พามาดูแผนของกทม.ที่เดินหน้าพัฒนาเมืองสีเขียว ปลูกป่า เพิ่มสวนสาธารณะ เพิ่มระบบจำกัดขยะ ลุยปลุกเศรษฐกิจ รับต่างชาติกำลังซื้อสูงมาใช้เงิน และรับมือน้ำทะเลรุกพื้นที่
กรุงเทพฯเปิดแผนเดินหน้าพัฒนาเมืองสีเขียว โดยนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในงาน The Cooler Earth Summit (Bangkok) 2023“Transitioning Business for a Better World เปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อโลกที่ดีกว่า” ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบี และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในฐานะที่เป็นธนาคารสมาชิกของกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบีเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงนามรับในหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ ( UNEP FI Principles for Responsible Banking) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate goals) ที่ได้กาหนดไว้ในความตกลงปารีส
ทั้งนี้นายพรพรหม ได้เปิดเผยว่า กรุงเทพฯแม้ว่าจะถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าท่องเที่ยวลำดับต้นๆของโลก แต่เป็นเมืองลำดับที่ 98 ของโลก เมืองเศรษฐกิจที่ต่างชาติอยากมาอยู่อาศัยและใช้เงิน โดยที่ผ่านมากรุงเทพฯเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น รถติด การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำท่วมขัง ฝุ่น PM2.5 และนอกจากนี้ยังพบว่า 20 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทยทำให้น้ำทะเลรุกล้ำพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลมามากพอสมควร โดยมีผลวิจัย ชี้ว่า อีก 20-50 ปี การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้น้ำทะเลรุกล้ำกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งถนนสุขุมวิท เพิ่มอีก
ดังนั้นจึงทำให้กรุงเทพฯ นำโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องเร่งดำเนินแผนงานเพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และรองรับต่างชาติที่จะเข้ามาอยู่ไทย พร้อมมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต่างชาติมีกำลังซื้อสูง
ทั้งนี้ต้องเร่งผลักดันพื้นที่สีเขียว และอากาศสะอาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ สวนสาธารณะสีเขียว ทางเดินคน ทางเดินจักรยาน พร้อมดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันพัฒนาเมือง นอกจากนี้จะต้องมีการจัดหมวดหมู่ข้อมูลให้ค้นหาได้ง่าย ให้มีการเปิดเผยข้อมูลได้มากขึ้น
“แผนงานเพื่อรองรับกรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว เพื่อดึงดูดต่างชาติที่มีกำลังซื้อเข้ามาอยู่อาศัย มาใช้เงิน สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มีมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นกรุงเทพชั้นนอกที่ยังเข้าถึงสวนสีเขียวได้ยากกว่าพื้นที่บกรุงเทพชั้นในที่ใช้เวลาเพียง 15 นาที ก็สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่ายกว่า ขณะนี้เราได้ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นในกรุงเทพ ซึ่งปลูกไปแล้วกว่า 6.4 แสนต้น และจะดำเนินต่อไป”
นอกจากนี้พร้อมเดินหน้าจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นโครงการเปลี่ยนที่ทิ้งขยะบริเวณอ่อนนุชเป็นพื้นที่ปลูกป่า และเชิญชวนให้บริษัทเอกชนร่วมบริจาค และปลูกต้นไม้ โดยว่าจ้างชุมชนให้ดูแล จะก่อให้เกิดรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ไม่เพียงเท่านี้เรื่องใหญ่ที่ต้องทำ คือ การแยกขยะให้ดีมีประสิทธิภาพเนื่องจากต้นทุนการจัดการขยะสูงพอสมควร สำหรับการจัดการขยะที่ดีจะทำให้ปัญหาขยะลดลงได้ โดยพบว่าช่วงที่ผ่านมาของปี2566 ขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดลงหากเมื่อเทียบกับปี 2565
อย่างไรก็ตามยังจะเร่งส่งเสริมการลดขยะเปียกอาหาร ในร้านค้า และห้างสรรพสินค้า อีกทั้งส่งเสริมการบริจาคขวดเพื่อเปลี่ยนเป็นยูนิฟอร์มใหม่พนักงานกวาดถนนของกทม. โดยเป้าหมายทั้งหมดก็เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และต้องการพัฒนาเมืองสีเขียวรองรับคนเก่งจากต่างชาติมาอยู่อาศัย พัฒนาเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดความเสี่ยงแผ่นดินไหวกทม. คนกรุงไม่ต้องตื่นตระหนก ไม่เหมือนเม็กซิโก
อนุญาตบุคลากร กทม. ใส่ชุดลำลองทำงาน เนื้อผ้าระบายอากาศดี ลดการใช้พลังงาน
พยากรณ์อากาศ 3 ก.ย. เตือน! ฝนตกหนักถึงหนักมาก 36 จังหวัด กทม.อ่วมฝนถล่ม 60%