สปริงนิวส์ชวนติดตามบทสัมภาษณ์ "มิสเตอร์บีนแห่งสิงคโปร์" แห่ง "Ana Book Store" ร้านหนังสือมือสองที่เปิดมานานกว่า 40 ปี เขามองวงการหนังสือในทุกวันนี้อย่างไร และเหตุผลอะไรที่ทำให้เขายังอยากตื่นมาเปิดร้านอยู่ทุกวัน
ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทีมข่าวสปริงนิวส์มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับ “Mohd Noorul Islam” ชายวัย 70 ปี ผู้มีฉายาว่า “มิสเตอร์บีนแห่งสิงคโปร์” เราพูดคุยกันหลายเรื่องตั้งแต่จุดเริ่มต้นของร้าน Ana Book Store ความเปลี่ยนแปลงของนักอ่านในสิงคโปร์ ช่วงวิกฤต รวมถึงเหตุผลอะไรที่ยังชักชวนให้เขายังแฮปปี้ที่จะตื่นขึ้นมาเปิดร้านทุกวัน
ในยุคที่นักอ่านเริ่มห่างไกลจากหนังสือเล่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อาทิ ราคาหนังสือ ความยุ่งเหยิงในชีวิต หรือแม้แต่วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจนคนหันไปอ่านอีบุ๊คส์กันหมด
สปริงนิวส์ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ “มิสเตอร์บีนแห่งสิงคโปร์” เจ้าของร้านหนังสือ ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่เชื่อว่าการพูดคุยกับลูกค้าคือยาอายุวัฒนะ
ทำไมคนเรียกคุณว่า “มิสเตอร์บีน” แห่งสิงคโปร์?
“คุณว่าหน้าผมเหมือนมิสเตอร์บีนไหมล่ะ”
“ประมาณ 30 ปีก่อน ตอนผมยังหนุ่มกว่านี้ มีครอบครัวหนึ่งจ้องมองมาที่ผม และจู่ ๆ เขาก็พูดว่าขอโทษนะ ขอพวกเราถ่ายรูปด้วยได้ไหม ผมก็ไม่รู้จักพวกเขาหรอกนะ แต่ ณ จุดนั้นก็ไม่รู้จะปฏิเสธยังไง ผมก็โอเค ถ่ายก็ถ่าย”
“พอเราถ่ายรูปอะไรกันเสร็จ เขาบอกผมว่าขอบคุณนะที่ยอมให้ถ่ายรูปด้วย คุณหน้าเหมือนมิสเตอร์บีนมาก ผมก็ไม่รู้นะว่าเขาเอาไปส่งให้ใครหรือเปล่า เพราะหลังจากนั้นก็มีสื่อมาสัมภาษณ์ผมเต็มเลย”
เคยมาเที่ยวประเทศไทยบ้างไหม?
“ไปบ่อยเลยครับ พี่ชายผมแต่งงานที่กรุงเทพฯ แต่งกับคนไทยนี่แหละครับ จริง ๆ ผมชอบไปเที่ยวภูเก็ต ชอบภูเก็ตมากกว่ากรุงเทพฯ อีก ภูเก็ตมีชายหาด ทะเลสวย คนอัธยาศัยดี บรรยากาศโดยรวมถือว่าผ่อนคลายสำหรับผมเลยนะ”
มาเมืองไทยได้แวะไปเดินดูร้านหนังสือบ้างไหม?
ยังมิทันจะลั่นคำถามจบประโยคดี เพียงเสี้ยววิผู้อยู่อีกฝั่งของโต๊ะก็โต้ตอบกลับมาทันทีว่า “ผมเป็นเจ้าของร้านหนังสือนะ ผมไม่ไปเที่ยวร้านหนังสือคนอื่นหรอก” เขาพูดอย่างเฮฮาพลางหัวเราะไม่หยุด
“ถามว่าเวลาไปเที่ยวประเทศไทยผมทำอะไรน่ะเหรอ ไปชอปปิ้งน่ะสิ เอมบีเอ ประตูน้ำ ตลาดนัดจตุจักร แต่เอาเข้าจริงตอนอยู่เมืองไทยผมก็เคยไปดูร้านหนังสืออยู่นะ แต่ไม่ใช่ร้านหนังสือมือสองหรอก ถ้าจำไม่ผิดผมเคยไปที่เอเชีย บุ๊คส์”
เล่าถึงที่มาของร้านนี้ให้เราฟังหน่อย?
“ร้านหนังสือคือธุรกิจที่ครอบครัวผมทำ หนังสือออกใหม่นี่แหละ ทำกันมาหลายรุ่นเลย พ่อผมเปิดร้านหนังสือมาตั้งแต่ปี 1938 จริง ๆ ต้องบอกว่าท่านเปิดร้านหนังสือมาตั้งแต่ยังอยู่ที่ปากีสถานตะวันออก ซึ่งปัจจุบันคือบังกลาเทศไปแล้ว”
“จากนั้นท่านก็ย้ายมาที่สิงคโปร์ แล้วพ่อกับแม่ก็เจอกัน พวกท่านมีผม แต่พอย้ายมาที่สิงคโปร์ พ่อผมก็หันมาขายหนังสือมือสอง เพราะราคามันจับต้องได้ แต่ตอนนี้พ่อกับแม่ผมเสียไปหมดแล้วนะ”
ราว ๆ ทศวรรษ 1980s มิสเตอร์บีนเล่าว่าเขาได้เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจร้านหนังสือจากพ่อ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือรัฐบาลมาขอเซ้งตึกที่ร้านหนังสือ “Ana Book Store” ตั้งอยู่ จนทำให้ครอบครัวของเขามีเงินก้อน แต่ปัญหาคือเขาจะย้ายร้านหนังสือไปที่ไหนดี
หากันอยู่นานจนกระทั่งได้ทราบข่าวว่ากำลังจะมีห้างเปิดใหม่ที่ถนนสก็อตส์ (Scotts Rd.) ห้างนั้นมีชื่อว่า “Far East Plaza” ซึ่งหากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่สิงคโปร์ จะเห็นเลยว่านี่คือย่านช้อปปิ้งสำคัญ ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางทางการค้าของสิงคโปร์
ห้าง Far East Plaza ก่อตั้งในปี 1982 มิสเตอร์บีนเล่าว่าเขาเป็นร้านค้าร้านแรก ๆ ที่เข้าไปเช่าที่ขายของอยู่ในห้างแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 42 ปีแล้ว บางร้านก็ล้มหายตายจากไปจะด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจก็ดี หรืออายุที่เพิ่มมากขึ้นเจ้าของธุรกิจก็ทยอยเกษียณอายุกันไป
แต่ที่ชั้น 5 ของห้าง Far East Plaza มีอยู่ 1 ร้านที่ยังเช่าอยู่ล็อกเดิม เจ้าของร้านยังคงตื่นเช้ามาเปิดร้านทุกวัน เดินไปซื้อชาร้อนที่ร้านใกล้ ๆ และมานั่งรออยู่บนโต๊ะตัวเดิมเพื่อรอพูดคุยกับลูกค้า ใช่ครับ...เขาคือมิสเตอร์บีนแห่งสิงคโปร์ เจ้าของ “Ana Book Store”
มีคำกล่าวที่ว่าราคาหนังสือกำลังผลักนักอ่านให้ห่างไกลจากหนังสือไปเรื่อย ๆ คุณมองเรื่องนี้ยังไง?
“ถ้าเป็นคนอ่านหนังสือ ยังไงเขาก็หาหนังสือที่เป็นเล่มอ่าน ใครที่อยากอ่านหนังสือออกใหม่เขาก็ไปร้านขายหนังสือที่มีหนังสือใหม่ขาย”
“ส่วนคนที่อยากอ่านหนังสือเก่า หรือราคาไม่แพงมากเขาก็จะมาร้านผมกัน ไม่รู้สิ ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้หนังสือมันแพงมาก หนังสือมันกลายเป็นของแบรนด์เนมไปแล้ว”
“หนังสือออกใหม่ก็คงโอเคแหละ แต่มันก็ยังมีคนที่ชอบซื้อหนังสือมือสองอยู่ พวกเขาไม่ยอมซื้อหนังสือออกใหม่ ผมก็ไม่ซื้อเหมือนกัน”
“หนังสือที่คุณเห็นนี้ เป็นเล่มเก่าทั้งหมด ผมไม่ซื้อหนังสือใหม่เข้าร้านเลย ส่วนใหญ่เป็นหนังสือของผมเองนี่แหละ มีอีกหลายเล่มที่เป็นมรดกตกทอดมาจากคุณพ่อของผม ซึ่งบางเล่มก็มีคนรับไปแล้ว บางเล่มไม่มีใครสนใจ วางแน่นิ่งอยู่บนชั้นมาแล้ว 40 ปีก็มี”
คุณอ่านอีบุ๊คส์ไหม?
“ผมไม่อ่านอีบุ๊คส์ อันที่จริงไม่มีใครอ่านอีบุ๊คส์หรอก ยังไงดีล่ะ แต่ผมไม่อยากจะเหมาะรวมนะ คนที่เขานิยมอ่านอีบุ๊คส์ก็คงมี แต่เท่าที่ผมพูดคุย ลูกค้าที่มาร้านผมเขาก็ไม่อ่านอีบุ๊คส์กันนะ”
“ยังไงผมก็ชอบหนังสือที่เป็นเล่มมากกว่าอยู่ดี ถ้าเป็นหนังสือแบบนี้ผมส่งให้คุณได้ คุณหยิบมาให้ผมได้ พลิกให้ดูหน้านั้น หน้านี้ เราได้แลกเปลี่ยนกัน ผลัดกันถือ ซึ่งอ่านอีบุ๊คส์มันให้ความรู้สึกนี้ไม่ได้”
“หนังสือมือสองนอกจากราคาไม่แพงมากแล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยข้อมูลความรู้ มีร่องรอยการอ่านของนักอ่านคนก่อนหน้า มันผ่านการใช้งานมา อาจจะเก่าไปบ้าง หรือมีกลิ่นเฉพาะตัว ไม่รู้สิครับ ผมหลงรักกับอะไรแบบนี้ล่ะมั้ง”
เปรียบเทียบราคาหนังสือออกใหม่ – หนังสือมือสอง
หนังสือมือสองในร้าน “Ana Book Store” ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 2 สิงคโปร์ดอลลาร์ เรื่อยไปจนถึง 50 สิงคโปร์ดอลลาร์ หากตีเป็นเงินไทยก็มีราคาค่าประมาณ 54 – 1,356 บาท
เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ทีมข่าวสปริงนิวส์จึงเดินทางไปยังห้างฟูนัน (Funan) ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนนอร์ธบริดจ์ (North Bridge Rd.) และเข้าไปเช็กราคาหนังสือมือหนังในร้านขายหนังสือยอดนิยม สัญชาติญี่ปุ่น
หลังจากเดินสำรวจทั่วทั้งร้านพบว่าราคาหนังสือเฉลี่ยเริ่มต้นตั้งแต่ 25 – 30 สิงคโปร์ดอลลาร์ หรือประมาณ 670 – 800 บาท นั่นคือจำนวนเงินขั้นต่ำที่คุณจะสามารถซื้อหนังสือได้ 1 เล่มในสิงคโปร์
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจคือ ในปีนี้ (2567) อุตสาหกรรมหนังสือในสิงคโปร์คาดว่าจะทำเงินสูงแตะระดับ 147.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.4 พันล้านบาท ขณะที่ อุตสาหกรรมหนังสือไทยทำเงิน 1.2 หมื่นล้าน ในปี 2563
ในปี 2021 คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติ (NLB) เปิดเผยถึงนิสัยการอ่านของคนในสิงคโปร์ว่าคน Gen Z และ X มีแนวโน้มอ่านหนังสือในช่วงเวลาพักผ่อนกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ Statista ระบุว่า ภายในปี 2572 นักอ่านในสิงคโปร์คาดว่าจะสูงแตะ 2 ล้านคน
เปิดร้านมา 40 ปี เคยเจอวิกฤตบ้างไหม?
“เจอสิ ช่วงโควิด-19 ไง ผมปิดร้านไปเลย 3 เดือน ร้านค้า หรือธุรกิจอื่น ๆ ก็มีบ้างที่ยังเปิดอยู่ แต่ผมตัดสนใจปิดร้านชั่วคราว กลับไปอยู่บ้าน”
พอต้องกลับไปอยู่บ้านเฉย ๆ รู้สึกยังไง?
“ก็โอเคนะ ผมรู้สึกได้ผ่อนคลาย วัน ๆ ก็เดินเล่น มีอ่านหนังสือบ้าง แต่ไม่ใช่หนังสือซีเรียสอะไร หลัง ๆ มานี้ ผมชอบอ่านหนังสือตลก อยากอ่านมุกตลกเอาไว้คุยเล่นกันลูกค้า ผมก็ไม่อยากพูดนะว่าตัวเองเป็นคนตลก ลูกค้าเขาบอกเองว่าผมเป็นคนตลก”
คุยไปคุยมาก็ลืมไปเลยว่าคนตรงหน้าอายุ 70 กว่าแล้ว ซึ่งคนอายุปูนนี้ในเมืองไทยคงเกษียณกันแล้ว แต่เชื่อไหมว่า “มิสเตอร์บีนแห่งสิงคโปร์” ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องเกษียณอายุแม้แต่นิดเดียว
ระหว่างพูดคุยกัน มิสเตอร์บีนก็ท้วงให้ผมดื่มชาที่เตรียมไว้สักหน่อย ด้วยเห็นว่าเสียงคนสัมภาษณ์เริ่มแหบลงทุกที แถมปริมาณน้ำชายังล้นปริ่มแก้ว ชาสีส้ม รสชาติคุ้นเหมือนชาไทย แต่เขายืนยันว่าเป็นชาจีน เพราะเขาเดินไปซื้อมารับรองแขกจากเมืองไทยคนนี้ด้วยตัวเองตั้งแต่ผมย่างก้าวเข้ามาในร้าน อิ่มหนำแล้วก็ถือโอกาสชวนชายตรงหน้าพูดคุยต่อ
อายุ 70 ปีแล้ว คิดเรื่องเกษียณไว้หรือยัง?
“ผมอายุ 70 กว่าแล้วก็จริง เชื่อไหมว่าผมไม่เคยคิดเรื่องเกษียณอายุเลย เวลาอยู่บ้านเฉย ๆ สมองเราก็จะอยู่เฉย ๆ มันยิ่งแก่ไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ามาร้านหนังสือ ผมได้คุยกับคน ได้พบปะลูกค้า ได้เล่นมุกตลก สร้างเสียงหัวเราะ สมองผมก็ยังทำงานตลอด”
“แค่จินตนาการว่าถ้าผมต้องอยู่บ้านเฉย ๆ นั่งมองวิวเดิม ๆ อาจเจอหน้าคนน้อยลง วนลูปแบบนั้น ผมว่าผมเฉาแน่ ตื่นแต่เช้ามาเปิดร้านหนังสือแฮปปี้กว่ากันเยอะ”
แต่คุณรู้ใช่ไหมว่ายังไงวันนั้นก็ต้องมาถึง?
“รู้สิ แต่มันยังไม่ถึงวันนั้นเลย ถ้าวันนั้นมาถึงเดี๋ยวผมก็คงคิดออก ว่าต้องรู้สึกอะไร หรือทำอะไร ตอนนี้แขนผมยังมีแรง ขาผมยังมีแรง ผมยังแข็งแรงดี แต่วันนั้นมันก็ต้องมาถึง ถึงวันนั้นผมคงต้องเกษียณตัวเอง”
“ผมก็คงบอกลูกค้าไปตรง ๆ ว่าร้านต้องปิดแล้วนะ ผมเกษียณแล้ว แต่เรื่องตลกคืออะไรรู้ไหม ช่วงหลายปีมานี้ลูกค้ากลัวผมเกษียณ แล้วปิดร้าน เขาก็จะพูดอยู่เสมอ มิสเตอร์บีนคุณอย่าเพิ่งเกษียณนะ เราจะสนับสนุนคุณเอง เปิดร้านต่อไปนะ แต่ก็นะ...ชีวิตมันคือสัจธรรม”
“การคุยกับคนคืองานอดิเรกของผม ผมมีเพื่อนเยอะมาก บางคนเขามีเรื่องทุกข์ใจ เขาก็มานั่งคุยกับผมตรงนี้ที่คุณนั่งนี่แหละ แก้วชาร้อนนี่ก็ด้วย ผมก็รับฟังเขา ให้คำปรึกษาบ้าง ผมคิดว่าความสุขของผมคงหน้าตาประมาณนี้”
ระหว่างพูดคุยก็มีลูกค้า 2 ท่านเดินเข้ามาในร้าน สอบถามแล้วพบว่าเป็นคนสิงโปร์ทั้งคู่ ผมถามพวกเธอว่ามาร้านนี้บ่อยไหม เธอคนหนึ่งบอกว่ามาร้านนี้ตั้งแต่อายุ 19 – 20 จนตอนนี้อายุ 40 แล้วก็ยังมาอยู่
ผมถามต่อว่าคุณรู้ไหมว่าคนอื่นเขาเรียกเฮียแกว่ามิสเตอร์บีนแห่งสิงคโปร์ เธอตอบว่ารู้สิ ใคร ๆ ก็เรียกเขาแบบนั้น แต่ฉันไม่เรียกหรอก ฉันเรียกเขาว่า “บัง” หลังจากจบการสัมภาษณ์ผมก็มีโอกาสได้พูดคุย และสังเกตการณ์มิสเตอร์บีนแห่งสิงคโปร์วาดลีลาโชว์สกิลการเทคแคร์ลูกค้า จากนั้นผมก็มีรอยยิ้ม และขอตัวลา
ใครที่มีโอกาสได้ไปสิงคโปร์ แล้วอยากซื้อหนังสือสักเล่ม แนะนำให้ไปร้าน “Ana Book Store” ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของห้าง Far East Plaza ที่ถนนสก็อตส์ (Scotts Rd.) มิสเตอร์บีนเขาเปิดร้านตั้งแต่ 7 โมงเช้า ปิด 6 โมงเย็น ไปกันเถอะ เขาชอบคุยกับลูกค้าจริง ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชีวิตนี้ เราอาจอ่านหนังสือได้ไม่เกิน 5,000 เล่มเท่านั้น
ครูไทย ภาระงานแสนสาหัส จนสอนหนังสือได้ไม่เต็มที่
เปิดสถิติแบนหนังสือทั่วโลก แค่ตัวอักษรสั่นคลอนความมั่นคงของชาติ ?