ปลดพนักงาน หรือ การโดนยื่นซองขาว แบบฟ้าแลบไม่ทันตั้งตัว เป็นสถานการณ์ชวนฝันร้ายที่ใครก็ไม่อยากพบกับตัวเอง แต่ด้วยปัจจัยทางแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชะลอตัวก็ยากที่จะคาดเดา การรับมือและยอมรับอาจช่วยให้เห็นทางออกและเดินต่อได้เร็วขึ้น
หลังจากที่มีกระแสข่าวบริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆ องค์กร เข้าแถวประกาศการ ปลดพนักงาน กันอย่างต่อเนื่องในรอบเดือนที่ผ่านมา ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ ทวิตเตอร์ ที่ถูกเทคโอเวอร์ โดย อีลอน มัสก์ และ เมตา (เฟซบุ๊ก) ของพี่มาร์ก ก็เพิ่งประกาศลดพนักงานครั้งใหญ่จำนวนไม่ต่ำกว่าหมื่นคน ในเวลาไล่เลี่ยกัน
ทั้งนี้ล่าสุด (15 พ.ค.65) Amazon กำลังเตรียมเลิกจ้างพนักงานนับหมื่นคนภายในสัปดาห์นี้เป็นข่าวร้ายรับช่วงส่งท้ายปีเก่าที่หลายๆ คนเตรียมฉลองเทศกาลปีใหม่กับคนรักและครอบครัว แม้จะได้เงินชดเชยตามกฏหมายแต่การถูกปลดฟ้าแลบก็กระทบกระเทือนตัวตนและจิตใจพนักงานไปไม่น้อยเลยทีเดียว การเยียวยาเพื่อหาเส้นทางต่อไปในอนาคตสำหรับหลายคนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยภาระส่วนตัวที่แตกต่างกัน อาจยิ่งซ้ำเติมหลังได้กลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อผ่านวิกฤติโควิดระบาดทั่วโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ไล่ปลดพนักงาน ประคอง Meta พร้อมจ่ายเงินชดเชย 4 เดือน
อีลอน มัสก์ โดนฟ้อง “สั่งปลดพนักงาน Twitter กว่า 3,700 คน” โดยไม่บอกล่วงหน้า
Netflix ปลดพนักงานเพิ่ม 300 ชีวิต หลังยอดผู้ใช้ลดลง-รายได้ลด
จากบทความของ Harvard Business Review ในหัวข้อที่ว่า "What to Do After Being Laid Off" ได้ให้คำแนะนำให้กับคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์นี้อยู่ ก่อนที่จะยื่นส่งเรซูเม่อีกครั้ง มีด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้
1.จัดเรียงมายเซตใหม่
การที่คุณถูกเลิกจ้างไม่ได้สะท้อนถึงทักษะการทำงานของคุณ แต่นั่นมาจากการที่องค์กรของคุณขาดการวางแผนที่ดีพอ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือช่วงเศรษฐกิจปั่นป่วน ฝืดเคืองเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองและเดินทางหาโอกาสใหม่ที่รอคุณเปิดประตูเข้าไปร่วมทีม
ใช่ช่วงเวลาที่มีในการกลับมาโฟกัสกับตัวเอง หากิจกรรมที่สนในแต่ยังไม่ได้ลอง เพื่อปรับอารมณ์และจิตใจให้ดีขึ้น เช่น การทำอาหาร วาดภาพ ทำสมาธิ อ่านหนังสือหรือฟังเพลง เพื่อกำหนดสมาธิและค้นหาความสงบให้จิตใจ
2.เขียนถึงความสำเร็จที่ผ่านมา
กระบวนการเรียบเรียงประสบการณ์การทำงานที่ประสบความเร็จที่ผ่านมาของคุณไม่ว่าจะเขียนใส่กระดาษ หรือ จดบันทึกลงอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์จะช่วยให้เห็นทักษะและความสามารถที่คุณมี ซึ่งจะช่วยทำให้การร่อนใบสมัครหางานอีกครั้งมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดขึ้น
ทั้งนี้ในทางอ้อมยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการตอบคำถามในด้านพฤติกรรมและการแก้ปัญหา ที่บริษัทใหม่ต้องการให้คุณบอกเล่าถึงการจัดการสถานการณ์เหล่านั้นมาได้อย่างไร
โดยใช้วิธีการสะท้อนความสำเร็จที่ผ่านมาด้วยแนวคิด CARL (บริบท, การดำเนินการ, ผลลัพธ์ และการเรียนรู้) หรือ STAR(T) (สถานการณ์, งาน, การดำเนินการ และผลลัพธ์ + ประเด็นสำคัญ)
3.ค้นให้เจอว่าคุณต้องการอะไร
ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น "คุณอยากทำงานให้กับบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่?" "ยังอยากอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือปรับเปลี่ยนสายงาน" แม้กระทั่งยังอยากอยู่ในเมืองเดิม ภูมิภาคเดิมหรืออยากหาความท้าทายใหม่ในต่างประเทศ
ลิสต์รายการที่คุณต้องการและสิ่งที่สำคัญที่คาดหวังในการเริ่มงานในอนาคต เพื่อเข้าใจความคาดหวังที่ต้วเองตั้งใจแต่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถในตำแหน่งเดิม
“ฉันถูกไล่ออก ฉันไม่อยู่ในฐานที่จะเรียกร้องอยากได้อะไร” การกำหนดคุณค่า ไม่เพียงแค่สิ่งที่คุณต้องการ แต่มันหมายรวมถึงสิ่งที่คุณต้องการเป็นและการประสบความสำเร็จในการทำงาน ถ้าคุณบอกว่าสิ่งที่คุณไขว่คว้าคือการมีเงินเดือนประจำและเวลาทำงานที่แน่นอนเก้าโมงถึงห้าโมงเย็น เช่นนี้งานไหนคุณก็สามารถสมัครได้
แต่ถ้าเป็นคุณค่าของงานในความหมายของคุณคือ การสร้างความเปลี่ยนแปลง, การรู้สึกมีค่า, หรือการได้เก็บเกี่ยวและรับประสบการณ์จากผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น กระบวนการนี้จึงมีความสำคัญ
4.จัดตารางการหางานใหม่
การหางานต้องใช้เวลาเต็มตัว แต่ก็ไม่ใช่การจ้องโทรศัพท์มือถือเพื่อรอบริษัทตอบกลับซึ่งจะยิ่งสร้างความรู้สึกกดดันให้กับตัวเอง รู้สึกผิดที่ยังไม่ใช่เวลาให้มากพอที่จะหางานใหม่ให้ได้เมื่อยังไม่มีการตอบรับกลับมา
การจัดตารางในที่นี้ไว้ว่าจะรายวันหรือรายสัปดาห์ จะช่วยให้คุณภาพรวมในกำหนดเวลาการสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ในกลุ่มงานที่ต้องการสมัคร หรือ บุคคลต่างๆ ที่ช่วยให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนงานของคุณ
ความถี่ในการร่างเรซูเม่ สร้างพอร์ตผลงานเพื่อนำเสนอในขั้นตอนสัมภาษณ์งาน รวมถึงหาช่วงเวลาเตรียมข้อมูลและฝึกตอบคำถามที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างสัมภาษณ์
นอกจากจะแสดงถึงความตั้งใจแน่วแน่แล้วยังกำหนดให้เห็นเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น แม้จะยังไม่ได้การตอบกลับ
5.ค้นหางานที่สนใจเก็บไว้ แต่ช้าก่อนอย่าพึ่งร่อนใบสมัคร
ไม่ว่าจะค้นหางานจากเว็บไซต์หรือช่องทางโซเชียลมีเดียรูปแบบไหน ก่อนร่อนใบสมัคร ควรรีเช็กประวัติความน่าเชื่อถือของบริษัท ด้วยการค้นหาเบื้องต้นผ่าน Google หรือ ถามไถ่จากคนใกล้ตัวที่ทำงานอยู่ในองค์กรนี้หรือมีคนรู้จักก่อนสักหน่อยให้อุ่นใจ
เมื่อเจองานที่ใช่และสนใจจริงๆ สำหรับรายละเอียดที่จะใส่ในเรซูเม่ของคุณ ควรให้มีความสอดคล้องกับคุณสมบัติที่องค์กรประกาศหา เพื่อยืนยันว่าเรามีทักษะที่ตำแหน่งดังกล่าวต้องการ
เรซูเม่ที่พร้อม สอดคล้องกับคีย์เวิร์ดที่บริษัทค้นหาจะช่วยเพิ่มโอกาสตอบกลับมากขึ้น แม้ในตำแหน่งใกล้เคียงกันแต่การมีเวอร์ชันมากกว่า 1 รูปแบบที่ใส่รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงที่แต่ละบริษัทประกาศหาก็จะตอบโจทย์มากขึ้น
ความแน่นอนคือความไม่นอนการเตรียมความพร้อม มีเครื่องมือสำรองไว้รับมือเมื่อโดนประโยคไม่คาดฝันมากระซิบข้างหูก็อาจช่วยให้ย่นเวลาของกระบวนการกลับมายืนอีกครั้งได้เร็วขึ้น
ที่มา