svasdssvasds

หนุนธุรกิจSME ไทย ปรับตัว! สู่เศรษฐกิจสีเขียว รับมือมาตรการการค้าโลก

หนุนธุรกิจSME ไทย ปรับตัว! สู่เศรษฐกิจสีเขียว รับมือมาตรการการค้าโลก

ธุรกิจSME ไทย ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สสว. เดินหน้าจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว กระตุ้น SME รับมือมาตรการการค้าโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจ SME คือ ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการส่งเสริม SME ไทยทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรับมือมาตรการการค้าโลก ซึ่งล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ได้เปิดตัวโครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SME ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

 

ทั้งนี้โครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลด้านแนวคิด ความจำเป็น และลักษณะการดำเนินธุรกิจปัจจุบันในเวทีโลก ที่เป็นตัวกระตุ้นให้แต่ละภาคส่วนต้องมีการปรับตัว และรับสมัครสถานประกอบการเข้าเป็นสถานประกอบการนำร่อง กลุ่มอุตสาหกรรมละ 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 18 แห่ง

ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งจะได้รับคำปรึกษาเชิงลึกเพื่อการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว รวมถึงได้รับประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ทราบ Baseline Emission ของตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสถานประกอบการ 6 แห่งที่มีความพร้อม จะได้รับการทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการ

โดยนายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นความท้าทายระดับโลก โดยได้มีคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ทั่วโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 10 ประเทศไทยจึงมีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC COP ในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้มีการประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ประกอบกับในต่างประเทศได้เริ่มใช้เงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) เช่น สหภาพยุโรปมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้กระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการ

นอกสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน อาจมีการพิจารณาการใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันในอนาคต ดังนั้นแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) จึงเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะเป็นการพัฒนาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้นธุรกิจในทุกระดับจึงต้องดำเนินการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันจากนโยบายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นขึ้นในอนาคต ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อม และยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตในสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รวมถึงส่งเสริม และสร้างมาตรฐานการตรวจสอบ การรับประกัน และการรับรองในระดับสากล เพื่อยกระดับการประกอบการอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการทุกขนาด

ด้านนางอภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนา และยกระดับการประกอบการของธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีศักยภาพในการแข่งข้นและประกอบกิจการให้ทัดเทียมกับกฎ ระเบียบ และมาตรการใหม่ๆ ของโลก เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.

โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SME ซึ่งโดยมากแล้วยังขาดองค์ความรู้และบุคลากรในการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในทุกด้านมากกว่า

เริ่มต้นที่กลุ่มอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม การท่องเที่ยว พลาสติก สิ่งทอ และอาหาร โดยจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกร่วมกับการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว และพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้และความสามารถในการจัดการ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเป็นการยกระดับโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) ให้สามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและเศรษฐกิจระดับมหาภาค

โครงการนี้นับเป็นอีกโครงการดีๆ ที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ให้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการค้าในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related