SHORT CUT
พามาทำความรู้จัก! ป่าบ้านโค้งตาบาง ต้นแบบ “ป่าชุมชน” ขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ได้จริง 7 ล้านบาท นับว่าเป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย
ไทยยังคงเดินหน้ารับมือโลกร้อน โลกรวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศลดลง โดยแม่งานใหญ่อย่าง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ยังคงเดินหน้าเรื่องป่าชุมชน เพื่อให้สามารถพัฒนาไปสู่โครงการ T-VER ให้ได้คาร์บอนเครดิต และจำหน่ายอออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตป่าไม้ (Forest Carbon Credit) คือ หน่วยวัดปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมป่าไม้ เช่น การปลูกต้นไม้ บำรุงรักษาป่า อนุรักษ์ป่า ฟื้นฟูป่า เป็นต้น โดยกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศลดลง
ทั้งนี้คาร์บอนเครดิตป่าไม้สามารถใช้เพื่อลดภาระการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้ โดยภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ (T-VER) ของกรมป่าไม้ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER มีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)”
ล่าสุด คณะกรรมการฯ TGO เห็นชอบขึ้นทะเบียนโครงการ Standard T-VER (โครงการป่าชุมชน) ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาประชุมมีมติเห็นชอบขึ้นทะเบียนโครงการ Standard T-VERจำนวน 11 โครงการ (รวม 67 ป่าชุมชน พื้นที่ 90,412 ไร่) โดยโครงการทั้งหมดดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ลดความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าชุมชน และการปลูกป่าเสริม โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ รวมทั้งสิ้น 50,575 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2eq/year)
ทั้งนี้ประกอบด้วย
1. โครงการป่าชุมชนบ้านห้วยหมากเอียกเหนือและป่าชุมชนบ้านนาเจริญ ตำบลป่าซาง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย
2. โครงการป่าชุมชนตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
3. โครงการป่าชุมชนบ้านหินเพิง ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
4. โครงการป่าชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
5. โครงการป่าชุมชนอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
6. โครงการป่าชุมชนอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ (โครงการที่ 4)
7. โครงการป่าชุมชนอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
8. โครงการป่าชุมชนอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
9. โครงการป่าชุมชนอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
10. โครงการป่าชุมชนอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
11. โครงการป่าชุมชนอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
แต่…ที่เป็นที่พูดถึงในตอนนี้ คือ ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง บ้านโค้งตาบาง หมู่ 10 ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยป่าชุมชนบ้านโค้ง ตาบาง เป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) เนื้อที่ 1,397 ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง นำร่องจัดทำโครงการ T-VER ในพื้นที่ป่าชุมชน บ้านโค้งตาบาง มีคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมสนับสนุนส่งผลให้ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า ซึ่งป่าดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรมมาก่อน
สำหรับป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง เป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 เนื้อที่ป่าชุมชน 3,276 ไร่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา บนเนื้อที่ 1,397 ไร่
ล่าสุดมีความคืบหน้า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 กันยายน 2567 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมาเป็นประธานในงานเปิดตัวการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนสู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวจะทำให้ชุมชนที่ดูแลป่าได้รับประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิต วงเงินกว่าจำนวนเงินกว่า 7 ล้านบาท
อย่างไรก็ก็ตามการซื้อขายคาร์บอนเครดิตดังกล่าวจะเป็นการนำเงินรายได้กลับมาดูแลรักษาป่าต่อไป ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ว่าด้วยการรับ การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงินรายได้ของป่าชุมชน พ.ศ. 2565 ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะขยายผล ส่งเสริมให้มีการประเมินคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชนทั่วประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
พามาอัปเดตโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน มีที่ขึ้นทะเบียนโครงการจำนวนรวมทั้งสิ้น 438 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER จำนวน 434 โครงการ และแบบ Premium T-VER จำนวน 4 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต จำนวน 169 โครงการ
ทั้งนี้มาจากแบบ Standard T-VER เท่านั้น โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 19.53 MtCO2eq ขณะที่เริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน (ล่าสุดมิถุนายน 2567) มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในตลาดแรกและตลาดรอง จำนวนกว่า 3.42 MtCO2eq มูลค่าซื้อขายรวมกว่า 299 ล้านบาท
ซึ่งมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 เติบโตขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวจากแรงกระตุ้นของร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ที่จะปรับใช้ในอนาคต อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยยังมีป่าชุมชนอีกหลายแห่งที่สามารถพัฒนาไปสู่โครงการ T-VER เพื่อได้คาร์บอนเครดิต แต่ยังขาดองค์ความรู้และงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้หากชุมชนไหนสนใจที่จะเป็นแบบโค้งตาบางโมเดล สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.tgo.or.th หรือติดต่อ อบก.เพื่อขอคำแนะนำ และยังมี ธกส. ที่สนับสนุนงบปนะมาณการทำโครงการ T-VER ผ่านธนาคารต้นไม้ อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย เติบโตต่อเนื่อง ซื้อขายรวมแล้ว 299 ล้านบาท
บูม “คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้” TGO ลุยขยายการสื่อสารสร้างความเข้าใจ
เร่งดัน SMEs ไทยรุกตลาดคาร์บอนเครดิต เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว