เสียงเครื่องบินที่ดังเกิน 100 เดซิเบลส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยต้องแจก Ear plug ให้นักเรียนสอบ A-Level ท่ามกลางเสียงเครื่องบินรบ F-35A
ว่ากันว่ามนุษย์มีความไวต่อเสียงไม่เท่ากัน และหากเสียงถือเป็นพลังอำนาจอย่างหนึ่ง เสียงดนตรี เสียงนกร้องช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย เสียง ASMR ทำให้การนอนง่ายขึ้น กลับกัน ยังมีเสียงอีกมากมายหลายชนิดที่ก่อความรังควาญ ทำให้เรานอนไม่หลับ สูญเสียสมาธิ ฯลฯ
จากกรณี “รร.ฤทธิยะวรรณาลัย” ชี้แจงไปยัง ผู้เข้าสอบ A-Level ในวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2568 ให้เตรียมรับมือกับเสียงรบกวนจากการแสดงเครื่องบินผาดโผน เนื่องจากจะมีการจัดงาน “ครบรอบ 88 ปี กองทัพอากาศ” ที่กองบิน 6 ดอนเมือง ซึ่งโรงเรียนเป็นหนึ่งในสนามสอบ
โดยในประกาศระบุว่า “ทางสนามสอบฯ ร่วมกับกองทัพอากาศ จัดเตรียมเครื่องปลั๊กอุดหู (Ear plug) ให้กับผู้เข้าสอบเพื่อลดเสียงรบกวนจากเครื่องบินของกองทัพอากาศ ซึ่งจะขึ้นบินอยู่ถัดออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร
เมื่อประกาศนี้สะพัดออกไป โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ปกครองแสดงความคิดเห็นว่านี่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เด็กบางคนเตรียมตัวสอบ A-Level มาเป็นปี กลับต้องมาสวม Ear plug อุดหู แถมวิธีนี้ก็ไม่มีใครการันตีได้ว่านักเรียนจะโฟกัสกับการสอบได้หรือไม่
ภายในงานมีเครื่องบินหลายรุ่นด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบินขับไล่แบบ J-10 จำนวน 7 เครื่อง (จีน) , Hawk Mk.132 จำนวน 12 เครื่อง (อินเดีย) และ F-35A จำนวน 2 เครื่อง (สหรัฐฯ)
ทั้งนี้ หากเรามาดูว่าเสียงจากเครื่องบินเหล่านี้เสียงดังแค่ไหน ข้อมูลจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เครื่องบิน F-35A มีเสียงดังถึง 115 เดซิเบล (dB) ซึ่งองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO จัดว่าอยู่ในระดับที่สร้าง “มลภาวะทางเสียง”
ผลกระทบต่อมนุษย์ - ข้อมูลจาก Public Health Review ระบุว่า เราอาจสูญเสียการได้ยินหากรับเสียงเครื่องบินทหารที่บินในระดับต่ำ กรณีของ F-35A คือ 115 เดซิเบล ข้อแนะนำคือไม่ควรฟังเสียงในระดับนี้เกิน 15 นาที
นอกจากนี้ เสียงรบกวนระดับนี้ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายเด็กเล็ก ในแง่พัฒนาการ ซึ่ง WHO แนะนำว่าศูนย์รับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน ฯลฯ ไม่ควรตั้งอยู่ใกล้กับสนามบิน เพื่อหลีกเลี่ยงการได้ยินเสียงรบกวนจากเครื่องบิน
ผลกระทบต่อสัตว์ - มีการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่า หากบินต่ำ เสียงจากเครื่องบินอาจทำให้สัตว์เกิดความเครียด ตื่นตัว สัตว์บางชนิดยกเลิกพฤติกรรมบางชนิด ยกตัวอย่างเช่น แกะมีประสิทธิภาพในการหาอาหารลดลง กวางมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ที่มา: Public Health Review
ข่าวที่เกี่ยวข้อง