SHORT CUT
วรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TSB เผย เทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) คือ กุญแจสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย สะดวกสบายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จากงานสัมมนา “THAILAND SMART CITY 2025” ภายใต้หัวข้อ “SMART ENERGY เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ สปริงนิวส์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
วรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TSB กล่าวว่า "กรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการจราจรติดขัด มลภาวะทางอากาศ และการบริหารจัดการ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ "เทคโนโลยีอัจฉริยะ" (Smart Technology) ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมระบบขนส่งสาธารณะ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของเมือง และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"
ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหาเร่งด่วน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ปัญหาจราจรติดขัด มลภาวะทางอากาศ และการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเดิมทีระบบขนส่งมวลชนถือเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 30% ของประเทศ
การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในระบบขนส่งมวลชน โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ การบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะการจัดการที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ส่งผลโดยตรงต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาจราจรติดขัด และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างยั่งยืน
Multi-Modal Integration : การบูรณาการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็ว และยกระดับประสิทธิภาพในการเดินทางของประชาชน
Last-Mile Connectivity : การแก้ไขปัญหาการเดินทาง ด้วยการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะหลักเข้ากับระบบขนส่งขนาดเล็ก เช่น จักรยานสาธารณะ รถสามล้อไฟฟ้า หรือบริการเรียกรถ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
Efficent and Reliable : การให้บริการที่ตรงต่อเวลา สามารถคาดการณ์เวลาเดินทางได้ล่วงหน้า มีความถี่ในการให้บริการที่เหมาะสม และมีการออกแบบเส้นทางให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ โดยไม่ซ้ำซ้อน เพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชน
Safe and Secure : การติดตั้งระบบตรวจจับความผิดปกติของรถ และพนักงานขับรถ พร้อมระบบตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสาร
Inclusive and Accessible : การออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ โดยคำนึงถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก เป็นสำคัญ พร้อมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ที่นั่งพิเศษ ระบบช่วยเหลือทางภาพและเสียง รวมถึงกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม
"พลังงานสะอาดไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคขนส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีสัดส่วนการใช้รถโดยสารพลังงานสะอาดน้อยมาก คิดเป็นเพียง 2%
รถโดยสารไฟฟ้า (EV) แม้มีต้นทุนการซ่อมบำรุงและต้นทุนพลังงานต่ำกว่ารถยนต์สันดาป แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนแบตเตอรี่ ซึ่งต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา และการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น นโยบายด้านภาษี เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้รถ EV
การพัฒนา Smart City ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการบูรณาการข้อมูล และเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น ไฟจราจร ทางกั้นรถ หรือป้ายอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนด้านภาษีจากภาครัฐ หรือการแบ่งปันข้อมูลจากภาคเอกชน เพื่อนำมาใช้เชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ สะดวกสบาย และเข้าถึงง่าย จะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ประชาชนเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะทางอากาศ และสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
เทคโนโลยี เป็นเพียงเครื่องมือ สิ่งสำคัญคือการนำมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ความยั่งยืน โดย Thai Smile Bus เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อยกระดับการให้บริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน