SHORT CUT
ข่าวด่วนคนกินปลา #หยุดม.69 กลุ่มประมงรวมตัวคัดค้าน รัฐบาลกำลังอนุมัติให้ประมงพาณิชย์ใช้อวนตาถี่จับปลาตอนกลางคืน อาจส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำวิกฤต
25 ธ.ค. 2567 กลุ่มประมงพื้นบ้านรวมตัว คัดคาดพ.ร.ก.ประมง มาตรา 69 เผย ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่มีความสำคัญเฉพาะกลุ่มชาวประมงเพียงอย่างเดียว แต่สำคัญกับคนไทยทุก ๆ คนที่กินปลา
ช่วงนี้กำลังมีประเด็นร้อนแรงเกิดขึ้น นั่นคือ การคัดค้านร่างพ.ร.ก.ประมงฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในรัฐสภาขณะนี้ (25 ธ.ค.2567) หลายฝ่ายกังวล หากผ่านความเห็นชอบ จะนำไปสู่ผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลของไทยมหาศาล
มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EFJ) สมาคมรักษ์ทะเลไทย และกลุ่มประมงไทยอีกหลายท่าน ๆ กำลังแสดงพลัง คัดค้านไม่เห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ..... ซึ่งได้ถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ในวันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2567 ณ อาคารรัฐสภา
เนื่องจากร่างพ.ร.ก.ประมงฉบับนี้ได้มีการแก้ไข มาตรา 69 โดยเนื้อหาเดิมระบุว่า
“มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน”
แต่ร่างพ.ร.ก.ประมง มาตรา 69 ที่ถูกแก้ไขใหม่ระบุว่า
“มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งในเวลากลางคืน”
การทำการประมงนอกเจตพื้นที่สิบสองไมล์ทะเลตามวรรหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ ตามรัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วย
ปัญหาอยู่ที่อวนที่มีช่องตาเล็กกว่า 2.5 ซม. และการอนุญาติให้จับสัตว์น้ำได้ในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง เนื่องจากอวนล้อมจับปลาตาถี่ที่มีขนาดเล็กมากแบบนี้ หากเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่นำไปใช้จับสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อาจทำให้กลายเป็นเครื่องมือที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน
โดยสมาคมรักษ์ทะเลระบุว่า หากอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ 2.5 ซม.ในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่ง จะเป็นการตัดเส้นทางอพยพของฝูงลูกปลาเศรษฐกิจพอดี และก็สวนทางกับแนวทางของโลกที่กำลังรณรงค์ให้ใช้ตาข่ายที่มีช่องตาห่างมากขึ้น เพื่อให้ไม่เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยบังเอิญมากเกินไป
หรืออธิบายง่าย ๆ คือ อวนตาถี่ มีขนาดเล็กมาก เมื่อใช้สำหรับการประมงขนาดใหญ่ เวลาจับสัตว์น้ำขึ้นมา ก็จะมีปลาขนาดเล็ก หรือลูกปลาวัยกำลังโต ติดอวนขึ้นมาด้วย ซึ่งลูกปลาเหล่านี้ ยังอยู่ในวัยที่ไม่ควรบริโภค การสร้างระบบนิเวศประชากรสัตว์น้ำให้มีความสดุล จะช่วยให้เรามีปลากินอย่างยั่งยืน
หากลูกปลาหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับขึ้นมามากเกินไป ก็จะส่งผลต่อวงจรการเพิ่มประชากรของสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ทำให้ประชากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจลดน้อยลง ปลาหายากมากขึ้น อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และแน่นอนส่งผลต่อคนกินปลาชาวไทยทุก ๆ คน
นอกจากนี้ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เผยว่า ข้อกังวลที่ภาคประชาสังคมพบครอบคลุมทั้งประเด็นการทำประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิทธิแรงงานในภาคประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล โดยมีมาตราที่น่าเป็นห่วง อาทิ
มาตรา 10/1-11/1 โดยการละเลยหรือเปลี่ยนแปลงข้อบทนี้ จะเป็นการลดทอนการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและแรงงานเด็กในสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ
มาตรา 69 โดยการอนุญาติอวนล้อมจับปั่นไฟจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่นี้ อาจนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์น้ำครั้งใหญ่
มาตรา 85/1 โดยการเปลี่ยนแปลงข้อบทที่เกี่ยวกับการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล จะสร้างความท้าทายในการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของสัตว์น้ำ
อย่างไรก็ตาม บนโลกโซเชียล พี่น้องประมงพื้นบ้านหลายท่าน ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะอนุญาตให้ใช้มาตรการดังกล่าว และกล่าวว่า หากการพิจารณาผ่านวาระ3 ไปได้ เท่ากับว่า สมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. และสว. กำลังร่วมกัน “ฆาตกรรม” ทะเลไทยครั้งใหญ่ และนั่นคือหายนะของชาวประมงทุกคน ทุกกลุ่ม และหายนะของประเทศระยะยาว