svasdssvasds

น้ำจืดของโลกกำลังขาดออกซิเจน นี่คือภาวะฉุกเฉินระดับโลก

น้ำจืดของโลกกำลังขาดออกซิเจน นี่คือภาวะฉุกเฉินระดับโลก

การศึกษาวิจัยใหม่เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงจรออกซิเจนของน้ำจืดทั่วโลก กระทบต่อระบบนิเวศรุนแรง

แม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ และอ่างเก็บน้ำไม่เพียงแต่เป็นองค์ประกอบที่สวยงามของภูมิประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วย และเช่นเดียวกับสัตว์บนบก แหล่งน้ำเหล่านี้ก็ต้องการออกซิเจนเพื่อการดำรงอยู่ของพืชและสัตว์น้ำ แต่การศึกษาใหม่ที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอูเทรคต์เผยให้เห็นว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แหล่งน้ำเหล่านี้ค่อยๆ ขาดออกซิเจนในระดับรุนแรงขึ้นเรื่อๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

ออกซิเจนไม่เพียงแต่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในวงจรสารอาหารที่สำคัญ เช่น คาร์บอนและไนโตรเจนอีกด้วย เมื่อระดับออกซิเจนลดลงจนต่ำเกินไป ระบบนิเวศน์จะเริ่มพังทลาย ปลาตาย ห่วงโซ่อาหารไม่สมดุล คุณภาพน้ำลดลง และปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกแล้ว

น้ำจืดของโลกกำลังขาดออกซิเจน นี่คือภาวะฉุกเฉินระดับโลก

จากการพัฒนาแบบจำลองวงจรออกซิเจนทั้งหมดในแหล่งน้ำทั่วโลก กลุ่มนักวิจัยพบว่าการทำเกษตรกรรมมากขึ้น น้ำเสียมากขึ้น เขื่อนมากขึ้น และสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ล้วนเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบนิเวศน้ำจืดของเรา เช่น เมื่อมีสารอาหารไหลลงสู่แม่น้ำ ทะเลสาบ และอ่างเก็บน้ำมากขึ้น สาหร่ายจะเติบโตเร็วขึ้น แต่เมื่อสาหร่ายตายและสลายตัว พวกมันก็จะใช้ออกซิเจนไปเป็นจำนวนมาก 

น้ำจืดของโลกกำลังขาดออกซิเจน นี่คือภาวะฉุกเฉินระดับโลก

พวกเขายืนยันว่า สาเหตุหลักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง ประการแรกคือ การใช้ปุ๋ยในการเกษตรมากเกินไป ทำให้มีสารอาหารส่วนเกินที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดการเร่งของวงจรที่ผิดเพี้ยนนี้ ประการที่สอง การไหลของน้ำจืดลงสู่ทะเลที่ใช้ระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากต้องไหลผ่านการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ก็คืออีกปัจจัยที่ส่งผลให้วงจรออกซิเจนเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

เมื่อวงจรออกซิเจนของน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือระบบนิเวศในน้ำจะมีความต้องการ 'ออกซิเจน' มากกว่าในระดับที่แหล่งน้ำสามารถผลิตได้ จนเกิดการดึงเอาออกซิเจนจากชั้นบรรยากาศไปเพิ่ม กลายเป็นแหล่งดูดซับออกซิเจนแทนที่จะช่วยสร้าง โดยปัจจุบันมีการประเมินว่าแหล่งน้ำจืดเหล่านี้ได้ดึงออกซิเจนออกจากชั้นบรรยากาศเกือบ 1 พันล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณออกซิเจนที่มหาสมุทรทั้งหมดปล่อยออกมา