SHORT CUT
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้ป่ายุโรปอ่อนแอและผลิดอกออกผลน้อยลง แม้พืชบางสายพันธุ์จะมีกลไกการปรับตัวแต่ยังไม่เพียงพอ
ผลการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Natural Hazards and Earth System Sciences (NHESS) ซึ่งศึกษาผลกระทบของภัยแล้งและความร้อนที่มีต่อผืนป่าในยุโรป นับตั้งแต่ปี 2018 ถึงปี 2022 เทียบกับช่วงปี 2010 ถึงปี 2014 พบว่า ป่าไม้ทั่วยุโรปกำลังอ่อนแอและให้ผลผลิตที่ลดลง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะ “ยุโรปกลาง” เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หลังประสบภาวะสูญเสียต้นไม้ปกคลุม (Tree Cover Loss) ภาวะพื้นที่ป่าที่ไม่หลงเหลือพืชพรรณใด ๆ เรือนยอดที่บางลงและแมลงศัตรูพืชจำนวนมาก อย่าง ด้วงเจาะเปลือกไม้สน
ต้นไม้ทั้งประเภทต้นสนและไม้ผลัดใบล้วนได้รับผลกระทบ โดยพันธุ์ไม้ใบกว้างกำลังแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางที่เพิ่มขึ้น
ป่าในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับความเครียดอย่างรุนแรง และคาดว่าภาคป่าไม้ของยุโรปเผชิญความสูญเสียทางเศรษฐกิจไปแล้วหลายพันล้านยูโร
กลไกการปรับตัวของป่าไม้
แม้ว่ายุโรปตอนใต้ จะมีประวัติการปรับตัวรับมือกับภัยแล้งมาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการสูญเสียต้นไม้และการผลัดใบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในอิตาลีและสเปน
ส่วนไฟป่าที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงปี 2018 ถึงปี 2022 แต่ยังคงเป็นภัยคุกคามสำคัญ โดยไฟป่าครั้งรุนแรงในโปรตุเกส เมื่อปี 2017 สร้างความเสียหายรุนแรงอย่างมาก
ขณะที่ กลไกการปรับตัวของพืชพรรณในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ระบบรากที่หยั่งลึก สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วนได้
ยุโรปตอนเหนือและเทือกเขาแอลป์ได้รับผลกระทบน้อยกว่า
ในขณะเดียวกัน พื้นที่ทางตอนเหนือของยุโรป ก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่รุนแรงนัก โดยพบการสูญเสียพื้นที่ปกคลุมของต้นไม้จำนวนมากในประเทศต่าง ๆ เช่น ฟินแลนด์ สวีเดนและนอร์เวย์
ต้นสนในภูมิภาคนี้มีความทนทานสูงกว่า เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบป่าบอเรียลได้ แต่กำลังเผชิญการทำลายล้างของแมลงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากด้วงเจาะเปลือกไม้สน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปราะบางของพื้นที่ป่าในอนาคตได้
ในทางกลับกัน แถบอัลไพน์ยุโรปได้รับผลกระทบน้อยสุด อาจเป็นเพราะผลกระทบเชิงบวกจากระดับความสูงของพื้นที่ที่อยู่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ป่าภูเขาก็เผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อย่าง การกัดเซาะดิน ดินถล่มและการเปลี่ยนแปลงของชนิดพันธุ์
ผลผลิตป่าลดลงส่งผลต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ
ส่วนงานวิจัยอีกฉบับที่ตีพิมพ์ใน ScienceDirect เชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ากับการลดลงของผลผลิตป่าที่ลดลงในยุโรปตะวันตก โดยใช้ฝรั่งเศสเป็นกรณีศึกษา
แม้ว่าผลผลิตของป่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 เนื่องจากอุณหภูมิที่อบอุ่นขึ้นและฤดูเพาะปลูกที่ยาวนานขึ้น แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยน
การลดลงนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถของป่าในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบทบาทของป่าในการบรรเทาการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ภูมิภาคที่ร้อนและแห้งแล้งกว่า เช่น ภูมิภาคในเขตภูมิอากาศเมดิเตอร์เรเนียน มีแนวโน้มการลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่พื้นที่มีอากาศเย็นและชื้นกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขา มีแนวโน้มของผลผลิตที่คงที่กว่า
การศึกษายังพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องการตายของต้นไม้และการตัดไม้ แต่พบว่า ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักในการลดลงของผลผลิตเนื่องจากปริมาณเนื้อไม้ที่ยืนต้น ยังคงเพิ่มขึ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่ของยุโรป
การลดลงของผลผลิตป่าทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับบทบาทในอนาคตของป่าในการดูดซับคาร์บอนและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมชักลากไม้
จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การจัดการป่า
ผู้เขียนงานวิจัยยังเรียกร้องให้มีการติดตามระบบนิเวศป่าไม้อย่างครอบคลุม รวมถึง สภาพดิน เพื่อทำความเข้าใจและรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น
โดยรวมแล้ว ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการวางกลยุทธ์และนโยบายการจัดการป่าไม้ที่ปรับตัวได้ดี เพื่อให้ป่ายังคงมีความยืดหยุ่นและยั่งยืนท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
งานวิจัยของ NHESS ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากความเปราะบางและอ่อนแอของป่าในแต่ละภูมิภาค มีความแตกต่างกันออกไป
แต่เนื่องด้วยความท้าทายในการเก็บรวบรวมและรายงานข้อมูล นักวิจัยจึงเรียกร้องให้มีระบบข้อมูลที่สอดประสานกัน และการตรวจสอบติดตามสภาพแวดล้อมที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการศึกษา ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นร่งด่วนในการจัดการป่าไม้ที่ปรับตัวได้ การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศและการใช้กลยุทธ์แบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของป่าและบรรเทาผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นทั่วทั้งยุโรป
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง
ขณะที่ ข้อมูลจากรายงานความคืบหน้าด้านการดำเนินงานด้านสภาพอากาศล่าสุดของคณะกรรมาธิการยุโรป พบว่า ในปี 2023 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปลดลง 8.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
รายงาน ยังระบุถึงประเด็นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมลดลง 16.5% มากสุดเป็นประวัติการณ์ การปล่อยก๊าซจากภาคการผลิตไฟฟ้าและระบบทำความร้อนลดลง 24% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคาร เกษตรกรรม การขนส่ง อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และของเสียลดลงโดยรวม 2 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้อัตราการดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติในยุโรปเพิ่มขึ้น 8.5% ซึ่งช่วยพลิกฟื้นแนวโน้มที่ลดลงของการดูดซับคาร์บอนในภาคป่าไม้และภาคการใช้ที่ดิน
แม้ว่ารายงานนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และแสดงให้เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นว่าต้องมีมาตรการรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง
ปีที่แล้วเป็นหลักฐานยืนยันถึงปัญหานี้อย่างชัดเจน ไฟป่าได้เผาทำลายพื้นที่ป่ากว่า 370,000 เฮกตาร์ (2,312,500 ไร่) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 ขณะที่ฤดูร้อนปีเดียวกันกลายเป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั้งในยุโรปและทั่วโลก
ที่มา: Euractiv