จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถลอยน้ำไปทำงานได้ ใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที SPRiNG พาไปดูสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ผู้คนชอบลอยน้ำไปทำงาน เพื่อเลี่ยงรถติด แถมประชาชนก็มั่นใจ เพราะน้ำสะอาดมาก
มาลองนึกดูแล้ว จะมีที่แห่งไหนบ้างในโลกที่คุณสามารถว่ายน้ำไปทำงานได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องคุณภาพน้ำ ไม่มีอันตราย รวมถึงใช้เวลาไม่นาน และที่สำคัญ คุณจะมีเพื่อนร่วมทาง (จริง ๆ ต้องบอกว่าเพื่อนร่วมแม่น้ำ) อีกเพียบ ไม่เหงาแน่นอน
ที่แห่งนั้นเกิดขึ้นเป็นปรกติในสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความสะอาด ทั้งคุณภาพอากาศ-น้ำ ขยะ จนเป็นที่กล่าวขานว่าชาวสวิตฯ มีคุณภาพชีวิตดี ติดอันดับต้น ๆ ของโลก
หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงฤดูร้อน หรือลองเสิร์ชคำว่า “swim to work” บนแพลตฟอร์ม TikTok คุณจะเห็นคนลอยน้ำตุ๊บป่อง ๆ เกลื่อนแม่น้ำในสวิตเซอร์แลนด์เยอะมาก การลอยน้ำเล่น
หรือแม้กระทั่งลอยน้ำไปทำงาน เป็นกิจกรรมซึ่งเป็นที่นิยมในหลาย ๆ เมือง อาทิ บาเซิล ซูริค ซึ่งมีแม่น้ำไรน์ (Rhine) และแม่น้ำอาเร (Aare) ไหลผ่าน ยิ่งช่วงหน้าร้อนยิ่งฮิตหนัก พ่อแม่จะจูงมือลูก ๆ พากันมากระโดดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
แต่คำถามที่คนที่อยู่เมืองไทยอย่างเรา ๆ สงสัยก็คือ ทำไมชาวสวิตฯ ถึงกล้าว่ายน้ำ แม่น้ำที่นู่นสะอาดแค่ไหน แม้เบื้องหน้าจะเห็นคนว่ายน้ำกันเป็นเรื่องปกติ แต่รู้หรือไม่ว่า ในอดีตชาวสวิตฯ ผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งน้ำสะอาดแบบที่เห็นทุกวันนี้ และมุมอันตรายของมันก็มีอยู่เหมือนกัน...
แม้ทุกวันนี้สวิตเซอร์แลนด์จะมีชื่อเสียงมาก เมื่อพูดถึงคุณภาพน้ำ และเป็นต้นแบบของหลาย ๆ ประเทศ แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต ราวทศวรรษ 1960s มีชาวสวิตฯ เพียง 15% เท่านั้น ที่ปล่อยน้ำไปยังโรงบำบัดน้ำเสีย ที่เหลือปล่อยน้ำเน่าลงแม่น้ำ และทะเลสาบโดยตรง รวมถึงน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมก็ปล่อยลงแหล่งน้ำ โดยไม่ผ่านการบำบัด
ไมเคิล เชเรอร์ หัวหน้าฝ่ายปกป้องแหล่งน้ำของสำนักงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลาง ได้เปิดเผยว่า ในช่วงทศวรรษ 1960-1970s จะมีเรือท้องแบน (sea cow) ที่คอยกำจัดสาหร่ายจำนวนมากออกจากแหล่งน้ำเน่าเสีย
กับอีกหนึ่งภาพจำคือ มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เนื่องจากเผลอกลืนน้ำลงไปโดยไม่ตั้งใจ อันตรายถึงขั้นแม่น้ำบางแห่งมีการติดป้ายเตือนว่าห้ามลงเล่นน้ำเด็ดขาด
จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1967 ประชาชนเริ่มตระหนักว่า อยากมีแม่น้ำที่สะอาดกว่านี้ จึงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงคุณภาพน้ำ กระทั่งในปี 1971 รัฐบาลประกาศบังคับใช้กฎหมายบำบัดน้ำเสีย ที่มีชื่อว่า “Protection of Waters against Pollution” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คุณภาพน้ำในสวิตเซอร์แลนด์ก็ค่อย ๆ ปรับปรุงจนใสแจ๋วแบบที่เห็นในปัจจุบัน
ตัดกลับมาในปัจจุบัน ในโมงยามที่แม่น้ำสายหลัก อาทิ ไรน์ และอาเร กลับมาสะอาดแล้ว จึงบังเกิดเป็นกิจกรรมที่ฮิตมากในช่วงฤดูร้อน นั่นก็คือ ว่ายน้ำ ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว พ่อแม่ผู้ปกครองมักชวนลูก ๆ ไปกระโดดน้ำเล่นตามแม่น้ำใจกลางเมือง และแต่ละคนก็มีห่วงยางสวมไว้อย่างจริงจัง แต่เรื่องราวนี้มันพีคไปอีกขั้นคือ ชาวสวิตฯ มั่นใจในคุณภาพน้ำมากถึงขั้นว่ายน้ำไปทำงาน
เมื่อไปค้นข้อมูลจาก IamExpat in Switzerland ก็พบว่า ชาวสวิตฯ ใช้เวลาไปกับการรถติดบนถนนราว 48 ชั่งโมงต่อปี ในปี 2023 ขณะที่ประเทศไทย เสียเวลากับรถติดมากกว่า 61 ชั่วโมงต่อปี เป็นอันดับ 1 ของโลก อย่างไรก็ดี ชาวสวิตฯ ส่วนใหญ่เล็งเห็นว่า การว่ายน้ำไปทำงานสะดวกกว่า บางรายใช้เวลาไม่ถึง 3 นาที
โดยก่อนออกจากบ้านก็สวมชุดว่ายน้ำให้เรียบร้อย และทุกคนจะมีกระเป๋ายางติดตัวอยู่ 1 ใบ ในนั้นบรรจุชุดทำงาน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ กระเป๋าเงิน และอื่น ๆ นอกจากนี้ กระเป๋ายางจะช่วยให้ลอยน้ำได้ดีขึ้นด้วย จากนั้น ก็แค่กระโดดตู้ม แล้วปล่อยตัวให้ลอยไปตามกระแสน้ำ ไม่กี่นาทีก็ถึง
แต่มีข้อแม้ว่าอย่าหลับล่ะ ไม่งั้นเลยเดี๋ยวจะเป็นเรื่อง พอถึงที่ทำงานก็ขึ้นฝั่ง ไปเป่าผม แต่งตัวอะไรให้เรียบร้อย ข้อมูลบางแห่งอธิบายว่า บางออฟฟิศมีห้องแต่งตัวไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
การลอยน้ำไปทำงานของชาวสวิตฯ แม้จะเป็นเรื่องที่ชาวไทยจินตนาการไม่ออก หากว่ากันตามตรง นี่คือคุณภาพชีวิตที่ดีรูปแบบหนึ่ง เมื่อแม่น้ำสะอาดมากเสียจนประชาชนกล้าถอดผ้าผ่อน กระโดดลงน้ำ และว่ายไปทำงานได้
ที่มา: House of switzerland, Observing Leslie, New York Post
ข่าวที่เกี่ยวข้อง