สรุปสถานการณ์ ซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั่วโลก ปี 2022 ถึงกลางปี 2023 ตลาดหัวใจรักษ์โลกของไทยคึกคักมาก มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 207 ล้านบาท , คาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล และโครงการประเภทป่าไม้ ซื้อขายสูงสุด
สรุปสถานการณ์ ซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั่วโลก ปี 2022 ถึงกลางปี 2023 ตลาดหัวใจรักษ์โลกของไทยคึกคักมาก มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 207 ล้านบาท , คาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล และโครงการประเภทป่าไม้ ซื้อขายสูงสุด ส่วนในภาพรวมของโลก ราคาคาร์บอนเครดิตประเภท Removal มีราคาสูงกว่าประเภทอื่น
เรื่องของประเด็น Keep The World รักสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง อย่างปฏิเสธไม่ได้ โดย ปี 2022 จนถึงกลางปี 2023 เรื่องของ ราคาคาร์บอนเครดิตมีความหลากหลายมากๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามประเภทตลาด (Market Segment) และประเภทโครงการ (Project Category) และมีการพัฒนาการที่ดี
โดยจากรายงาน “State and Trend of Carbon Pricing 2023” ของธนาคารโลก พบว่า ศูนย์ซื้อขาย (Exchange) จะใช้สัญญามาตรฐาน (Standardized Contract) เพื่อจัดกลุ่มคาร์บอนเครดิตตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องและสะดวกต่อการลงทุน แต่ผลกระทบอีกด้านคือการให้มูลค่าของคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยหลักอย่างคุณภาพโครงการซึ่งคุณภาพสูงและคุณภาพต่ำกว่าถูกจัดอยู่ในระดับเดียวกัน เป็นแรงกดดันด้านราคาให้ลดลงได้
ผู้ขายคาร์บอนเครดิต จึงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อราคานี้โดยการซื้อขายแบบทวิภาค (Bilateral/Over-the-Counter) มากกว่าผ่านศูนย์ซื้อขาย โดย Ecosystem Marketplace ได้เก็บสถิติการซื้อขายผ่าน OTC จากกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 6.83 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (US$/tCO2eq)
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาคาร์บอนเครดิตมาจากหลายปัจจัย เช่น
•ประเภทโครงการ (Project type)
•มาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิต (Standard issuing)
•ปีที่เกิดกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกและรับรองคาร์บอนเครดิต (Vintage year)
•ผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) เป็นผลให้ราคาของเครดิตแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างมาก
รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความพึงพอใจของผู้ซื้ออีกด้วย
จากสถิติในปี 2022 พบว่า ราคาคาร์บอนเครดิตประเภท Removal มีราคาสูงกว่าประเภทอื่นอย่างเห็นได้ชัด (Price premium) ราคาอยู่ที่ 12-20 เหรียญสหรัฐ/tCO2eq
ตามรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ว่าด้วยการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 2 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า จำเป็นต้องทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกประเภทดูดกลับด้วยเทคโนโลยี (Technological removal) ขนาดใหญ่ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำมาใช้และมีราคาต้นทุนสูงกว่าราคาคาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายกันในตลาดที่เป็นอยู่มาก เช่น Carbon capture and storage (CCS), Direct air capture and storage อยู่ที่ช่วง 250-600 เหรียญสหรัฐ/tCO2eq ในขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตประเภทการกักเก็บคาร์บอนจากป่าไม้ การลดก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานทดแทน ราคาซื้อขายจะต่ำกว่า 5 เหรียญสหรัฐ/tCO2eq
ส่วน การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศไทย ตลอดปีงบประมาณ 2022 มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้น 1,187,327 tCO2eq มูลค่าการซื้อขายกว่า 128.49 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 108.22 บาท/tCO2eq
ส่วนตลอดปีงบประมาณ 2023 มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้น 857,102 tCO2eq มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 68.32 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 79.71 บาท/tCO2eq รวมแล้วในช่วงเวลานี้ อยู่ที่ราว 207 ล้านบาท
โดย คาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล และโครงการประเภทป่าไม้ มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดในปี 2023 โดยราคาซื้อขายล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2023 ของโครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ อยู่ที่ 250 บาท/tCO2eq โครงการพลังงานทดแทนจากชีวมวล อยู่ที่ 170 บาท/tCO2eq และโครงการประเภทป่าไม้ อยู่ที่ 300 บาท/tCO2eq ส่วนคาร์บอนเครดิตที่มาจากโครงการประเภท Carbon capture and storage (CCS), Direct air capture and storage ยังไม่มีในเมืองไทยใน ณ เวลานี้
ที่มา thaicarbonlabel.tgo.or.th openknowledge.worldbank.org
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผ่าแผน "กู้โลกเดือด” ปตท.สผ. ดัน “EP Net Zero 2050” รุก CCS จิ๊กซอว์สำคัญ
บ้านดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ ลดก๊าซเรือนกระจก 40% ต่อปี