svasdssvasds

นี่แหละญี่ปุ่น ! คิดค้น บรรจุภัณฑ์กินได้ ทำจากแป้งมันฝรั่ง มีหลากหลายรสชาติ

นี่แหละญี่ปุ่น ! คิดค้น บรรจุภัณฑ์กินได้ ทำจากแป้งมันฝรั่ง มีหลากหลายรสชาติ

ญี่ปุ่นถือเป็นชนชาติที่มักมีไอเดียสร้างสรรค์อยู่เสมอ ขณะเดียวกัน ก็เป็นชาติที่ทิ้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่อคนมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก ยกเว้นสหรัฐอเมริกา

ในแง่นี้ ต้องเรียกกันตามตรงว่าแดนอาทิตย์อุทัยกำลังแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างดี ก่อนหน้านี้ 7-Eleven ญี่ปุ่น ขายข้าวปั้นโอนิกิริ ซึ่งหุ้มด้วยพลาสติกชีวภาพ (bioplastic) หรือ Kit Kat ที่ใช้กระดาษโอริกามิรีไซเคิล (Origami) เป็นบรรจุภัณฑ์

ตอนนี้ ผู้ผลิตไอศกรีมจากจังหวัดไอจิ (Aichi) ชื่อว่า Marushige Seika ได้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยการเสนอทางเลือกของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความอิ่มหนำของเราด้วย เอ๊ะ หมายความว่าอะไร ?

บรรจุภัณฑ์กินได้ Credit ภาพ Marushige Seika

Marushige Seika คือบริษัทขายไอศกรีม สัญชาติญี่ปุ่น ล่าสุด ได้คิดค้นสิ่งที่เรียกว่า e-tray ซึ่งเป็นถาด หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถกินได้ มีทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยม วงรี มีความแข็งแรง และกันน้ำได้เพียงพอสำหรับที่จะใส่อาหาร

ผู้ที่เคยลิ้มลอง e-tray มาแล้วบรรยายไว้ว่า มีเนื้อสัมผัสคล้ายไอศกรีมโคน กรุบกรอบ หนาประมาณ 5 มิลลิเมตร โดยทำขึ้นจากแป้งมันฝรั่ง และมีหลากหลายรสชาติด้วยกัน อาทิ หัวหอม มันเทศ แครกเกอร์กุ้ง และข้าวโพด

บรรจุภัณฑ์กินได้ Credit ภาพ Marushige Seika

Katsuhiko Sakakibara จากบริษัท Marushige Seika ให้สัมภาษณ์กับ JapanTimes ว่า “หากภาชนะที่รับประทานได้แพร่หลายไปทั่วทั้งสังคมและมาแทนที่พลาสติก ก็จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก”

“แม้ว่าจานจะถูกทิ้งและทิ้งไว้โดยไม่ได้กิน จานเหล่านั้นก็จะสลายตัวเร็วกว่าพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรืออาจกลายเป็นอาหารของสัตว์”

บรรจุภัณฑ์กินได้ Credit ภาพ Marushige Seika

เมื่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นปัญหา งั้นเราก็ไม่ต้องนึกถึงมันไปเลย ต้องบอกว่านี่เป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยมไอเดียหนึ่ง เพราะอย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ญี่ปุ่นสร้างขยะบรรจุภัณฑ์ 32.4 กิโลกรัมต่อคน มากเป็นอันดับสองของโลก (รองจากสหรัฐฯ)

หรือใครที่ยังไม่ไว้ใจ ก็ไม่ถือเป็นการบังคับ เพราะ e-tray คือทางเลือกหนึ่ง เราจะกินหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่ก็แค่โยนทิ้งไป เพราะมันสลายได้เองในธรรมชาติ ไม่กลายเป็นขยะ ล่าสุด Katsuhiko Sakakibara ได้ผลิตแก้วกาแฟกินได้แล้ว แถมไม่รบกวนรสชาติของกาแฟแม้แต่นิดเดียว

 

ที่มา: Japan Times, Financial Review

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related