SHORT CUT
นักวิจัยพัฒนา โซลาร์เซลล์แบบโปร่งใส โดยใช้ เพอรอฟสไกต์ ผสานกับเซลล์แสงอาทิตย์อินทรีย์ ทำให้จับแสงได้หลายช่วงสเปกตรัม มีประสิทธิภาพ 12.3% และต้นทุนต่ำ เหมาะกับตึกสูง
จริงอยู่ที่ ‘โซลาร์เซลล์’ ที่วางขายเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าอยู่ที่ 15-25% แต่กับโซลาร์เซลล์ชนิดทีเรากำลังจะพูดถึงนี้ สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพได้ถึง 12.3% ก็ถือว่าก้าวหน้ามากแล้ว
นั่นก็คือ “โซลาร์เซลล์แบบโปร่งใส” (อ้างอิงตามคำที่นักวิจัยเรียก) เป็นเทคโนโลยีที่รวมโซลาร์เซลล์เข้ากับเพอรอฟสไกต์ (Perovskite) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทนทาน และมีความหนา ซึ่งมักนิยมใช้ไปติดในหน้าต่างอาคาร รถยนต์ เครื่องบิน โดรน สมาร์ทโฟน ฯลฯ
อธิบายแง่มุมด้านวิทยาศาสตร์ของโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใส (ที่นักวิจัยกลุ่มนี้พัฒนา) ให้เข้าใจอย่างงายคือ นักวิจัยได้ผสมผสานเพอรอฟสไกต์กับเซลล์แสงอาทิตย์อินทรีย์ ทำให้สามารถจับแสงในช่วงสเปกตรัมต่างๆ ได้
มอร์เทน แมดเซน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นเดนมาร์ก (University of Southern Denmark) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัย ที่พัฒนาโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใสในครั้งนี้ เปิดเผยว่า “โซลาร์เซลล์แบบโปร่งใสคือ ก้าวถัดไปของโซลูชันด้านพลังงานสะอาด”
ข้อดีของโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใสคือ ต้นทุนต่ำ ศาสตราจารย์แมดเซน เปิดเผยว่า เพอรอฟสไกต์เป็นวัสดุที่ราคาไม่แพง เหมาะแก่การใช้ในเชิงพาณิชย์ พื้นที่ที่เหมาะแก่การติดตั้งโซลาร์เซลล์โปร่งใดมากที่สุดคือ ตึกสูง
เดิมทีอาจจะติดโซลาร์เซลล์ได้แค่ชั้นดาดฟ้า แต่การมาถึงของโซลาร์เซลล์โปร่งใสนี้ ทำให้กระจกทุก ๆ บ้านทั่วตึกสามารถแปรเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้หมดเลย ประโยชน์ที่ตามมาคือ ตึกนั้น ๆ จะกลายเป็นตึกประหยัดพลังงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำ
อย่างไรก็ดี โปรเจกต์นี้ มีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี หรือ Technology Readiness Level (TRL) อยู่ที่ระดับ 5 ถึง 6 ซึ่งมีความหมายว่าโครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนพิสูจน์แนวคิด และต้นแบบ แต่ทั้งนี้ แมดเซน เปิดเผยว่า ทีมกำลังหารือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไป และจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายขนาดเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์
ที่มา: Independent
ข่าวที่เกี่ยวข้อง