svasdssvasds

กรมอุทยานฯ ย้ำ เงินอุทยานโปร่งใส เร่งเครื่อง E-Ticket ทั่วประเทศ

กรมอุทยานฯ ย้ำ เงินอุทยานโปร่งใส เร่งเครื่อง E-Ticket ทั่วประเทศ

กรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงข่าวแจง "เงินอุทยานฯ" หลังข่าวคลาดเคลื่อน ย้ำโปร่งใส พร้อมอธิบายระบบจัดเก็บและใช้จ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชน

วันนี้ (28 เม.ย.) ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำคณะผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินอุทยานแห่งชาติ

กรมอุทยานฯ ย้ำ เงินอุทยานโปร่งใส เร่งเครื่อง E-Ticket ทั่วประเทศ

ด้านนายอริยะ เชื้อชม ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้รายงานความก้าวหน้าของระบบ E-Ticket พร้อมแผนการพัฒนางานทั้งด้านการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับการบริการและการจัดการอุทยานแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ นายเทอดไทย ขวัญทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบและมีความโปร่งใส

นโยบายบริหารอุทยานแห่งชาติเพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 73 ล้านไร่ หรือประมาณ 23% ของประเทศไทย

โดยเน้นย้ำถึงเป้าหมายหลักในการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ธรรมชาติ การพักผ่อนหย่อนใจ และการศึกษาค้นคว้าวิจัย ซึ่งมีแนวทางการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ โดยมีแนวทางปฏิบัติในการทำงาน 6 ประการสำคัญ ดังนี้

  • การจัดโซนพื้นที่ตามศักยภาพ : พื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญและเปราะบางจะถูกกำหนดเป็นพื้นที่หวงห้ามไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่ที่มีความสวยงาม ระบบนิเวศแข็งแรง และเข้าถึงได้สะดวกปลอดภัย จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้
  • การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะนำระบบ E-ticket มาใช้ให้ทันในช่วงเปิดฤดูการท่องเที่ยวเดือนตุลาคม 2568 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
  • การกำหนดระเบียบสำหรับนักท่องเที่ยว : บังคับใช้กฎระเบียบตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และระเบียบอื่นๆ อย่างเคร่งครัด รวมถึงการห้ามให้อาหารสัตว์ป่า การห้ามนำอาวุธและเครื่องมือล่าสัตว์เข้าพื้นที่ และการห้ามประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่: เน้นความรับผิดชอบ เด็ดขาดกับการกระทำผิดกฎหมาย และให้บริการด้วยความสุภาพ รวมถึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ปฏิบัติงานเกินอำนาจหน้าที่
  • การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสื่อความหมาย : ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) และจัดทำระบบสื่อความหมาย 2 ภาษา รวมถึงมีแผนรักษาความปลอดภัยและระบบประกันอุบัติเหตุสำหรับนักท่องเที่ยว
  • การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน : เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ผ่านคณะกรรมการระดับพื้นที่ (PAC) และการแบ่งรายได้ 5% ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

เปิดสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวและการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติ (ต.ค. 67 - เม.ย. 68)

1 ตุลาคม 2567 - 20 เมษายน 2568 มีนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศจำนวน 11.74 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.36 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

กรมอุทยานฯ ย้ำ เงินอุทยานโปร่งใส เร่งเครื่อง E-Ticket ทั่วประเทศ

และสามารถจัดเก็บรายได้ 1,551.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 การใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติในปีงบประมาณ 2568 อยู่ในกรอบวงเงิน 2,199.72 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำร้อยละ 68.93 และรายจ่ายตามภารกิจร้อยละ 31.07 ปัจจุบันได้อนุมัติใช้จ่ายไปแล้วร้อยละ 99.19 ของงบประมาณทั้งหมด

กรมอุทยานฯ ย้ำ เงินอุทยานโปร่งใส เร่งเครื่อง E-Ticket ทั่วประเทศ  

"การบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติมุ่งสู่ความสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติยังคงความสมบูรณ์ ประชาชนได้ท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ และนักวิจัยสามารถศึกษาเรียนรู้เพื่อต่อยอดความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งด้านพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ การแพทย์ และอื่นๆ” นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย

 

เร่งผลักดัน E-ticket เต็มรูปแบบทั่วประเทศ

ขณะที่ นายอริยะ เชื้อชม ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนาระบบจัดเก็บรายได้อุทยานแห่งชาติว่า ปัจจุบันการจัดเก็บค่าบริการอุทยานแห่งชาติมี 2 รูปแบบ คือ การจ่ายด้วยเงินสดและระบบ E-Ticket ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2566 ในอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานทางบก 3 แห่ง (เขาใหญ่ ดอยอินทนนท์ และเอราวัณ) และอุทยานทางทะเล 3 แห่ง (อ่าวพังงา หมู่เกาะสิมิลัน และหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี)

ระบบ E-Ticket ถูกพัฒนาต่อยอดจาก Application QueQ ที่ใช้สำหรับจองคิวเข้าอุทยานฯ ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ที่มีนักท่องเที่ยวมากถึง 1.9 ล้านคนในปีงบประมาณ 2567 คิดเป็น 10.3% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และสร้างรายได้มากกว่า 629 ล้านบาท หรือ 28.5% ของรายได้อุทยานฯ ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ระบบยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรือสัญญาณไม่เสถียร เช่น ที่อ่าวมาหยา ที่ต้องกลับมาใช้วิธีเก็บเงินสด นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังต้องผ่านขั้นตอนการกรอกข้อมูลและยืนยันตัวตนหลายขั้นตอน

ทั้งนี้กรมอุทยานฯ กำลังพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปีงบประมาณ 2567 ดำเนินโครงการจัดการระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ (E-National Park) ขยายช่องทางให้ใช้งานได้ทั้ง Mobile application และ Website พร้อมเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของกรมการปกครองผ่านแอปพลิเคชัน ThaiID เพื่อลดขั้นตอนการกรอกและยืนยันตัวตน

นอกจากนี้ ระบบใหม่จะรองรับการชำระเงินผ่านเครื่อง EDC และ QR Code พร้อมจัดหาเครื่อง Scan บัตรค่าบริการทันสมัยให้ครบ 133 อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ สำหรับปีงบประมาณ 2568 ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาระบบ E-Service ที่ครอบคลุมการจองและจ่ายค่ากิจกรรมนันทนาการต่างๆ

เช่น การดำน้ำลึก จองที่พัก ลานกางเต็นท์ รวมถึงระบบการอนุญาตประกอบกิจการท่องเที่ยว และระบบการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ กรมอุทยานฯ ยังวางแผนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับระบบ E-National Park บริเวณทางเข้า ประกอบด้วย เครื่องตรวจเช็คและสแกน QR code ระบบกล้องวงจรปิด ท่าเทียบเรือลอยน้ำ ทุ่นจอดเรือ และทุ่นไข่ปลาเพื่อกันแนวพื้นที่กิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลส่งเสริมอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร โดยเน้นการเกษตรแบบอนุรักษ์ดินและน้ำตามเจตนารมณ์ของโครงการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related