svasdssvasds

แค่ ‘รีไซเคิล’ แก้ปัญหามลพิษจากพลาสติกที่ทำลายโลกของเราไม่ได้

แค่ ‘รีไซเคิล’ แก้ปัญหามลพิษจากพลาสติกที่ทำลายโลกของเราไม่ได้

แน่นอนว่าการ ‘รีไซเคิล‘ คือหนึ่งในวิธีบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนควรร่วมมือกัน แต่เราอาจกำลังถูกหลอกโดยกลุ่มอุตสาหกรรมผู้สร้างขยะพลาสติก ว่าการ ‘รีไซเคิล‘ อย่างเดียว จะแก้ปัญหาทั้งหมดที่พวกเขาก่อขึ้นมาได้

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญ และนักเคลื่อนไหวจากกว่า 200 ประเทศได้รวมตัวกันเป็นครั้งที่สี่ในเมืองออตตาวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมที่จัดขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ มีเป้าหมายเพื่อหาทางแก้ไขปัญหามลภาวะจากพลาสติกของโลก ซึ่งในที่สุดก็ได้รับความสนใจอย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่ประเทศที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าการแก้ปัญหาขยะพลาสติกต้อง ‘ลดการผลิตพลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล’ แต่กลุ่มประเทศผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของโลกจำนวนหนึ่ง ซึ่งนำโดยจีน ได้รวมกลุ่มกับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ นำโดยซาอุดีอาระเบีย และกล่าวโต้แย้งว่าวิธีแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่การจำกัดปริมาณการผลิต แต่เป็น ‘การรีไซเคิล’ ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้พูดถึงเลยว่า 'อุตสาหกรรมรีไซเคิล' ได้สร้างความวุ่นวายให้กับโลกมากแค่ไหน เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการรีไซเคิล กลายเป็นการเปลี่ยนขยะพลาสติกซึ่งเป็นวัสดุอันตราย ให้กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศ โดยไม่มีใครรู้ถึงที่มาและความเสี่ยงในการใช้สินค้าเหล่านั้น

แค่ ‘รีไซเคิล’ แก้ปัญหามลพิษจากพลาสติกที่ทำลายโลกของเราไม่ได้

อ้างอิงจากอนุสัญญาบาเซิล ขยะพลาสติกถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามความเป็นพิษและความสามารถในการรีไซเคิล 

  1. B3011 - ขยะที่รีไซเคิลได้ง่ายและปลอดภัยที่สุด มีการควบคุมเพื่อให้พลาสติกชนิดนี้ปราศจากการปนเปื้อนและขยะประเภทอื่นๆ
  2. B3210 - ขยะที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย เช่น บรรจุภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาด จะต้องกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีต้นทุนสูงสำหรับบริษัทรีไซเคิล
  3. Y48 - ขยะผสมและปนเปื้อนที่ไม่เป็นอันตราย

ปัญหาคือ บริษัทจัดการขยะมักจะปลอมแปลงเอกสาร เช่น ระบุขยะ Y48 เป็น B3011 และพยายามซ่อนขยะพลาสติกปนเปื้อน B3210 ไว้ในขยะประเภทอื่นๆ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้จาดการค้าขยะอย่างน้อย 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนขยะเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิลขายเป็นบรรจุภัณฑ์ในประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ไม่มีใครรู้ตัวว่ากำลังใช้สินค้าที่อาจปนเปื้อนสารพิษอันตราย

แค่ ‘รีไซเคิล’ แก้ปัญหามลพิษจากพลาสติกที่ทำลายโลกของเราไม่ได้

ปัจจุบันการค้าขยะพลาสติกกลายมาเป็นประเด็นที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศหลายแห่งจับตามอง ในฐานะอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดหวังให้รัฐบาลทั่วโลกยอมรับว่านี่คือปัญหาใหญ่ และวิธีแก้ปัญหาคือการผลักดันอย่างเข้มงวดในการลดปริมาณการผลิตพลาสติก ห้ามใช้สารเคมีอันตรายในการผลิตพลาสติก หรือการทำให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทุกคน เนื่องจากพลาสติกได้แทรกซึมเข้าไปในแทบทุกแง่มุมของกิจวัตรประจำวันของเรา และมันไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นความพยายามของอุตสาหกรรมน้ำมันและพลาสติก ที่ต้องการให้ทุกคนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเป็นสิ่งจำเป็นที่เราไม่สามารถขาดมันได้