SHORT CUT
ยางพาราไทยก็รักษ์โลกได้! Keep The World พาไปรู้จักกับ ยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ นวัตกรรมน้องใหม่ ดันอุตสาหกรรมยางพาราไทยรักษ์โลก แถมช่วยเพิ่มรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรได้
อุตสาหกรรมยางพาราไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล เพราะยางพาราสามารถนำไปแปรรูปได้อย่างหลากหลายและเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยางรถยนต์ สายพานลำเรียงสินค้า ยางลบ รองเท้า หนังยาง ถุงมือยาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งมีความต้องการจากทั่วทุกมุมทั่วโลก
การวิเคราะห์จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยว่า อุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมปีพ.ศ. 2566-2568 มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องทั้งในด้านของการผลิตและอุปสงค์หรือความต้องการใช้ โดยปัจจัยการเพิ่มขึ้นมาจาก การขยายพื้นที่เพาะปลูก สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวและการดูแลรักษา ท่ามกลางคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตขาดแคลนแรงงานและปัญหาโรคใบร่วงของยางพารา
กว่าร้อยละ 90 ของการผลิตยางธรรมชาติของประเทศไทยมาจากเกษตรกรรายย่อย โดยความเป็นอยู่ของเกษตรกรเหล่านี้ผูกโยงอยู่กับราคายางที่มีความผันผวนตามราคาของน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์
จึงทำให้ในปีพ.ศ.2537-2538 รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง โรงงานยางแผ่นรมควันขนาดเล็ก หรือ “สหกรณ์ยางแผ่นรมควัน” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการนำน้ำยางสดธรรมชาติมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันที่สามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้
การผลิตยางแผ่นรมควันซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลัก สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลที่ตามมาคือ การใช้ฟืนทำให้ต้นทุนการแปรรูปสูง และบางครั้งยางก็ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการเพราะควบคุมยาง จึงส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร นอกจากนี้ กระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบของสหกรณ์
จากปัญหาข้างต้น ในปีพ.ศ.2558 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ดำเนินโครงการ “เชฟรอนพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ยางท้องถิ่น”
มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยได้มีการนำร่องโครงการ ณ สหกรณ์บ้านทรายขาวและสหกรณ์ยูงทอง จังหวัดสงขลา
โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน นำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ลดค่าไฟฟ้าในการผลิตยางแผ่น หมุนเวียนใช้น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิต นำมาบำบัดและหมักเป็นก๊าซชีวภาพในบ่อปิด ช่วยขจัดกลิ่นเหม็นรบกวน
ทั้งยังนำก๊าซที่ได้ไปใช้ในการรมควันยางแผ่นร่วมกับไม้ฟืน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังนำน้ำทิ้งที่บำบัดแล้วซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารไปใช้เป็นน้ำปุ๋ยแก่สวนยางพาราโดยรอบ การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด ช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำยางในสวนยางพารา ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพยางแผ่นรมควัน ตลอดจนทำให้การผลิตยางแผ่นรมควันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผลการดำเนินงานจากกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ พบว่า...
โดยตลอดการดำเนินงาน เชฟรอนได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ด้วยงบประมาณรวมกว่า 10.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตแผ่นยางรมควันในระดับชุมชนสู่เป้าหมายความยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนระยะยาว พร้อมผลักดันสหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทอง ให้ก้าวสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แห่งแรกของประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง