รู้หรือไม่ น้ำเสียเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมการบิน แต่ถ้าจัดการอย่างเหมาะสมก็สามารถแปลงเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถจ่ายไฟให้กว่า 50 ล้านคนใช้ได้พอทั้งปี
น้ำเสียถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่แทบทุกประเทศทั่วโลกต้องประสบ เพราะน้ำเสียนอกจากจะทำให้ระบบนิเวศและธรรมชาติเสื่อมโทรมลงแล้ว ยังเป็นแหล่งก่อภัยสุขภาพให้กับมนุษย์ หากแต่ทุกวันนี้มีเพียง 11% ของน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาทั่วโลกเท่านั้น ที่ได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า น้ำเสียสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นทรัพยากรที่สามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน การขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังสามารถสกัดเอาสารต่างๆ ในน้ำเสีย ออกมาใช้เป็นปุ๋ย และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย
“จริงๆ แล้ว น้ำเสียเป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์มาก แต่ว่าเรากลับปล่อยน้ำเสียเหล่านี้ทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ต่อโลกธรรมชาติที่เราพึ่งพา” Leticia Carvalho หัวหน้าผู้ประสานงานสาขาสิ่งแวดล้อมทะเลและน้ำจืดของ UNEP กล่าว
Carvalho กล่าวว่า ในปัจจุบัน ปัญหาน้ำเสียกำลังทำให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกหนักหนายิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จาก สารเคมีในน้ำเสียอุตสาหกรรมและบ้านเรือนทำให้เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศ ส่งผลกระทบต่อทั้งธรรมชาติและสุขภาพมนุษย์ เช่นเดียวกับธาตุอาหารมหาศาลในน้ำเสียจากการเกษตร ที่เร่งให้เกิดปรากฎการณ์แพลงตอนบลูมจนทะเลเป็นพิษ
ไม่เพียงเท่านั้น น้ำเสียยังเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดรุนแรงอย่าง ก๊าซมีเทน และไนตรัส ออกไซด์ จนเมื่อคำนวณรวมแล้ว ก๊าซเรือนกระจกจากน้ำเสียมีเป็นสัดส่วนถึง 1.57% ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งมีปริมาณเกือบเทียบเท่ากับการปลดปล่อยคาร์บอนของภาคอุตสาหกรรมการบินทั้งภาค
อย่างไรก็ตาม Carvalho กล่าวว่า น้ำเสียก็สามารถเป็นทางออกในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน โดยน้ำเสียสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดจากไบโอแก๊ซ ซึ่งมีศักยภาพสามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงประชากรกว่า 50 ล้านคน ให้มีไฟฟ้าใช้ได้ทั้งปี
นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ง่ายขึ้น น้ำเสียยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยสารธาตุอาหารในน้ำเสีย สามารถกรองนำกลับมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับการเกษตร ช่วยลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีในภาคเกษตรได้ถึง 13.4%
น้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้ว ยังสามารถนำกลับมาใช้อุปโภคบริโภคได้ใหม่ โดยจากรายงาน UNEP คาดการณ์ว่า หากเราสามารถบำบัดน้ำเสียทั้งหมดที่เราปลดปล่อยออกมา เราจะได้ทรัพยากรน้ำสะอาดที่สามารถใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรได้มากกว่า 40 ล้านเฮกตาร์ หรือกว่า 150 ล้านไร่
ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถสกัดเอาสารหรือทรัพยากรอื่นๆ ออกมาจากน้ำเสีย ซึ่งทรัพยากรจากน้ำเสียเหล่านี้สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในหลากหลายอุตสาหกรรม นับตั้งแต่ การทำกระดาษ โพลิเมอร์ ยาฆ่าแมลง น้ำมันไบโอดีเซล ไปจนถึงสารกันเสียหรือแต่งกลิ่นในอาหาร
“ดังนั้น เราจึงไม่ควรปล่อยทรัพยากรทรงคุณค่าเช่นนี้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะหันกลับมามองถึงศักยภาพของน้ำเสียในการนำมาเป็นแหล่งพลังงานสะอาดในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน” Carvalho กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: UNEP