เผยวิธีใหม่ในการรับมือภัยแล้งด้วยการรีไซเคิลน้ำเสียนำกลับมาใช้ใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดน้ำเสีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ ถ้าบำบัดดี สามารถเอาน้ำเสียรีไซเคิลกลับมาใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย
ในยุคโลกรวน อากาศแปรปรวน จนทั้งโลกทั้งไทยต่างอ่วมอรทัยกันจากฝนฟ้าที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปัญหาการขาดแคลนน้ำกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญของคนทั้งโลก หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เราทำกันวิธีหนึ่งนั่นก็คือ การนำน้ำเสียกลับมาบำบัดจนมีคุณภาพดี และนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง หรือที่เรารู้จักกันว่าการรีไซเคิลน้ำ
สำหรับประเทศไทยที่มีทรัพยากรน้ำค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เทคโนโลยีการรีไซเคิลน้ำ เพื่อเอาน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ และยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ไทยเราก็มีการใช้เทคโนโลยีนี้แล้วเช่นกัน และเราสามารถบำบัดให้น้ำเสียสะอาดจนดื่มได้เลยทีเดียว
บำบัดน้ำเสียให้ดื่มได้ ทำยังไงนะ?
ศ.ดร.ชวลิต เผยว่า เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำมาใช้ใหม่ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ใดๆ เลย แต่มีการศึกษาและพัฒนามาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยในอดีต ต้นทุนการรีไซเคิลน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ค่อนข้างมีต้นทุนที่สูง จึงไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ต้นทุนการรีไซเคิลน้ำจึงมีราคาถูกลง กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการหาแหล่งน้ำใช้สำรองในยามน้ำแล้ง
“ปัจจุบัน ต้นทุนการรีไซเคิลน้ำมีราคาถูกลงมาก จนบางครั้งถูกกว่าน้ำประปาเสียอีก ทำให้หลายๆ โรงงานอุตสาหกรรมในเขต EEC (เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) หันมารีไซเคิลน้ำ เอาน้ำกลับมาใช้ใหม่กันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อภาคตะวันออกมีอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้น้ำมาก แต่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงเป็นประจำ โดยน้ำเสียที่ถูกรีไซเคิลและนำกลับไปใช้ใหม่มักเป็นน้ำเสียจากโรงงานเอง นำมาบำบัดและเอาไปใช้ในงานประเภทรดน้ำต้นไม้ ใช้เป็นน้ำหล่อเย็น หรือใช้กับหม้อบอยเลอร์” ศ.ดร.ชวลิต กล่าว
เขาอธิบายว่า สำหรับการบำบัดน้ำเสียให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ วิธีการขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำเสีย เช่น ถ้าหากเป็นน้ำเสียจากชุมชน ก็อาจเพียงแค่กรองน้ำเสียด้วยชั้นทรายและถ่านกัมมันต์ ก็สามารถนำน้ำที่ได้กลับเอามาใช้รดน้ำต้นไม้ หรือใช้ซ้ำในการราดชักโครกได้ แต่หากเป็นน้ำเสียอุตสาหกรรม ก็ควรผ่านการกรองเมมเบรนในระบบรีเวอร์สออสโมซิส (RO) ที่สามารถกรองได้อย่างละเอียด เอาสารเคมีและเชื้อโรคออกจากน้ำได้
โดยน้ำที่ผ่านการกรองอย่างมีมาตรฐานแล้ว จะมีความสะอาดเทียบเท่าน้ำประปา และสะอาดเพียงพอที่จะนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้
“หลายๆ ประเทศที่มาปัญหาขาดแคลนน้ำและแหล่งน้ำจืดอย่างเช่น สิงคโปร์ ได้มีการนำเทคโนโลยีการรีไซเคิลน้ำไปใช้ และมีการออกมาตรฐานชัดเจน จนสามารถนำน้ำเสียมาบำบัดอย่างเช้มข้นโดยใช้เทคโนโลยีรีเวอร์สออสโมซิส จนสามารถนำกลับมาใช้ดื่มได้ เช่นเดียวกับหลายๆ เมืองในสหรัฐอเมริกา ก็มีการรีไซเคิลน้ำเสียนำกลับมาเป็นน้ำดื่มได้เช่นกัน” ศ.ดร.ชวลิต กล่าว
หรือรีไซเคิลน้ำเสียคือทางออกแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ?
ในสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังก่อเค้าข้างหน้า สถานการณ์ต้นทุนน้ำในไทยดูท่าไม่สู้ดี อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในช่วงหน้าแล้งนี้ ศ.ดร.ชวลิต กล่าวว่า การรีไซเคิลน้ำนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะถึงนี้
“ผมมองว่าการรีไซเคิลน้ำสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างแน่นอน และหลายๆ โรงงาน และธุรกิจ ได้ริเริ่มนำหน้าไปก่อนแล้ว ตอนนี้เมื่อพิจารณาทั้งต้นทุนและประโยชน์ที่ได้จากการรีไซเคิลน้ำ นับว่าจำเป็นและคุ้มค่าที่จะทำมากๆ แต่ขณะนี้ภาครํบเรายังไม่มีการออกมาตรฐานและกฎระเบียบที่ชัดเจน ในการนำน้ำเสียมาบำบัดและใช้ซ้ำอีกครั้ง” ศ.ดร.ชวลิต กล่าว
“สำหรับภาคชุมชน ผมมองว่าควรมีวางกฎระเบียบและมาตรฐานน้ำบำบัดรีไซเคิลให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อให้เป็นที่มั่นใจว่า น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจะมีคุณภาพดี สะอาด และปลอดภัยพอที่จะนำมาอุปโภคบริโภคได้”
ยิ่งไปกว่านั้น ศ.ดร.ชวลิต ยังกล่าวว่า การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนก็มีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกัน เพราะปัญหาสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปยังรู้สึกกังวลที่จะใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วเอากลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน
“จริงๆ แล้ว น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดอย่างมีมาตรฐาน มีความปลอดภัยและสะอาดไม่แตกต่างจากน้ำประปาที่เราใช้กันเลย การบำบัดน้ำเสียนอกจากจะช่วยเราบรรเทาผลกระทบจากปัญหาน้ำขาดแคลนแล้ว ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะจะช่วยลดปริมาณน้ำเสียที่จะถูกปล่อยออกไปสู่สิ่งแวดล้อม นับเป็นหนทางที่ดีที่ทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” ศ.ดร.ชวลิต กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง