หากใครที่กำลังวางแผนจะลัดฟ้าไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่คุณควรรู้เมื่อเข้าไปซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อคือ ต้องจ่ายเงินค่าถุงพลาสติก 3 เยน เพราะมิฉะนั้น คุณอาจเจอปัญหาที่ชายชาวอังกฤษผู้นี้กำลังเผชิญอยู่
เรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองซัปโปโร ชายชาวอังกฤษ วัย 48 ปี ได้เข้าไปเลือกของในร้านสะดวกซื้อ เมื่อได้ของที่ต้องการแล้วจึงเดินไปคิดเงินที่เครื่องคิดเงินอัตโนมัติ เมื่อคิดเงินเสร็จเจ้าตัวเอื้อมไปหยิบถุงพลาสติกติดมือไปด้วย และเดินออกจากร้านไป
พนักงานขายในร้านสะดวกซื้อ วัย 40 ปี เห็นดังนั้นจึงเดินตามไปชี้แจงกับชาวอังกฤษว่าต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกในราคา 3 เยน หลังจากนั้นชายชาวอังกฤษก็ทำร้ายร่างกายพนักงาน (ต่อย) พนักงานร้านสะดวกซื้อจึงเดินทางไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และชายคนดังกล่าวก็ถูกจับในเวลาต่อมา
“มือของผมอาจไปโดนหน้าเขาตอนที่ผมผลักเขาออกไป” ชายชาวอังกฤษ กล่าวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สรุปได้ว่า ตำรวจญี่ปุ่นจับชายอังกฤษคนนี้เพราะลงมือทำร้ายร่างกายผู้อื่น มิใช่ถูกจับเพราะไม่จ่ายค่าถุงพลาสติก แต่เป็นข้อหาทำร้ายร่างกาย อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้สะท้อนว่าหากเราไม่ศึกษากฎ หรือข้อบังคับของบ้านเมืองนั้น ๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาได้
ประเทศญี่ปุ่นได้มีการบังคับเรียกเก็บเงินสำหรับถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ในร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2020 โดย 1 ถุง จะมีราคาอยู่ที่ 3 เยน คิดเป็นเงินไทยแล้วราคาไม่ถึงบาท
แต่ถ้าเป็นถุงพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก ผู้บริโภคสามารถขอได้ฟรี อย่างไรก็ดี ถุงพลาสติกชีวภาพมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1. ผลิตจากชีวมวล (biomass) 2. ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบพื้นฐาน (bio-based) อาทิ ฟางข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ
ทั้งนี้ มาตรการเก็บค่าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมญี่ปุ่นเป็นวงกว้าง (ในแง่พฤติกรรม) จากการสำรวจของกระทรวงสิ่งแวดล้อม และสมาคมร้านค้าของญี่ปุ่น สามารถสรุปได้ดังนี้
ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Sustainability and Transformation ระบุว่า ญี่ปุ่นสร้างขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ล้านตัน ระหว่างปี 1950-2015 โดยมีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ 12% ถูกเผา และ 80% ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักข่าว The Japan News เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นสร้างขยะพลาสติกมากถึง 8.2 ล้านตันในปี 2021 ถุงพลาสติกคิดเป็นสัดส่วน 1.2% นอกจากนี้ ขยะพลาสติกกว่า 5-12 ล้านใบ ไหลลงสู่มหาสมุทรกลายเป็นขยะทะเล
ที่มา: Unseen-Japan, PLOS Sustainability and Transformation
ข่าวที่เกี่ยวข้อง