็นช่วงที่ความสุขลดลง เนื่องจากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของคนในวัยนี้ ทั้งความกดดันจากความรับผิดชอบ ความฝันที่ยังไม่เป็นจริง และความรู้สึกเกี่ยวกับวันเวลาที่ล่วงเลย และการเปลี่ยนแปลงของชีวิต
นักจิตวิทยาด้านวิวัฒนาการมองว่า การแข่งขันด้านสถานะมีความสำคัญมากกว่าในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่เลือกคู่ครองและแต่งงาน ทั้งนี้ คนในช่วงวัยนี้ยังอยู่ในจุดที่ร่างกายสมบูรณ์ที่สุดและมีเสน่ห์ดึงดูดใจต่อคู่ครองที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม การสูญเสียความสมบูรณ์ของร่างกายในวัยกลางคนถือเป็นเรื่องที่รับได้ยากสำหรับบางคน
ขณะที่ วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิตสำหรับหลายคน เพราะเป็นวัยที่เต็มไปด้วยพลัง ความฝัน และความตื่นเต้นในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ และชีวิตยังไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย จึงให้กราฟความสุขของคนวัยนี้พุ่งสูง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในประเทศอันสงบสุขแถบสแกนดิเนเวีย หรือประเทศที่มีสงครามก็ตาม
ส่วนคนวัยชรา ที่เพิ่งจะผ่านพ้นวัยกลางคนไปแล้ว พวกเขามักเรียนรู้ที่จะปล่อยวางและปรับมุมมองต่อชีวิต ทำให้พบกับความสุขที่สงบมากขึ้นในช่วงนั้นมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบนี้สามารถอธิบายภาพรวมของประชากรโลกได้ แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันในทุกประเทศ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสุขของคนรุ่นใหม่ในหลายภูมิภาคกลับลดลงเมื่อเทียบกับคนวัยชรา เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่
แม้ว่ายังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่นักวิชาการหลายคนชี้ไปที่ปัญหาของโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงความเหงาที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่ใช้เวลาออนไลน์มาก นอกจากปัญหาร่วมสมัยเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียและการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกสิ้นหวังมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา
ที่มา : psychologytoday