นักวิทยาศาสตร์ฟินแลนด์ไอเดียบรรเจิดพัฒนาวัสดุชีวภาพ ผสมผสานระหว่างเส้นใยไม้และใยแมงมุม เพื่อใช้ทดแทนพลาสติก ย่อยสลายได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตอนนี้กำลังมีการพัฒนาวัสดุชีวภาพชนิดใหม่ที่ผสมผสานระหว่างเส้นใยไม้และใยแมงมุม เพื่อใช้ทดแทนพลาสติกในอนาคต ซึ่งนวัตกรรมนี้เป็นการคิดค้นของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลนด์
ศูนย์วิจัยทางเทคนิควีทีที (VTT Technical Research Centre) ได้พัฒนาวัสดุที่เป็นนวัตกรรมใหม่ชนิดมีประสิทธิภาพเหนือกว่าวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องความแข็งแกร่งและความทนทาน ซึ่งทางนักวิจัยจากศูนย์วีทีทีและมหาวิทยาลัยอัลโต (Aalto University) ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติในการสร้างวัสดุชีวภาพชนิดใหม่ ซึ่งเป็นการผสานเส้นใยเซลลูโลสของไม้และโปรตีนจากใยแมงมุมเข้าด้วยกัน เกิดเป็นวัสดุชีวภาพชนิดใหม่
สำหรับใครที่กังวลว่าจะทดลองกับแมงมุมจริงหรือเปล่า? การพัฒนาวัสดุชีวภาพชนิดใหม่นี้ไม่ใช้ใยแมงมุมจริงในการวิจัย แต่เป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นจากแบคทีเรียและดีเอ็นเอสังเคราะห์ นักวิจัยรู้จักกันดีว่าโครงสร้างของดีเอ็นเอสามารถสร้างเลียนแบบเพื่อใช้ผลิตโมเลกุลโปรตีนใยแมงมุมเทียม ที่มีความคล้ายคลึงทางเคมีกับใยแมงมุมจริง
วัสดุสังเคราะห์นี้สามารถทดแทนพลาสติกได้ในอนาคต ทั้งประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ ใช้เป็นเส้นใยในการผ่าตัด รวมถึงในอุตสาหกรรมสิ่งทอและบรรจุภัณฑ์ได้ด้วย
มาร์คุส ลินเดอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอัลโต เผยว่า วัสดุชีวภาพชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากพลาสติกซึ่งทำมาจากปิโตรเลียมและโพลิเมอร์ที่มีส่วนประกอบของคาร์บอน
ด้าน เพสห์แมน โมฮัมมาดี นักวิจัยวิทยาศาสตร์จากศูนย์วีทีที กล่าวว่า พวกเขาใช้เนื้อไม้ของต้นเบิร์ชซึ่งถูกทำให้แหลกจนเป็นเส้นใยขนาดจิ๋วที่เรียกว่า “เซลลูโลสนาโนไฟบริลส์” ในการพัฒนาวัสดุชนิดใหม่นี้ และใช้เส้นใยแมงมุมยึดวัสดุเข้าด้วยกัน โดยจะทำหน้าที่คล้ายกาว
ที่มา : xinhua thai
เนื้อหาที่น่าสนใจ :