svasdssvasds

10 ข้อต้องรู้ เพื่อดูแลผู้สูงวัยหรือรุ่นใหญ่ในบ้าน ให้หัวใจแฮปปี้

10 ข้อต้องรู้ เพื่อดูแลผู้สูงวัยหรือรุ่นใหญ่ในบ้าน ให้หัวใจแฮปปี้

มัดรวม 10 ข้อที่ลูกหลานหรือคนในครอบครัวควรรู้ 
เพื่อการดูแลผู้สูงวัยในบ้านให้มีชีวิตชีวา แฮปปี้ทั้งกายและใจ การอยู่ร่วมกันในครอบครัวก็จะราบรื่น มีความสุขยิ่งขึ้น

การเป็นผู้สูงวัยที่มีจิตใจแข็งแกร่งนั้นไม่ง่าย เพราะการใช้ชีวิตที่ผ่านมาอาจต้องพบการพลัดพราก สูญเสีย ผิดหวัง มีบางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปดั่งใจ รวมถึงอาจเกิดอาการเศร้า กังวล เนื่องจากอายุมากขึ้นทุกวัน ไม่อาจล่วงรู้อนาคตเลยว่า จะอยู่กับลูกหลานได้นานเพียงใด

หากผู้สูงวัยคนใดมีเงินเก็บ หรือหากมีลูกหลานให้เงินให้ทองใช้ก็สามารถทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกดีขึ้นได้ แต่เนื่องจากอยู่ในวัยเกษียณ เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่มีรายได้ อาจคิดไปว่าตัวเองเป็นภาระ และถ้าลูกๆ ทำงานจนไม่มีเวลาให้ด้วยแล้ว อาจคิดไปว่า ถูกทอดทิ้ง ทำให้น้อยใจ รู้สึกว้าเหว่  เก็บตัว หรืออาจเลือกที่จะปลีกวิเวก

Source : Pexels

ดูแลใจผู้สูงวัยตั้งแต่วันนี้ จะได้ไม่ต้องมานั่งฮีลใจกันวันหลัง

ในด้านปัญหาสุขภาพใจของผู้สูงวัย ลูกหลานมักจะพาผู้ที่มีปัญหา อารมณ์แปรปรวน เข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยผู้ที่มีความ เครียดวิตกกังวล ซึ่งเจอค่อนข้างมาก รวมถึง ผู้ป่วยจิตเภท แต่อย่างไรก็ตาม เป็นกลุ่มที่เจอไม่บ่อยนัก รวมถึงผู้ที่มี ภาวะสมองเสื่อม หลงๆ ลืมๆ  และสุดท้าย กลุ่มอาการที่จะต้องตรวจต่อ เช่น สมอง หัวใจ 

และเพื่อสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ มี 10 ข้อที่คนในครอบครัวต้องรู้และใส่ใจ เพื่อทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างแฮปปี้

  • 1.ให้ความรัก ความอบอุ่น ด้วยคำพูด สอบถามด้วยความห่วงใย ใส่ใจ หรือด้วยการกระทำ เช่น การโอบกอด
  • 2.ให้เกียรติ เพราะส่วนใหญ่ลูกหลานจะไม่อยากฟังเวลาผู้สูงอายุพูด และแสดงทีท่าว่า รำคาญออกมา ดังนั้น จึงอยากลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากคุณเป็นผู้สูงวัยที่ลูกหลานไม่รับฟัง ไม่ให้เกียรติ จะรู้สึกอย่างไร
  • 3. พยายามทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย หากมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ควรพูดหรือปลอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่ไปกระตุ้นให้เกิดความตระหนก หรือช่วยควบคุมอารมณ์ รวมถึงอธิบายให้เข้าใจ ตลอดจนยอมรับความเป็นจริง
  • 4. พูดหรือแสดงออกให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่า ชีวิตมีคุณค่า อาจกล่าวชื่นชมบ้าง แต่ก็ควรทำอย่างมีขอบเขต
  • 5. ช่วยฝึกระบบความคิด ฝึกการวางแผน เช่น กำหนดให้ทำสิ่งนี้ก่อน เสร็จแล้วค่อยไปทำสิ่งนั้น 
  • 6. ช่วยเรื่องการเข้าสังคม เพราะหากได้เจอเพื่อน ได้คุยกัน ได้นึกถึงความหลังครั้งอดีต และมีเพื่อนหรือคู่สนทนา ผู้สูงวัยจะรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า
  • 7. หากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข เช่น บางคนไปเล่นกีฬา บางคนไปรำวง วาดรูป เล่นดนตรี ชีวิตก็แฮปปี้ขึ้น
  • 8. ฝึกสมอง ด้วยการให้เล่นไพ่ เล่นเกม รวมถึงเกมหรือกิจกรรมต่างๆ บนแอปพลิเคชัน
  • 9. เปิดใจ รับฟัง และให้ท่านเป็นที่ปรึกษาในบางเรื่อง
  • 10. ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย วันละ 15-30 นาที เช่น เดิน เล่นโยคะ
related